ถอดบทเรียนองค์ความรู้จากการดำเนินงานสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)

บทนำ : การถอดบทเรียนองค์ความรู้จากการดำเนินงานสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. (Agricultural Technology and Innovation Management Institute: AGRITEC)
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. (Agricultural Technology and Innovation Management Institute: AGRITEC) เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  จัดตั้งขึ้นตามมติคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.)  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558  ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้การทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชนโดยนำผลงานวิจัยจาก สวทช. และพันธมิตรสู่การใช้งานจริงในพื้นที่
ในการจัดเก็บองค์ความรู้จากการดำเนินงาน สท. ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) ได้รวบรวมข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของ คุณศักดิ์ชัย วัฒนศรีรังกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TIM) สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร โดยได้รับมอบหมายจาก ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา (RDIM) และจากแหล่งข้อมูล เอกสารที่เกี่ยวข้อง
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. (Agricultural Technology and Innovation Management Institute: AGRITEC) ดำเนินการตาม วิสัยทัศน์ และพันธกิจ ดังนี้
  • วิสัยทัศน์ มุ่งเน้นการปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจฐานรากโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น
  • พันธกิจ การดำเนินงานของ สท. มีพันธกิจ สำคัญเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อให้เกิดการขยายผลอย่างทั่วถึง ภายใต้พันธกิจ 4 ประการ ดังนี้
    1. เร่งรัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรให้เกิดการขยายผลอย่างทั่วถึง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
      สิ่งแรกที่ สท. ให้ความสำคัญคือการเร่งรัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ชุมชน และชุมชนชายขอบซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการดำเนินงานของ สท. เพื่อยกระดับประสิทธิภาพด้านการเกษตรให้กับชุมชนด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
    2. ทดสอบ สังเคราะห์เทคโนโลยี เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่
      บทบาทหนึ่งที่สำคัญของ สท. คือการร่วมมือกับศูนย์วิจัยแห่งชาติ ของ สวทช.  สท. นำงานวิจัยที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการ นำไปทดสอบการใช้งานในสถานที่จริง โดยการประสานงานกับชุมชนและกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำการทดลองเทคโนโลยีในพื้นที่ชุมชนจริง ๆ และสรุปผลที่ได้จากการนำเทคโนโลยีลงไปใช้งานในสถานที่จริง และสรุปผลการทดลองกลับไปยังศูนย์วิจัยแห่งชาติเพื่อนำผลสรุปที่ได้จากการทดลองนำไปปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่พร้อมใช้และสามารถใช้งานได้จริง
    3. พัฒนาศักยภาพและความสามารถของบุคลากรภาคการเกษตร
      นอกจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรแล้ว สท. ยังมีบทบาทในการพัฒนาเกษตรกรแกนนำ เกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็นนวัตกรรมในการขยายผลเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่มีหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกร สท. ได้มีการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค รวมถึงอาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (อกม.) และเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของวงการเกษตรไทย
    4. สร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างภาคการเกษตรกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเชื่อมโยงภาคการผลิตสู่การตลาดการเชื่อมโยงการตลาดจากประสบการณ์ในการทำงานและลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ และนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรเข้าไปพัฒนาชุมชน พบว่าเกษตรกรสามารถยกระดับประสิทธิภาพการผลิตได้ แต่ยังคงประสบปัญหาในการเชื่อมโยงผลผลิตเข้าสู่ตลาด ดังนั้น สท. จึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงตลาดระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ในตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล ไปจนถึงตลาดระดับประเทศ

