เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยอาวุโส และรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (National Security and Dual-Use Technology Center: NSD) สำนักงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ประจำปี 2565 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ จากผลงาน “การศึกษาวิจัยด้านระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์กราฟีน และสามารถคิดค้นวิธีการเตรียมวัสดุผสมระหว่างกราฟีนกับพอลิเมอร์ ในรูปของสารละลายที่มีคุณสมบัติเป็นหมึกพิมพ์นำไฟฟ้ากราฟีน และนำไปประยุกต์ใช้เป็นเซนเซอร์ในอุตสาหกรรมได้”
ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มทำงานวิจัยด้านระบบไฟฟ้าเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค และก่อตั้งหน่วยปฏิบัติวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาคแห่งแรกในประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้าน Micro-electromechanical systems (MEMS) และเป็นผู้นำงานวิจัยด้านกราฟีน, Electronic Nose, Microfluidics, Lab-on-a-chip (LOC), Nano biosensors, Semiconductor Nano Sensor ในประเทศไทย มีผลงานด้าน Printed Electronics โดยเน้นด้าน Printed Sensor จนเป็นที่ยอมรับและได้ร่วมเป็นสมาชิกของ Organic and Printed Electronics Association (OE-A) ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติด้าน Organic Printed Electronics
พิธีมอบเหรียญรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จัดขึ้นภายในงาน Welcome Reception : Thailand Research Expo 2022 ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อแสดงถึงศักยภาพของงานวิจัยที่เป็นกลไกสำคัญในการช่วยแก้ไขและพัฒนาประเทศ ถือเป็นเวทีระดับชาติที่จะนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาประเทศทั้งในเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน พาณิชย์ และอุตสาหกรรม จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาตินี้ มอบให้แก่นักวิจัยที่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ มีจริยธรรมของนักวิจัย และเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการ