นักวิจัยนาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสภาวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562

นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. คว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสภาวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562

2 กุมภาพันธ์ 2562 ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวัสดุนาโนและวิศวกรรมระบบนาโน พร้อมด้วยนักวิจัยและเจ้าหน้าที่นาโนเทค ร่วมมอบช่อดอกไม้และแสดงความยินดีกับ ดร.ปองกานต์ จักรธรานนท์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวัสดุนาโนเพื่อพลังงานและการเร่งปฏิกิริยา ได้รับรางวัลรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จาก “การพัฒนาโลหะออกไซต์ที่มีโครงสร้างนาโนเพื่อใช้เป็นโฟโต้อิเล็กโทรดและตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับปฏิกิริยาการแยกน้ำด้วยแสงอาทิตย์” (Development of Nanostructured Metal Oxides as Photoelectrodes and Water Oxidation Catalysts for Solar Splitting Applications) สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 ณ Event Hall ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ผลงานวิทยานิพนธ์ดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักของงานคือ การศึกษาและแก้ไขปัญหาของเทคโนโลยีการแยกน้ำด้วยแสงอาทิตย์อย่างเป็นระบบ เมื่อพิจารณาหาคอขวดของปัญหา พบว่า การพัฒนาโฟโต้อิเล็กโทรดและตัวเร่งปฏิกิริยาการผลิตออกซิเจนจากน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงและราคาต่ำคืออุปสรรคที่สำคัญที่สุดของเทคโนโลยีนี้ วัสดุโลหะออกไซด์ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในทางทฤษฏี มีความทนทาน และราคาต่ำเป็นวัสดุที่เหมาะสมกับการเป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องแยกน้ำด้วยแสงอาทิตย์ แต่เนื่องจากวัสดุประเภทโลหะออกไซด์มีคุณสมบัติการขนส่งประจุที่ไม่ดีนัก จึงจำเป็นต้องใช้โครงสร้างนาโนและวิศวกรรมผิวประจันเข้ามาเป็นกลยุทธในการเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุโครงสร้างนาโนที่ประกอบไปด้วยโลหะออกไซด์พิล์มบางเคลือบบนวัสดุรองรับที่มีความนำไฟฟ้าสูงและมีพื้นที่ผิวมากช่วยลดระยะทางการขนส่งประจุทำให้เก็บเกี่ยวประจุได้ดีขึ้น ส่วนเทคนิควิศวกรรมผิวประจันนั้นช่วยปรับสภาพระหว่างพื้นผิวของวัสดุสองชนิดจึงลดตำหนิที่ก่อให้เกิดการสูญเสียประจุ โครงสร้างนาโนและการจัดการพื้นผิวสังเคราะห์ขึ้นได้ด้วยเทคนิคทาง Nanofabrication ก่อให้เกิดต้นแบบโฟโต้อิเล็กโทรดแบบแทนเต็มที่ทำจากสารกึ่งตัวนำประเทศซิลิกอนและ BiVO4 ที่สามารถทำปฏิกิริยาแยกน้ำได้ โดยใช้เพียงแค่แสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนปฏิกิริยาและไม่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำมาจากโลหะมีตระกูลแม้แต่น้อย นอกจากนี้เทคนิคการจัดการผิวประจันยังนำไปสู่การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา doped-NiOOH ที่มีประสิทธิภาพสูงทัดเทียมกับตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นนำที่มีการตีพิมพ์ในวรรณกรรม