จากพันธกิจทั้ง 4 ข้อ นี้ กล่าวได้ว่า สท. มุ่งมั่นในการถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร และเชื่อมโยงการตลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนชนบทและชายขอบ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพันธกิจที่ สท. มุ่งมั่นดำเนินการตั้งแต่เริ่มในการจัดตั้งองค์กร

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. ให้บริการกับชุมชนผ่านบริการ ดังนี้

  • ให้บริการความรู้และข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร
  • วินิจฉัยปัญหา ให้คำปรึกษา และเสาะหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม
  • จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม
  • สร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อสร้างเกษตรรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการด้านการเกษตร
  • สร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเกษตรกร/ชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน
การดำเนินงานของ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. มุ่งเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านกลไกการทำงานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่มุ่งเป้า (Area Based Approach) สถานีเรียนรู้ (Training Hub) และการดำเนินงานความร่วมมือแบบจตุภาคีด้วยตลาดนำการผลิต (Inclusive Innovation) ที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิถีการผลิตของเกษตรกรให้สามารถยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ผ่านการทำงานแบบเชื่อมโยงผ่านโครงสร้างของหน่วยงาน 4 ฝ่าย ได้แก่
  1. ฝ่ายบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TIM)
    บริหารจัดการ วางแผนกลยุทธ์ วางแผนงบประมาณประจำปี รวมถึงเขียนข้อเสนอโครงการ และกำหนด KPI  (Key Performance Indicator) รวมทั้งประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ และมีหน้าที่หลักในการจัดการงบประมาณประจำปีที่ได้รับจาก สวทช. ประมาณราวๆ 50 ล้านบาท โดยกำหนดและติดตาม KPI ของแต่ละฝ่ายให้ดำเนินงานให้สอดคล้องกับภารกิจและส่งมอบงานได้ตามกำหนด
  2. ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี (TTD)
    ประสานงานกับศูนย์แห่งชาติและหน่วยงานพันธมิตร เพื่อนำเทคโนโลยีลงสู่พื้นที่เพื่อถ่ายทอดให้กับชุมชนต่างๆ ในประเทศไทย ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีตาม KPI
  3. ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ (ABD)
    ประสานงานกับพื้นที่ต่าง ๆ ดูแลภาพรวมในแต่ละพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการ ประสานงานในพื้นที่กับระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ประสานงานในระดับอำเภอ และตำบล เพื่อสร้างความเข้าใจและดำเนินงานตามเป้าหมายของ สวทช. นอกจากนี้ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ ยังทำงานร่วมกับฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชน
  4. ฝ่ายจัดทำสื่อและสร้างความตระหนัก (KMA)
    รวบรวมและเรียบเรียงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. ให้อยู่ในรูปแบบที่เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย เช่น infographic, วิดีโอ, รูปภาพการ์ตูนเพื่อนำเสนอองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร โดยทำงานร่วมกับฝ่าย TTD และ ABD รวมถึงฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ สวทช. เพื่อสื่อสารข้อมูลวิชาการให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย
สท. ดำเนินงานประสานเชื่อมโยงกันทั้ง 4 ฝ่าย ดังกล่าวข้างต้น มุ่งเน้น “การพัฒนาเชิงพื้นที่” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของ สท. ในการนำเทคโนโลยีเช้าสู่พื้นที่มุ่งเป้า ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Area Based Approach) ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560  สท. ทำการวิเคราะห์สถานภาพ บริบทและความต้องการเทคโนโลยีในแต่ละพื้นที่ ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชน หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ กำหนดโจทย์และแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ระยะสั้นและระยะยาวและบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาของจังหวัด รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอก (ภาครัฐ-เอกชน-ชุมชน) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนกระตุ้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ในชุมชนและระหว่างชุมชน พัฒนาและบริการกลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ องค์กรอิสระ เอกชนและสถาบันการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการพัฒนาตลอดห่วงโซ่
