4 เมษายน 2565 ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าร่วมพิธีเปิดงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” และมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ ดร. คมสันต์ สุทธิสินทอง และคณะทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ในโอกาสได้รับรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูง ระดับดี ประจำปี 2565 Prime Minister’s TRIUP Award for Research Utilization with High Impact 2022 จากผลงานวิจัย เรื่อง ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารเพื่อเร่งการเจริญของพืช
ทั้งนี้มีผู้ได้รับรางวัล 6 ผลงาน จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 119 ผลงาน พร้อมเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) รางวัล 100,000 บาท
ผลงาน “ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารเพื่อเร่งการเจริญของพืช” ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ระดับดี สาขาเทคโนโลยีขั้นสูง ผลงานดังกล่าวได้พัฒนา “สารคีเลตจุลธาตุอาหาร” ที่เตรียมจากกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยขององค์ประกอบประเภทโปรตีนของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ผ่านกระบวนการห่อหุ้มจุลธาตุอาหารในรูปแบบสารเชิงซ้อน ให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ดี พร้อมพัฒนาให้สามารถห่อหุ้มจุลธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการยึดเกาะใบด้วยโมเลกุลขนาดใหญ่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ จึงสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ได้ 20% ลดการใช้ปุ๋ยลง 50%
หลังจากนั้น ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง และผู้ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบสูง Prime Minister’s Awards for Research Utilization with High Impact ได้ร่วมนำเสนอนวัตกรรมเด่นที่สร้างผลกระทบสูง (ทั้ง Deep Technology และ Appropriate Technology) และนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสร้างผลกระทบสูง ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจ และสื่อให้เห็นความสำคัญของลักษณะที่แตกต่างระหว่างเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) อันเป็นผลจากการพัฒนางานวิจัยที่มุ่งเป้าสู่การใช้ประโยชน์การแก้ไขปัญหาสำคัญ หรือการพัฒนาประเทศ ตามความประสงค์ของการสร้าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ภายในงานยังมีเวทีเสวนา “Tech Talk: การนำเสนอเทคโนโลยีเด่นที่สร้างผลกระทบสูง ในสาขา Deep Technology และ Appropriate Technology”
พิธีมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อยกย่องและสร้างความตระหนักในคุณค่าของผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานวิจัย “ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารเพื่อเร่งการเจริญของพืช” ได้ ที่บูธนาโนเทค ในงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2565 ณ สามย่าน มิตรทาวน์ หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สกสว. https://www.tsri.or.th/
นวัตกรรมปุ๋ยคีเลตสำหรับพืชทุกชนิด “ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารเพื่อเร่งการเจริญของพืช”
การปลูกพืชนั้นหากดินมีธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืชก็จะทำให้พืชแคระแกร็นและให้ผลผลิตต่ำ นอกจากการเติมปุ๋ยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ N P K แล้ว การเติมธาตุอาหารรองเสริม (Micronutrients) ให้แก่พืชก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน พืชที่ขาดธาตุอาหารรอง-เสริม เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก แมงกานีส โบรอน โมลิบดินัม ทองแดง สังกะสี คลอรีน หรือได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอ จะแสดงความผิดปกติออกทางส่วนต่างๆ และส่งผลสําคัญต่อผลผลิตของพืชด้วย โดยทั่วไปการเติมธาตุอาหารรองเสริมทางดินนั้น ไม่ค่อยได้ผลดีเนื่องจากธาตุอาหารเหล่านี้ตกตะกอนในดินได้ง่าย พืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้นาโนเทค สวทช. ได้วิจัยและพัฒนาสารคีเลตของธาตุอาหารพืช ซึ่งสารคีเลตนี้เป็นสารอินทรีย์เพื่อใช้ฉีดพ่นให้กับพืชทางใบ เป็นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาการตกตะกอน และการสูญเสียธาตุอาหารเสริมทางดิน โดยเมื่อฉีดพ่นสารคีเลตซึ่งมีคุณสมบัติช่วยพาธาตุอาหารเข้าสู่พืชได้ง่ายขึ้นแล้วพืชจะสามารถนำธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น
ข้อดีของนวัตกรรมปุ๋ยคีเลต
- เพิ่มจุดเด่นและความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์
- เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของพืช
- เพิ่มการดูดซึมธาตุอาหารทางปากใบ
- เพิ่มกรดอะมิโนให้แก่พืช
- เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ลดค่าใช้จ่ายของปุ๋ยเคมีที่เกินความจำเป็น
- ลดปัญหาการตกตะกอนของสารละลายคีเลต
- ลดความเป็นอันตรายจากการใช้สารสังเคราะห์
จุดเด่นของเทคโนโลยี
สารละลายธาตุอาหารรอง-เสริมใช้ฉีดทางใบหรือให้ทางรากเพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือบำรุงรักษาต้นพืชซึ่งสารละลายนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมีความเสถียรในการเก็บ เนื่องจากไม่สลายตัวง่ายเมื่อถูกแสงหรือความร้อนและเป็นแหล่งของกรดอะมิโนให้กับพืชทดแทนการ ใช้สารสังเคราะห์ เช่น EDTA สูตรองค์ประกอบของคีเลตธาตุอาหารสำหรับพืชนี้ประกอบด้วยจุลธาตุอาหารพืชเหมาะสำหรับใช้ฉีดพ่นทางใบหรือใช้ร่วมกับการให้สารละลายธาตุอาหารหลักทางรากโดยสารละลายจุลธาตุดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
คณะผู้วิจัย
- ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง หัวหน้าโครงการ นักวิจัยทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน
- คุณณรงค์พล แก้วจังหวัด (ผู้ร่วมโครงการ) ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน
- คุณอรุณศรี งามอรุณโชติ (ผู้ร่วมโครงการ)
ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน