ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับคัดเลือกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เข้าสู่หอเกียรติยศ พสวท. “DPST Hall of Fame” ประจำปี 2567 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยดีเด่น หรือเป็นผู้นำในการบริหารและพัฒนางานวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนวัตกรในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อเป็นฐานกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยให้ทุน พสวท. แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ
การดำเนินงานตลอดเวลาที่ผ่านมา มีผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีบัณฑิต พสวท. ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนมากกว่า 1,400 คน ได้กลับมาทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ และได้สร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก ทำให้ได้รับรางวัลมากขึ้นเป็นลำดับ ได้แก่ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลนักนิวเคลียร์ดาวรุ่ง และรางวัลเมธีส่งเสริมนวัตกรรม ฯลฯ
สสวท. ได้จัดให้มีการเชิดชูเกียรติบัณฑิต พสวท. เข้าสู่หอเกียรติยศ DPST Hall of Fame เป็นปีแรก ใน พ.ศ. 2559 โดยคัดเลือกบัณฑิต พสวท. ที่สมควรได้รับการยกย่อง เพื่อประกาศเกียรติคุณและคุณงามความดีที่สร้างองค์ความรู้ทางวิชาการในภาพรวมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง และสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติเป็นที่ประจักษ์ โดยมุ่งเน้นคัดเลือกบัณฑิต พสวท. ที่มีคุณธรรมและจริยธรรมดีงาม มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับยกย่องในวงการวิชาการและในสังคมวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักวิทยาศาสตร์–นักวิจัย นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่รับทุน พสวท. และเยาวชนอื่น ๆ ที่สนใจในเส้นทางอาชีพวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในอานาคต นอกจากคุณสมบัติของบัณฑิต พสวท. ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังหมายรวมถึง บัณฑิต พสวท. ที่อุทิศตนอย่างต่อเนื่องให้แก่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และ/หรือ หลายเรื่องในกลุ่มวิชาการ หรือสหวิทยาการ มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นเลิศ แสดงถึงความคิดริเริ่ม ซึ่งได้ทำการวิจัยสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีการตรวจสอบคุณภาพอย่างเคร่งครัด
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. เข้าสู่หอเกียรติยศ พสวท. หรือ “DPST Hall of Fame” ประจำปี 2567 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยดีเด่น หรือเป็นผู้นำในการบริหารและพัฒนางานวิทยาศาสตร์ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
บัณฑิต พสวท. ที่ได้รับการคัดเลือกให้จารึกชื่อไว้ในหอเกียรติยศ พสวท. “DPST Hall of Fame” ประจำปึ 2567 จำนวน 7 ท่าน ได้แก่
- ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท กิตตะคุปต์
- ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ อุดมกิจ
- ศาสตราจารย์ ศิวพร มีจู สมิธ
- ดร.ภาสกร ประถมบุตร
- ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์
- ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์
- รองศาสตราจารย์ ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง
ที่มาข้อมูล
- สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2020). หอเกียรติยศ พสวท. https://dpst-conference.ipst.ac.th/?page_id=1088
- สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2567, กรกฎาคม 9). ฝ่าย พสวท. ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิต พสวท. ที่ได้รับการคัดเลือกให้จารึกชื่อไว้ในหอเกียรติยศ พสวท. “DPST Hall of Fame” ประจำปึ 2567. https://www.ipst.ac.th/news/news-test/news-dpst/73544/dpst-hall-of-fame-67.html