สท. กำหนดพื้นที่โดยมีเป้าหมาย 2 ด้าน ได้แก่
1. การสร้างอาชีพและสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ ชุมชนมีความรู้และได้รับการพัฒนาทักษะที่สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้
2. การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ให้น้อยแต่เกิดประโยชน์สูงสุด คำนึงถึงระยะเวลาการใช้ให้ยาวนานและก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนทั้งในเมืองและชนบทที่บริหารจัดการท่องเที่ยวในทิศทางที่ยั่งยืน ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
การพัฒนาพื้นที่มุ่งเป้า ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้
1. ผู้นำกลุ่ม หมายถึง บุคคลที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลอื่นให้ปฏิบัติงาน มีความสามารถทำให้งานดำเนินไปอย่างก้าวหน้า อาจมาจากการคัดเลือก การยกย่องจากสมาชิกกลุ่ม เปรียบเสมือนแกนของกลุ่มที่มีหน้าที่สั่งการ วางแผน แนะนำ ชี้แนะหรือปฏิบัติ มีความสามารถนำพากลุ่มไปสู่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่วางไว้
2. นวัตกรชุมชน หมายถึง บุคคลจากท้องถิ่นที่เข้ารับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ศึกษาและบ่มเพาะ มีทักษะการรับและปรับใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบท ถ่ายทอดความรู้และขยายผลสู่ผู้อื่นได้ มีทักษะประยุกต์ต่อยอดได้ รวมทั้งจัดการความรู้ไปแก้ไขปัญหาสำคัญในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
3. หน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือ หมายถึง หน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ที่มีบทบาทร่วมผลักดันและขับเคลื่อนงานในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคเอกชน ฯลฯ
4. นวัตกรรมพร้อมใช้ หมายถึง องค์ความรู้ที่ชุมชนมีอยู่แล้วหรือมาจากหน่วยงานอื่นสนับสนุนส่งเสริม และเทคโนโลยีพร้อมใช้ TRL  7 8 9  (อ่านคำจำกัดความด้านท้าย) รวมถึงการนำเทคโนโลยีจาก สท./สวทช. ไปประยุกต์ใช้
5. พื้นที่แห่งการเรียนรู้ หมายถึง พื้นที่ที่สามารถจัดกิจกรรมและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีวิทยากรกระบวนการหรือวิทยากรประจำฐาน
สท. ได้จัดแบ่งระดับชุมชนตามความเข้มแข็งหรือศักยภาพของชุมชน ทำให้มองเห็นจุดแข็งจุดอ่อนที่ สท. จะต้องหนุนเสริมหรือพัฒนาผ่านกลไกการทำงานต่างๆ เพื่อยกระดับชุมชนให้สอดคล้องตามศักยภาพและบริบทของพื้นที่
บทบาทหน้าที่ของ สท. ในการลงพื้นที่เพื่อยกระดับชุมชนให้สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของพื้นที่นั้น สท.ไม่ได้เน้นไปที่การทำงานวิจัย แต่ สท. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่รับเทคโนโลยีจากศูนย์แห่งชาติ ของ สวทช. นำไปถ่ายทอดให้กับชุมชนเป้าหมาย โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี 2 ด้านหลัก ได้แก่
1. เทคโนโลยีด้านเกษตรอัจฉริยะ โดยเฉพาะในเรื่องของโรงเรือนอัจฉริยะ และระบบการให้น้ำตามความต้องการของพืช เทคโนโลยีเหล่านี้พัฒนาต่อยอดจากการทำงานของนักวิจัยที่ย้านมาจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ปัจจุบันบันมาสังกัดอยู่ที่ สท.
2. เทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ เทคโนโลยีด้านการเกษตรส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับงานของ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ได้แก่ เทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันระหว่างไบโอเทค และเนคเทค นอกจากนี้ ยังมีผลงานการวิจัยและพัฒนาจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์วิจัยและพัฒนาสำหรับใช้ในงานด้านการเกษตร อาทิ ถุงห่อทุเรียน ที่รู้จักกันในชื่อทางการค้า Magik Growth นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านปุ๋ย (นวัตกรรมปุ๋ยคีเลต) และสารอาหารของพืช
แนวทางในการรวบรวมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเป้าหมาย
