ดร.กาญจนา แสงจันทร์ นักวิจัย ทีมวิจัยการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร (IWUT)
กลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ (IBEG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะนักวิจัย ประกอบด้วย ดร.วรินธร สงคศิริ นักวิจัยอาวุโส และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ (IBEG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และ ดร.อรรณพ นพรัตน์ จากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับรางวัล
- รางวัล Silver Medal จากการเข้าร่วมประกวดผลงานวิจัย/สิ่งประดิษฐ์ในงาน The 49th International Exhibition of Inventions Geneva (Geneva Inventions 2024) ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน 2567
- รางวัล NRCT Honorable Mention Award จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
จากผลงาน เรื่อง “ชุดไฮโดรไซโคลนสำหรับเพิ่มความเข้มข้นและลดสิ่งเจือปนในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง” (Hydrocyclone for concentration and purification in cassava starch separation unit)
ผลงานวิจัยชุดไฮโดรไซโคลนประสิทธิภาพสูง ได้รับการออกแบบและพัฒนาสำหรับขั้นตอนการเพิ่มความเข้มข้นและทำความสะอาดในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังโดยเฉพาะ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแยกแป้งและสิ่งเจือปนเมื่อเปรียบเทียบกับไฮโดรไซโคลนขนาดอุตสาหกรรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป โดยประสิทธิภาพการแยกแป้งสูงกว่า 90% และประสิทธิภาพการแยกโปรตีนและกำมะถันเพิ่มขึ้นเป็น 80% สามารถผลิตผลิตภัณฑ์สุดท้ายอยู่ในเกณฑ์ที่มาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนด โดยชุดไฮโดรไซโคลนดังกล่าวถูกออกแบบทั้งสัดส่วน รูปแบบ การจัดเรียงโครงข่ายรวมทั้งสภาวะการผลิต ให้มีความเฉพาะและเหมาะสมกับการผลิตแป้งมันสำปะหลัง สามารถแก้ไขปัญหาการใช้ไฮโดรไซโคลนในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังที่ปัจจุบันมีเพียงขนาดเดียวและใช้กับหลายตำแหน่งในกระบวนการผลิต และอาศัยการลองผิดลองถูก (Trial and Error) หรือความชำนาญของพนักงานของสายการผลิตในการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบหรือผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลัง และโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดิบ รวมทั้งลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ
The 49th International Exhibition of Inventions Geneva เป็นนิทรรศการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน 2567 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงรวมกว่า 1,000 ผลงานจาก 40 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยจากหน่วยงานเครือข่าย ด้านสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของไทย ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จำนวน 37 หน่วยงาน ร่วมนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงใน “Thailand Pavilion” จำนวน 94 ผลงาน โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการเปิดนิทรรศการ “Thailand Pavilion” เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567