ผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ดร.พร้อมศักดิ์ สงวนธำมรงค์ และคณะ ทีมวิจัยกระบวนการแปรรูปยางขั้นสูง กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค จึงได้พัฒนากระบวนการผลิต โดยศึกษาปริมาณน้ำยาง เวลาที่ใช้ในการตีฟอง สูตรที่ใช้ผลิตหมอนยางพารา และตัวแปรอื่นๆ เพื่อปรับสภาวะการผลิตให้เหมาะสมกับการผลิตจริง รวมถึงทดสอบสมบัติของหมอนยางพาราที่ผลิตได้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตหมอนยางที่มีความแข็งต่างกันได้ อีกทั้งสามารถควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และลดปริมาณของเสียในการผลิตได้มากขึ้น โดยที่ยังใช้เครื่องมือและแม่พิมพ์เดิม
ดร.พร้อมศักดิ์ตรวจดูลักษณะของยางฟองน้ำในแม่พิมพ์
ผลลัพธ์ที่ได้
ต้นแบบหมอนยางพาราที่ผลิตได้มีความแข็งแตกต่างกัน 7 ระดับ โดยมีค่าความหนาแน่นของหมอนตั้งแต่ 63-98 kg/m3 และค่าแรงกดที่ 40% ของความสูงของหมอน หรือค่าดัชนีความแข็งเชิงกด (indentation hardness index) ตั้งแต่ 47-152 นิวตัน โดยหมอนที่มีค่าความหนาแน่นและดัชนีความแข็งเชิงกดที่ต่ำแสดงถึงลักษณะหมอนที่นิ่มกว่าหมอนที่มีค่าความหนาแน่นและดัชนีความแข็งเชิงกดที่สูง ค่าการทดสอบสมบัติของหมอนแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 สมบัติของต้นแบบหมอนยางพารา
การทดสอบความแข็งของหมอนจากการรับแรงกด
ทีมวิจัยได้สำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภคคนไทยจำนวน 100 คน และคนจีนจำนวน 100 คนที่มีต่อระดับความแข็งของหมอนพบว่า ผู้บริโภคมีความพึงพอใจความแข็งที่แตกต่างกันไปในทุกระดับ โดยคนไทยพึงพอใจหมอนตัวอย่างที่ 3 มากที่สุด ส่วนคนจีนพึงพอใจหมอนตัวอย่างที่ 5 มากที่สุด ซึ่งถ้าเปรียบเทียบระดับความแข็งของหมอนที่ผลิตได้จากโรงงานด้วยกระบวนการเดิมจะตรงกับหมอนตัวอย่างที่ 4
ความพึงพอใจของกลุ่มผู้บริโภคตัวอย่างคนไทยและจีนต่อระดับความแข็งของหมอนที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น
งานวิจัยนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการมีความรู้ในการควบคุมการผลิตทั้งในส่วนของการควบคุมคุณภาพน้ำยาง สารเคมี และการควบคุมกระบวนการผลิต ดังนั้นจึงสามารถผลิตหมอนที่มีระดับความแข็งแตกต่างกันได้ เป็นการเพิ่มความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งหมอนที่ผลิตได้ก็มีคุณภาพดีขึ้น ปริมาณของเสียลดลง และยังสามารถนำกระบวนการนี้ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางฟองน้ำอื่นๆ ที่มีระดับความแข็งแตกต่างจากหมอนได้ เช่น เบาะรองนั่ง ที่นอน เป็นต้น
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาช่วยผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบการให้คำปรึกษา การแก้ปัญหากระบวนการผลิต การรับจ้างวิจัย ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความเฉพาะกับบุคคลได้ เช่น การออกแบบหมอนสำหรับผู้มีปัญหาหยุดหายใจขณะนอนหลับ การทำเต้านมเทียมจากยางฟองน้ำ เป็นต้น