สท. มุ่งเน้นที่การถ่ายทอดเทคโนโลยีในเชิงสาธารณประโยช ในการดำเนินการเพื่อพิจารณาว่าเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ สวทช. มีนั้นจะสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับชุมชน หรือภาคการเกษตรได้อย่างไรนั้น สท. ประสานงานกับศูนย์วิจัยแห่งชาติใน สวทช. โดยประชุมร่วมกันทุก 3 เดือน ซึ่งการประชุมจะเป็นการสำรวจว่าในแต่ละไตรมาส ศูนย์วิจัยแแห่งชาติ มีเทคโนโลยีหรือโครงการใดที่พร้อมถ่ายทอดให้กับชุมชนในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนได้ การทำเทคโนโลยีที่ได้ทำการสำรวจจากภายในแล้ว สท. มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณานำเทคโนโลยที่มีอยู่ใน สวทช. เพื่อส่งต่อให้กับภาคการเกษตร หรือ กลุ่มเป้าหมาย โดยพิจารณาจาก 2 หลักเกณฑ์ ดังนี้
1. พิจารณาจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ใน สวทช. กระบวนการนี้เริ่มจากการหารือร่วมกันระหว่าง สท. และศูนย์วิจิจัยแห่งชาติ ว่ามีเทคโนโลยีหรือโครงการใดที่พร้อมนำออกไปเผยแพร่หรือถ่ายทอด และ สท. พิจารณาดูว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่นี้จะเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายใดบ้างตามแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่มุ่งเป้าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Area Based Approach) ของเทคโนโลยีต่อพื้นที่โดยเฉพาะ
2. การตอบโจทย์จากพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย สท. ลงพื้นที่หากได้รับโจทย์ใหม่ ๆ ที่ได้รับมาจากพื้นที่จะนำมาหารือกับศูนย์วิจัยแห่งชาติว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่นั้นสามารถตอบสนองต่อโจทย์ที่ได้รับหรือไม่ และสามารถพัฒนาต่อยอดได้หรือไม่
ทักษะที่มีความจำเป็นในการช่วยให้ทำงานได้ราบรื่น และประสบความสำเร็จ
การทำงานของบุคลากร สท. เน้นการทำงานในพื้นที่และชุมชน นอกจากทักษะทางด้านวิชการแล้วยังต้องมีทักษะพื้นฐานต่าง ๆ ดังนี้
  1. ทักษะการสื่อสาร เนื่องจากการทำงาน เป็นการทำงานในพื้นที่ต้องสื่อสารกับบุคคลหลากหลายระดับ ตั้งแต่เกษตรกรจนถึงข้าราชการระดับสูงหรือรัฐมนตรี ทักษะการสื่อสารที่ดีต้องกระชับและชัดเจน เพื่อสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อนจึงเป็นสิ่งสำคัญ
  2. ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นอีกหนึ่งทักษะที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากการทำงานแม้ว่าจะมีการวางแผนการทำงานมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเป็นลำดับแล้ว แต่การทำงานจริงในพื้นที่มักจะมีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้ไข และปรับตัวอยู่เสมอ
  3. ทักษะในการพัฒนาและเขียนข้อเสนอโครงการ เป็นทักษะสำคัญอีกประการขาดไม่ได้ สท. จะต้องเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากหน่วยงานภายนอก เพื่อนำงบประมาณที่ได้รับนี้ นำมาปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อส่งต่อไปยังภาคการเกษตร ชุมชน และพื้นที่เป้าหมาย เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจฐานราก
การทำงานของ สท. นอจากทำงานประสานกับศูนย์วิจัยแห่งชาติ ภายใน สวทช. แล้ว ยังจะต้องมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อความสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน การทำงานเพื่อให้ได้ผลที่มีประสิทธิภาพ สท. มีหลักในการทำงานร่วมกับพันธมิตร ดังนี้
  1. การตั้งเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้พันธมิตรมีความยั่งยืนและอยู่ร่วมกันได้ในระยะยาว ควรตั้งเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน เช่น การทำแผนร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานราชการ เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและมองเห็นเป็นภาพเดียวกัน
  2. การแบ่งทรัพยากรและการลงทุน เมื่อแผนการเสร็จสิ้นแล้ว ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรและการลงทุนร่วมกันอย่างชัดเจน การแบ่งทรัพยากรอย่างเป็นระบบจะช่วยไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในอนาคต และทุกฝ่ายเข้าใจบทบาทของตนเอง
  3. กำหนดผลประโยชน์ร่วมกัน การทำงานร่วมกันต้องเน้นการสร้างประโยชน์ที่ได้รับประโยชน์กันทุกฝ่าย (Win-Win) หากมีความต้องการหรือการเคลมต่างๆ ต้องสามารถทำได้ตามความเป็นจริง โดยไม่ปิดกั้นการเคลมของแต่ละฝ่าย
  4. การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร การมีผู้บริหารหรือผู้นำระดับสูงเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยและรับทราบแผนการเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีการมอบนโยบายและการสนับสนุนที่ชัดเจน
  5. การจัดทำ MOU และเอกสารที่เกี่ยวข้อง การทำ MOU ระหว่างหน่วยงานหรือการจัดทำเอกสารยืนยันเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในการทำงานร่วมกัน หากบางหน่วยงานไม่ต้องการ MOU ก็สามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ แต่ต้องมีเอกสาร หรือบันทึกการประชุมที่บันทึกข้อมูลในการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน
