ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล (IST) กลุ่มวิจัยการควบคุมและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (ACERG) โดยคุณอุ่นพงศ์ สุภัคชูกูล นักวิจัย หัวหน้าทีมพัฒนาระบบ DS-RMS คว้ารางวัลที่ 2 จากการนำเสนอผลงาน “Digital Transformation of Dam Management in Thailand” ในการประกวดการนำเสนอวิทยาศาสตร์ด้านเขื่อนในภูมิภาคอาเซียน The 1st China-ASEAN Dam Science Popularization Contest จัดโดย Nanjing Hydraulic Research Institute และ Lancang-Mekong Water Resources Cooperation Centre ในระหว่างวันที่ 25-26 พ.ย. 2564 โดยเชิญบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศจีนและประเทศในกลุ่ม ASEAN เข้าร่วมประกวดผลงาน มีคณะกรรมการตัดสินจากประเทศจีน ประเทศในกลุ่ม ASEAN และ หน่วยงานสากลอื่นๆ ซึ่งจัดพิธีการประกาศรางวัลอย่างเป็นทางการที่งาน 2nd Lancang-Mekong Water Resources Cooperation Forum Tentative Agenda for Exchange Session 6 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา
ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน หรือ DS-RMS (Dam Safety Remote Monitoring System) เป็นระบบที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ เนคเทค สวทช. พัฒนาขึ้น โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับเทคโนโลยีของเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน มาบูรณาการใช้ในการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในด้านความมั่นคงปลอดภัยในเขื่อนใหญ่ ของ กฟผ. โดยให้สามารถสื่อสารข้อมูลจากเครื่องมือวัดค่าต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติ ได้แก่ เครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน แผ่นดินไหว และน้ำหลาก ที่ติดตั้งไว้ที่เขื่อนและรอบอ่างเก็บน้ำ ส่งไปยังระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่าย เพื่อนำข้อมูลเข้ามาประมวลผลหาสถานะความปลอดภัยเขื่อนด้วยระบบ “เสมือนผู้เชี่ยวชาญ (Expert system)” ที่จะช่วยคาดการณ์สาเหตุของความผิดปกติได้ โดยจะแจ้งสถานะความปลอดภัยเขื่อนผ่านโปรแกรมในรูปแบบ Web Application ทางหน้าจอเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้น พร้อมทั้งการแจ้งเตือนผ่านทาง SMS และ E-mail ไปยังเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบได้ทันท่วงที หากพบความผิดปกติขึ้น ผู้รับผิดชอบจะสามารถออกไปดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขได้ทันการณ์ รวมถึงแจ้งผู้บริหารของ กฟผ. และสื่อสารให้แก่สาธารณชนได้รับทราบ
ในส่วนของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและโปรแกรมแสดงผล กฟผ. ได้พัฒนาร่วมกับเนคเทค โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำปรึกษาในการจัดทำเกณฑ์การแจ้งเตือนความปลอดภัยเขื่อนและพัฒนาระบบเสมือนผู้เชี่ยวชาญ (Expert system) ที่ผ่านการพิจารณาและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเขื่อนของไทย โดยงานพัฒนาระบบตรวจสุขภาพเขื่อน ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี คือระหว่างปี 2557-2559
ปัจจุบันงานทั้งหมดแล้วเสร็จ โดยนำระบบเข้าใช้ในการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนขนาดใหญ่ของ กฟผ. จำนวน 14 เขื่อน (จากทั้งหมด 35 เขื่อน) อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนปากมูล เขื่อนรัชชประภา โดยแผนงานในอนาคต จะพัฒนาความร่วมมือร่วมกับ กฟผ. กรมชลประทาน และกรมพัฒนาทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อขยายผลการใช้งานระบบให้ครอบคลุมเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมด รวมถึงเขื่อนขนาดกลางอีกจำนวน 448 เแห่งในประเทศไทย และมีแผนพัฒนาความร่วมมือไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) เพื่อนำระบบตรวจสุขภาพเขื่อนไปประยุกต์ใช้งานในเขื่อนขนาดใหญ่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว อีกจำนวนกว่า 300 แห่ง