นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. รับรางวัล PTIT Innovation Award จากสถาบันปิโตเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT)

วันที่ 10 กันยายน 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานครฯ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. โดย ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล และคณะ ทีมวิจัยวัสดุและงานระบบเพื่อใช้ประโยชน์ทางพลังงานไฟฟ้าเคมี กลุ่มวิจัยวัสดุสำหรับพลังงาน ได้รับรางวัล PTIT Award ประเภท ATIT Innovation Award จากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (Petroleum Institute of Thailand) จากผลงาน เรื่อง “การวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน”

ที่มาและความสำคัญของรางวัลและเกียรติยศ

PTIT Awards (Petroleum Institute of Thailand Awards) จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาและเสริมสร้างในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่อง และส่งเสริมบุคลากรในส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และอุตสาหกรรม ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติงานหรือกำลังปฏิบัติงานที่สนับสนุนการพัฒนา และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยรางวัลประเภท PTIT Innovation Award มอบให้กับคณะบุคคลที่มีประวัติการทำงานและผลงานวิจัยและพัฒนา ที่มี่คุณค่าต่ออุตสาหกรรม Petroleum (Oil & Gas), Petrochemical and/or Energy Related ตลอดจนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของประเทศไทยอย่างชัดเจน และ เป็นผู้มีผลงานด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตหกรรมดังกล่าวข้างต้น ที่คิดค้นได้ภายในประเทศ โดยนวัตกรรมนั้น หมายถึงผลงานที่สร้างขึ้นใหม่ หรือพัฒนาต่อยอดจากผลงานเดิม และสามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ หรือเพื่อสาธาณประโยชน์ได้

รายละเอียดโครงการ/ผลงานที่ได้รับรางวัลและเกียรติยศ

ดร. พิมพา ลิ้มทองกุล และคณะวิจัย ซึ่งประกอบไปด้วย ดร. วรวริศ กอปรสิริพัฒน์ ดร. จิราวรรณ มงคลธนทรรศ ดร. มานพ มาสมทบ ดร. อุกฤษฎ์ สหพัฒน์สมบัติ ดร. วิศาล ลีลาวิวัฒน์ ดร. ธัญญา แพรวพิพัฒน์ นางสาวฝนทิพย์ ธรรมวัฒน์ นางสาวประณุดา จิวากานนท์ และนายวิเศษ ลายลักษณ์ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านด้านแบตเตอรี่มากว่า 15 ปี มีประสบการณ์ด้านการวิจัยพัฒนาวัสดุและระบบกักเก็บพลังงานรวมกันกว่า 100 คน-ปี (man-year) โดยทีมได้ทำการวิจัยพัฒนา วัสดุและระบบกักเก็บพลังงาน โดยเฉพาะด้าน นวัตกรรมแบตเตอรี่ เพื่อใช้งานกับยานยนต์ พลังงานทดแทน และสำหรับงานด้านความมั่นคง ณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการนำเทคโนโลยีด้านวัสดุและระบบแบตเตอรี่ไปใช้เพื่อในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

ทีมวิจัยได้สร้างศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี ครอบคลุมทั้ง value chain ของแบตเตอรี่เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของประเทศและของโลกได้มากที่สุด ได้มีผลงานการคิดค้นในหลายระดับตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานเชิงลึกที่โจทย์ความต้องการของประชาคมโลกระยะยาว การวิจัยให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตอบโจทย์ความต้องการระยะสั้นถึงปานกลาง โดยแต่ละงานสร้างนวัตกรรมจากความรู้ด้านวัสดุและระบบกักเก็บพลังงานโดยเฉพาะด้านแบตเตอรี่ที่มีเข้าไปสู่การใช้งานจริง รวมถึงการศึกษาเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องการภาคพลังงานรวมของประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบกักเก็บพลังงาน ตัวอย่างผลงานที่สำคัญ อาทิเช่น วัสดุใหม่ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญให้แบตเตอรี่มีความจุที่มากและอายุการใช้งานยาวนานที่เข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยในการออกแบบโครงสร้างของเซลล์แบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก การออกแบบแพ็กแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน และมีความทนทานในระดับสูงผ่านมาตรฐานสากลสำหรับการใช้งานด้านความมั่นคง การพัฒนาแบบจำลองในการเลือกใช้งานประเภทของแบตเตอรี่รวมถึงระบบการจัดการแบตเตอรี่ร่วมกับแหล่งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ประสิทธิภาพการทำงานที่สูงและคุ้มค่าต่อการลงทุนที่ถูกนำไปใช้จริง โดยสามารถสร้างผลกระทบสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจรวมของประเทศในระดับพันล้านบาทต่อปี