  6. การดำเนินการจริง และการติดตามผล ต้องมีการดำเนินการตามแผนที่วางไว้จริง โดยมีการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ เช่น การจัดการอบรมหรือการพัฒนาเกษตรกร และการรายงานผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
ผลงานที่เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของ สท. ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรเข้าไปบริหารจัดการในชุมชนมีหลากหลายนวัตกรรม แต่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เรียกได้ว่า สำเร็จเป็นอย่างมากคือ “ระบบฟาร์มรักษ์น้ำ: เทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับควบคุมการให้น้ำในแปลงเกษตร เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการให้น้ำในสวนทุเรียน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการให้น้ำในทางการเกษตร ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้เกิดภัยแล้ง เกิดปัญหาด้านคุณภาพและปริมาณของผลผลิต เช่น ทุเรียนหลุดร่วง ปัญหาโรคและแมลงระบาด เป็นต้น
เทคโนโลยีการให้น้ำ ช่วยลดปัญหาข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมามีการพัฒนาและติดตั้ง “ระบบฟาร์มรักษ์น้ำ: เทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับควบคุมการให้น้ำในแปลงเกษตรระบบให้น้ำตามความต้องการของพืชในสวนทุเรียนที่จังหวัดระยองได้รับการตอบรับที่ดีจาก EEC และได้รับความสนใจจากนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งได้มีนโยบายมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ให้กับเกษตรกร เริ่มมีการทดลองระบบการให้น้ำในปี 2562-2565 ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากเกษตรกร ช่วยลดการใช้น้ำในสวนทุเรียนลงได้ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ หากคำนวณเป็นค่าใช้จ่าย ประหยัดน้ำได้ประมาณ 11,000 บาทต่อไร่  มีสวนทุเรียนที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว 33 แห่ง (ข้อมูลปี พ.ศ.2565)
“ระบบฟาร์มรักษ์น้ำ: เทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับควบคุมการให้น้ำในแปลงเกษตร
จากความสำเร็จดังกล่าวได้มีการขยายผลไปยังพื้นที่การปลูกทะเรียนที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และเกษตรจังหวัด มีการติดตั้งเทคโนโลยีการให้น้ำ จาการดำเนินงานดังกล่าวร่วมกับทั้งภาครัฐ และเอกชน ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีในด้านการบริหารจัดการน้ำในสวนทุเรียนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรงอกงาม และสามารถส่งขายได้ตามฤดูกาล
ความท้าทายของ สท. ในการทำงานกับภาคการเกษตร หรือชุมชน
กระบวนการทำงานของ สท. เผชิญกับปัญหาในเรื่องของการจัดการคน และการสร้างความไว้วางใจจากชุมชน ปัญหาหลักที่พบคือ
“สท. จะทำงานอย่างไรให้ชุมชนเชื่อมั่นในเทคโนโลยีที่นำเสนอ และการสร้างความสำเร็จในครั้งแรก เนื่องจากหากล้มเหลวในการดำเนินงานครั้งแรก ชุมชนอาจไม่เชื่อมั่นในเทคโนโลยี ที่จะนำเสนอในอนาคต”
 
จากประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชน หรือภาคการเกษตร สท. มีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยทำความเข้าใจกับคน กลุ่มคน ในชุมชน และรวมถึงทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มองเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีแนวทางในการทำความเข้าใจ ดังนี้
  1. ทำความเข้าใจกับชุมชน ก่อนที่ สท. จะนำเทคโนโลยีเข้าไปในชุมชน จะต้องชัดเจนว่าการดำเนินงานเป็นการทดลองหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี หากเป็นการทดลอง เกษตรกรต้องรับรู้และยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งผลสัมฤทธิ์อาจต่ำกว่า 50% แต่ยังคงมีความหวังในความสำเร็จประมาณ 30% การถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องชัดเจนว่าเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงต่ำ และเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจาก สท. อย่างไร
  2. ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการหารือและทำความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตร กรมการข้าว หรือหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง ต้องติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการและข้อกำหนดของแต่ละหน่วยงาน
ปัญหาอุปสรรค และความท้าทายที่เกิดจากการบริหารงานและการปฏิบัติงานของ สท.
