บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : นางอำไพ บังเกิดสุข

บทสัมภาษณ์ นางอำไพ บังเกิดสุข พนักงานธุรการ งานสนับสนุนการบริหารจัดการ (GM) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานกลาง สวทช. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้ นางอำไพ บังเกิดสุข พนักงานธุรการ งานสนับสนุนการบริหารจัดการ (GM) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานกลาง สวทช. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • นางอำไพ บังเกิดสุข
  • ตำแหน่ง พนักงานธุรการ งานสนับสนุนการบริหารจัดการ (GM) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานกลาง สวทช.

แนะนำตัวเอง

นางอำไพ บังเกิดสุข เริ่มทำงานด้วยการเป็นแม่บ้านอยู่ที่ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และในปี 2553 ได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานธุรการ ของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ดูแลเรื่องงานเอกสาร และให้การต้อนรับให้คำแนะนำกับลูกค้าที่เข้ามาติดต่องานที่ PTEC โดยรวมแล้วทำงานถ้านับรวมตั้งแต่เป็นแม่บ้าน ในปี 2546 และได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานธุรการในปี 2553 จนถึง 2566 รวมแล้วอยู่ที่นี่เป็นเวลากว่า 20 ปี [ยิ้ม]

มีความรู้สึกอย่างไรที่ได้ทำงานที่ สวทช.

รู้สึกดีใจที่ได้ทำงานที่ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ตั้งแต่อยู่ที่ลาดกระบัง ปัจจุบัน ได้ย้ายมาอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย [ยิ้ม]

อุปสรรคและท้าทายสำคัญในการทำงาน และวิธีรับมือหรือจัดการ

ในการทำงานไม่เคยพบปัญหาหนัก ๆ แต่ก็มีปัญหาบางอย่างบ้างเล็ก ๆ น้อยๆ เราก็ปรึกษากับน้อง ๆ ในที่ทำงานเพื่อให้น้อง ๆ ช่วยให้คำแนะนำ ปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี [ยิ้ม]

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานใน สวทช.

ประทับใจมาก [ยิ้ม] เพราะมีสวัสดิการที่ดีที่ดูแลทั้งตัวเองและครอบครัวที่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ รวมถึงเงินเดือนก็มีการปรับขึ้นเยอะ [หัวเราะ] และประทับใจพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนที่ร่วมงานกัน ส่วนตัวเลยประทับใจ ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ มาก [หัวเราะ] เพราะเป็นคนใจดี แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันอย่างชัดเจนเวลางานก็คืองาน เวลาที่ ดร.ไกรสรฯ มอบหมายงานอะไรมาให้ป้าก็จะทำให้อย่างเต็มที่ การทำงานไม่มีแรงกดดันใดเลย [ยิ้ม]

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ และเป้าหมายหลังเกษียณ

สิ่งแรกเลยคือการออมต้องออมเงินไว้ก่อนเลย เมื่อเกษียณอายุงานตั้งใจไว้ว่าจะดูแลแม่ให้เต็มที่ สำหรับลูก ๆ เองก็เรียนจบกันหมดแล้วและพร้อมที่จะดูแลพี่ [ยิ้ม] แต่จะให้พี่อยู่เฉย ๆ ก็จะมีอาการเบื่อและไม่ได้ขยับร่างกายจะส่งผลให้สุขภาพไม่แข็งแรง สามีบอกให้พี่ปลูกผักและเมื่อได้ผลผลิตก็ให้เดินขายผลผลิตให้กับเพื่อนบ้านแก้เหงาไป [หัวเราะ] จริง ๆ ตั้งเป้าหมายหลังเกษียณไว้แบบนี้ แต่ต้องหันมาดูเงินออมอีกทีว่ามีมากน้อยแค่ไหนอาจมีมากพอที่จะเปิดร้ายขายของชำที่บ้านได้ก็จะทำ [ยิ้ม]

ส่วนเรื่องถัดมาคือเรื่องของสุขภาพ เมื่อเกษียณอายุงานแล้วเราไม่มีสวัสดิการให้เบิกค่ารักษาพยาบาล แต่เราสามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลของบุตรชายได้ หรือใช้สิทธิบัตร 30 บาท [ยิ้ม] พี่เองก็ต้องดูแลตัวเอง ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เมื่อร่างกายแข็งแรงก็จะไม่เจ็บไม่ป่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาลก็ไม่น่าเป็นห่วง [ยิ้ม]