บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : นายอังกินันท์ โพธิ์งาม

บทสัมภาษณ์นายอังกินันท์ โพธิ์งาม วิศวกร ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NFED) ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NFED) สำนักงานกลาง  สวทช.เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ
ที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้เป็นการสัมภาษณ์ นายอังกินันท์ โพธิ์งาม วิศวกร ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NFED) ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NFED) สำนักงานกลาง  สวทช. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงานซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • นายอังกินันท์ โพธิ์งาม
  • ตำแหน่ง วิศวกร ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NFED) ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NFED) สำนักงานกลาง  สวทช.

แนะนำตัวเอง

นายอังกินันท์ โพธิ์งาม เริ่มทำงานกับ สวทช. เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 มาจนถึงวันนี้รวมแล้วกว่า 26 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งวิศวกร ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NFED) สำนักงานกลาง หน้าที่หลักเน้นในด้านการออกแบบ คิดค้น ปรับปรุง และให้คำปรึกษาในการผลิตชิ้นงานสำหรับต้นแบบ เพื่อส่งเสริมให้งานวิจัยนั้นสามารถต่อยอดได้

ความรู้สึกวันแรกที่ทำงานที่ สวทช.

วันแรกที่ก้าวเข้าสู่รั้ว สวทช. มีความภาคภูมิใจมากแต่ก็มีความกังวลใจอยู่ในที่ว่าความรู้ความสามารถของเราที่มี จะสามารถทำงานตอบสนององค์กรได้หรือไม่ แต่เมื่อได้เข้ามาร่วมงานแล้วสิ่งที่จะต้องทำเป็นสิ่งแรกคือ การปรับตัวกับการทำงาน สวทช. ภาระงานที่ได้รับมอบหมายเน้นไปทางด้านการช่าง ทำให้การทำงานสามารถทำไปได้อย่างราบรื่นเนื่องจากมีพื้นฐานและมีประสบการณ์รวมทั้งมีทักษะด้านงานช่างมาก่อนจึงทำให้ปรับตัวได้ง่าย สามารถทำงานและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

ปัญหา อุปสรรค ที่พบในการทำงาน และวิธีการจัดการ

การทำงานไม่สามารถหลีกพ้นเรื่องปัญหาและอุปสรรคไปได้ โลกใบนี้ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง [หัวเราะ]ระยะเวลาการทำงาน 26 ปีกว่าที่ผ่านมาต้องลองผิดลองถูกประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ไม่ได้ย่อท้อ พยายามหาหนทางและวิธีในการแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปให้ได้ การทำงานใน สวทช. ภูมิใจมากที่ได้ทำงานร่วมกับบุคลากรที่มีคุณภาพ เมื่อไหร่ที่การทำงานมีปัญหาเราจะตั้งโต๊ะล้อมวงเพื่อร่วมกันหาทางออก แน่นอนการล้อมวงคุยกันย่อมมีข้อถกเถียงโต้แย้งแต่เสร็จจากโต๊ะได้ข้อสรุปทุกอย่างก็จบแล้วแยกย้ายกันไปทำงาน และนัดเวลาเพื่อมาดูกันต่อว่าสิ่งที่ได้หารือกันไปมีความคืบหน้าไปอย่างไร

ความประทับใจ

26 ปีที่อยู่ในรั้วแห่งนี้ได้เห็นอะไรมาหลายอย่าง บุคลากรของเรามีน้ำหนึ่งใจเดียวกันมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน สิ่งนี้คือสิ่งที่ประทับใจ ในส่วนของการสันทนาการ สวทช. ก็ได้มีการให้มีกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ อาทิ ด้านการกีฬาเล่นฟุตบอล หรือการเล่นเปตองร่วมกันบ้าง ผมเชื่ออยู่เสมอว่า “จิตที่แจ่มใส จะอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง” เมื่อเรามีจิตที่แจ่มใสจะส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง และเมื่อร่างกายแข็งแรงเราก็พร้อมที่จะรับมือกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ และส่งมอบผลงานที่มีประสิทธิภาพให้กังองค์กร

สวทช. มีสวัสดิการที่ดีที่ดูแลทั้งตัวของพนักงานและครอบครัว ในเรื่องของค่าตอบแทนที่ได้รับสามารถสะสมไว้เรียกได้ว่าสร้างเนื้อสร้างตัว มีที่อยู่อาศัย มีพาหนะ ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้วิชาจากการทำงาน จากการได้เข้ารับการอบรมได้เจอผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์เก่ง ๆ ทำให้เรามีทักษะในการทำงานมากขึ้น

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ครบวาระต้องไปเพื่อให้คนรุ่นหลังเข้ามาสานต่อ สิ่งที่เตรียมพร้อมมาเสมอเลยคือ ร่างกาย เป้าหมายคือจะต้องแข็งแรงหลังจากเกษียณไปอีก 5 ปี ภาวนาว่าจะต้องไม่ป่วย [หัวเราะ]

สำหรับการวางแผนหลังเกษียณมีความตั้งใจจะใช้องค์ความรู้ด้านช่างทำธุรกิจประกอบเฟอร์นิเจอร์ ที่จะทำให้ไม่เหมือนตลาดทั่วไปจะใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่ได้จากการทำงานไปประยุกต์ใช้ ยกตัวอย่างเช่น การทำเฟอร์นิเจอร์แล้วเราใช้วิธีการอบสีด้วยสีฝุ่น เป็นต้น วางรากฐานการทำธุรกิจเล็ก ๆ นี้ไว้ก็เพื่อส่งต่อให้กับลูก [ยิ้ม] ด้านครอบครัวก็ไม่ห่วงอะไรเพราะที่บ้านทำร้านอาหาร แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดก็ขอแยกออกมาทำในสิ่งที่เราถนัด แต่ก็จะคอยช่วยสนับสนุน ช่วยบำรุงรักษา ซ่อมแซมในส่วนชำรุด

ความภูมิใจใน สวทช.

ความภาคภูมิใจที่ถือได้ว่าเป็นที่สุดเลยก็คือ การได้ทำงานถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานการประชุมวิชาการ สวทช. หรือ NAC
คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ รับหน้าที่ในการดูแลเรื่องห้องเสวย ห้องประทับ คุณกุลประภา จะเรียกหาให้ผมเข้าไปช่วยทำหรือช่วยแก้ไขบางอย่างเพื่อให้การรับเสด็จไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ว่าจะเป็นงานเบื้องหลังแต่ก็ภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้ทำ แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่คิดเสมอว่าถ้าหากเราไม่ได้ทำงานที่ สวทช. เราอาจไม่มีโอกาสทำงานนี้ก็ได้