ปัญหา อุปสรรค และความท้าทายที่เกิดจากการบริหารงาน และการปฏิบัติงานของ สท. ขอยกตัวอย่างในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา สท. ต้องเผชิญกับปัญหาหลักคือ ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อ KPI ที่จะต้องบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น การส่งข้อมูลไปยัง 50 ชุมชน และ 10,000 คน สท. ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างเร่งด่วน โดยกระบวนการที่ปรับปรุงการทำงานเร่งด่วน ประกอบด้วย
  1. หาตัวแทนในพื้นที่ ในกรณีที่ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ เริ่มต้นด้วยการหาตัวแทนพื้นที่โดยตรง เช่น การเลือกเกษตรกร หรือเจ้าหน้าที่ที่สามารถอบรมออนไลน์ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ ระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือการอบรมออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้จึงเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
  2. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการอบรม การอบรมที่เคยจัดเป็นกลุ่มใหญ่เปลี่ยนเป็นการอบรมกลุ่มเล็กแต่บ่อยครั้งมากขึ้น อาทิ จากเดิมจัดอบรมรวมกลุ่มใหญ่ เช่น 10 หรือ 20 คน ปรับวิธีการโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเล็ก ๆ วันละ 5 คน และกระจายไปทั่วพื้นที่
  3. จัดทำสื่อการเรียนการสอน หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบออนไลน์ เพิ่มการจัดทำสื่อออนไลน์เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น รวมถึงการสร้างเนื้อหาในรูปแบบ Youtube, Facebook, Website และ Line นอกจากนี้การมีพันธมิตรที่ดี เช่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่ และหน่วยงานราชการ ช่วยให้เราสามารถดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการดำเนินของ สท. และแนวทางการบริหารทรัพยากร 
สท. ตระหนักดีว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือคน ต้องยอมรับตรงๆ ว่า ปัจจุบัน สท. กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตในการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล เนื่องจากบุคลากรลาออก หรือโยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของ สวทช. ทำให้ภาวะเรื่องคนกลายเป็นปัญหาหลักของ สท.
สิ่งที่ สท. ทำได้ ณ ปัจจุบันนี้คือการรักษาบุคลากรที่มีอยู่ให้ดีที่สุด โดยการรักษาและดูแลบุคลากรที่มีอยู่โดยการให้กำลังใจ การให้รางวัล และการจัดกิจกรรมสันทนาการร่วมกันเพื่อสร้างความผูกพันธ์ภายในองค์กร เช่น การไปรับประทานอาหารร่วมกัน การเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของอุปสรรค และชวนกันแก้ปัญหาในการทำงานด้วยกัน ทั้งในการประชุมกลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ การรักษาคนในองค์กรคือการผูกพันด้วยใจ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการคือ การชื่นชมและให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัลด้วยคำพูด หรือการชื่นชมต่อหน้าในที่ประชุม ซึ่งช่วยให้บุคลากรรู้สึกมีค่าและเป็นส่วนหนึ่งของทีม อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคืการทำงานเป็นทีม เราพยายามรักษาเสถียรภาพของบุคลากรที่มีอยู่ โดยทำให้ทุกคนเห็นว่าทุกคนมีบทบาทที่สำคัญและไม่มีใครโดนเอาเปรียบ การทำงานร่วมกัน และแชร์งานเป็นกลุ่มทำให้ไม่รู้สึกว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำงานมาก หรือน้อยเกินไป ยกตัวอย่าง กรณีฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี (TTD) ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย KPI ที่ตั้งไว้ ดังนั้น ฝ่ายบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TIM) จะต้องเข้าไปช่วยบริหารจัดการ อาทิ ช่วยจัดการประชุม และร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับฝ่าย TTD โดยทำงานร่วมกันตั้งแต่การหารือตั้งแต่ต้น และแชร์งานให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ช่วยกันทำงานเป็นทีม และไม่แบ่งแยกบทบาทตามบุคคล อีกวิธีการที่ สท. นำมาใช้ในการทำงานคือการส่งมอบ KPI ในระดับกลุ่มย่อยแทนการส่งมอบ KPI เป็นรายบุคคล เพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและไม่ให้บุคลากรทำงานแบบคนเดียว แต่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมช่วยให้เกิดความสำเร็จร่วมกันและได้รับคำชมเชยไปพร้อมกัน
แนวทาง/วิธีการส่งต่อ (transfer) หรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ทีมงาน
การถ่ายทอดประสบการณ์และการเรียนรู้ในงาน ของ สท. แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
  1. การแบ่งปันประสบการณ์ โดยให้บุคลากรของ สท. ที่ใกล้จะเกษียณอายุงาน หรือจะโยกย้าย ขอให้บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานตั้งแต่วิธีการคิด แนวทางการดำเนินงาน วิธีการปฏิบัติ รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงาน การบอกเล่าประสบการณ์การทำงานนี้จะไม่เป็นการบอกเล่าหรือคุยกันเพียงครั้งเดียวแล้วจบ แต่จะจัดให้มีการพูดคุยบอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในแต่ละภาคส่วนที่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง
  2. การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ให้น้องๆ ลงไปทำงานร่วมกับบุคคลที่มีประสบการณ์ เพื่อเรียนรู้วิธีการทำงานแบบ onsite การเรียนรู้วิธีการทำงาน ควรเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ร่วมกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปด้วยกัน การเรียนรู้แบบลงไปทำงานจริงเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการอ่านเอกสาร หรือการเข้ารับการฝึกอบรมภายในห้องอบรม
  3. การจัดทำบทความเพื่อบอกเล่าประสบการณ์การทำงาน นำประสบการณ์ที่ได้เกิดจากการทำงานเขียนเป็นบทความ แม้การเขียนบทความอาจเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็เป็นวิธีที่ดีในการสื่อสารและบันทึกประสบการณ์ บทความควรกล่าวถึงประสบการณ์ที่ดี และไม่ดีในการทำงานในชุมชน รวมถึงวิธีการทำงานและเรียนรู้ที่ได้จากการไปทำงานในชุมชน
ภาพการทำงานของ สท. ในอนาคตมองไว้อย่างไร
คุณศักดิ์ชัยฯ กล่าวว่า “สท. เป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างเล็ก มีบทบาทในการส่งต่อเทคโนโลยี โดยไม่ต้องการให้ เทคโนโลยีที่ได้มีการวิจัย และพัฒนาสำเร็จแล้วต้องถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ส่งต่อ หรือนำไปใช้ประโยชน์” สท. ต้องการที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปส่งต่อให้กับผู้ใช้จริง และสร้างมูลค่าให้กับงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. สท. เป็นส่วนหนึ่งของทีม สวทช. ที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนและสร้างมูลค่าให้กับงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช.
ในระดับประเทศ สท. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานหลักที่สำคัญ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และกระทรวงกลาโหม สท. ทำงานร่วมกับหลายกระทรวงเพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยี
ในภาพรวมของ สวทช. สท. ต้องการให้ศูนย์แห่งชาติ มองว่า สท. ไม่ได้แข่งขันกับศูนย์แห่งชาติ ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื่องจากในอดีตศูนย์แห่งชาติมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังชุมชนและภาคส่วนต่างๆ เอง และในปัจจุบัน สท. เป็นเสมือนตัวแทนในการนำงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์แห่งชาติ ไปส่งต่อให้กับชุมชน และพร้อมที่จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนทั้งภายในและภายนอก โดยสามารถเชื่อมโยงและประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน เพื่อให้ศูนย์แห่งชาติ สามารถดำเนินงานวิจัยและพัฒนา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
—————–
คำจำักดความ
TRL
: Technology Readiness Levels การบ่งชี้ระดับความพร้อมและเสถียรภาพของเทคโนโลยีตามบริบทการใช้งาน ตั้งแต่เป็นวัตถุดิบองค์ประกอบสำคัญ อุปกรณ์ และกระบวนการทำงานทั้งระบบ ก่อนที่จะมีการบูรณาการเทคโนโลยีเป็นระบบ สวทช. ได้พัฒนาคำจำกัดความ TRL 9 ระดับของ สวทช. โดยประยุกต์ใช้คำจำกัดความ TRLs ของศูนย์ทดลองแห่งชาติซานเดีย (Sandia National Laboratories) สำหรัฐอเมริกา เพราะสามารถประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีที่หลากหลายและใกล้เคียงกับภารกิจของ สวทช. มากที่สุด

TRL แบ่งออกเป็น 9 ระดับ คือ
Level 1 : Basic principles observed and reported
Level 2 : Concept and/or application formulated
Level 3 : Concept demonstrated analytically or experimentally
Level 4 : Key elements demonstrated in laboratory environments
Level 5 : Key elements demonstrated in relevant environments
Level 6 : Representative of the deliverable demonstrated in relevant environments
Level 7 : Final development version of the deliverable demonstrated in operational
Level 8 : Actual deliverable qualified through test and demonstration
Level 9 : Operational use of deliverable

ซึ่งสรุปจากทั้ง 9 Levels ได้ ดังนี้
Level 1 : Basic
Level 3 : Applied
Level 4-9 : Prototype

แหล่งที่มา : Technology Readiness Levels: ระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ./(27 ธันวาคม 2553)./Technology Readiness Levels: ระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม. https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/technology-readiness-levels/