เมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2566 นักวิชาการ สท. และผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ติดตามและให้คำแนะนำกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีภายใต้โครงการ “การยกระดับการผลิตพืชผักในโรงเรือนแบบครบวงจร”
“วิสาหกิจชุมชนสวนบุญประสิทธิ์เกษตรเพื่อสุขภาพ” ต.ท่าซอม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และ “วิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญ” ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนพลาสติกปลูกพืชและการบริหารจัดการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และเกิดการสร้างเครือข่ายการผลิตผักอินทรีย์และขยายผลเทคโนโลยีไปกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อีกหลายกลุ่ม
จากการติดตามการผลิตผักในระบบโรงเรือน พบว่าเกษตรกรยังขาดความรู้ด้านพืชและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ดังเช่น ปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช (ดิน ธาตุอาหาร สภาพอากาศ) การวางแผนการปลูก และการใช้โรงเรือนปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพ
สื่อความรู้ โรงเรือนปลูกพืช
บทความ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญ: ปันความรู้ สร้างแนวร่วม พัฒนาไปด้วยกัน
“ผักสลัดยืด” – “ดินแฉะ” เป็นปัญหาที่แปลงของนายทวี ขาวเรือง ประธานวิสาหกิจชุมชนสวนบุญประสิทธิ์เกษตรเพื่อสุขภาพ ต.ท่าซอม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
ผักสลัดยืดในแปลง สาเหตุเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่ค่อยมีแสงแดด คุณภาพแสงน้อย พืชจะสังเคราะห์แสงหรือสร้างอาหารได้น้อยและอากาศร้อนทำให้ผักยืดเร็ว
แนวทางแก้ไขเบื้องต้น – ควรล้างทำความสะอาดพลาสติกคลุมโรงเรือน เนื่องจากตะไคร่ทำให้ประสิทธิภาพแสงที่ส่องผ่านลดลง และสามารถติดไฟเพื่อเพิ่มแสง เช่น หลอดไฟที่ใช้กับตู้ปลา (ราคาไม่แพง)
ดินแฉะ – ควรเติมเศษถ่าน ช่วยให้ดินโปร่ง มีช่องว่าง อากาศถ่ายเทดีและธาตุอาหารจะมาเกาะ แต่ไม่ควรใส่มาก จะทำดินจะร่วนไป
“ใบจุดตากบในผักสลัดและขึ้นช่าย” สาเหตุเชื้อโรคติดมากับเมล็ดหรืออยู่ในดิน แก้ไขโดย 1) แช่เมล็ดในน้ำอุ่น (ประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส) 5 นาที เพื่อฆ่าเชื้อ 2) ฉีดพ่นด้วยไตรโคเดอร์มาทุก 7 วัน
“ต้องการปลูกผักให้ได้ปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น” เป็นความต้องการของนางสาววิภาดา ประกอบผล กลุ่มบ้านควนเจดีย์ ต.ลำไพล อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งผลิตผักหลายชนิด เช่น มะเขือ กวางตุ้ง ผักกาดขาว ขึ้นฉ่าย
การปลูกพืชหลายชนิด มีความเสี่ยงด้านบริหารจัดการ ควรเลือกปลูกพืช 3-4 ชนิด พิจารณาจาก
1. ความชอบและรู้จักพืชชนิดนั้นๆ
2. ขนาดพื้นที่
3. ตลาด และต้อง “วางแผนผลิต” เพื่อกำหนดพื้นที่ปลูก คาดคะเนปริมาณผลผลิตและรายได้ที่จะได้รับ
“ผักสลัดทำอย่างไรให้ได้น้ำหนักดี”
นายเผือน จันทร์จิตร สมาชิกวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านเกาะสะบ้า ต.เกาะสะบ้า อ.เทพา จ.สงขลา ปลูกผักสลัด 25 ต้น/ตร.ม. ได้น้ำหนัก 1.7 กก./ตร.ม. ต้องการให้ 2-2.5 กก./ตร.ม.
ต้นยืด เป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้น้ำหนักน้อย
แนวทางแก้ไขเบื้องต้น – หลังย้ายกล้าลงแปลงและกล้าตั้งตัวได้แล้วประมาณ 5 วัน ให้นำสแลนพรางแสงออก เพื่อให้แสงส่องผ่านเต็มที่
สิ่งที่ทำให้ผักสลัดมีน้ำหนักคือ น้ำตาล ซึ่งได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง หากดินเป็นกรด ส่งผลให้พืชไม่สามารถดึงธาตุอาหารไปใช้ได้ การจัดการค่าความเป็นกรด-ด่างดิน โดยใช้โดโลไมต์ผสมยิปซัม สัดส่วน 8:2 ใส่ประมาณ 300 กก./แปลง (โดโลไมต์มีแคลเซียม-แมกนีเซียม ยิปซัมมีแคลเซียม-กำมะถัน)
“ผักสลัดมีรสขม” เป็นหนึ่งปัญหาของนางอัญชนะศิริ ทองปล้อง สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทุ่งแม่บัว ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา
ผักสลัดมีรสขม มีสาเหตุจาก 1. พันธุ์ 2. อายุเก็บเกี่ยว (เก็บเกิน) 3. ขาดน้ำ 4. อุณหภูมิสูงเกินไป (อากาศร้อน)
จากข้อมูลการผลิตของแปลงนี้ ผักสลัดขมมาจากการขาดน้ำและสภาพอากาศร้อน เมื่อพืชขาดน้ำจะหลั่งสารที่ทำให้สลัดขม ดังนั้นควรให้น้ำสม่ำเสมอ กรณีที่ปลูกผักกางมุ้ง ให้เลือกมุ้งตาข่ายถี่ 16-20 ตา/ตารางนิ้ว ส่วนการใช้หัวพ่นหมอก ช่วยให้อุณหภูมิลดลงในระยะเวลาสั้นๆ แต่สิ่งที่ตามมาคือ ความชื้นสูง ทำให้เกิดเชื้อราสาเหตุการเกิดโรคได้
“อาการเน่าบริเวณโคนต้นกรีนคอส เรียกว่า โรครากเน่าคอดิน” สาเหตุเชื้อมาจากน้ำหรือวัสดุปลูก แก้ไขโดยในช่วงที่หยอดเมล็ด ให้รดด้วยไตรโคเดอร์มาทุก 7 วัน ระวังไม่ให้ดินแห้ง เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะตาย
กลุ่มปลูกผักบ้านนอก ต.ท่าชะมวง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา พบปัญหา “แมลงวันทองในมะเขือ”
แนวทางแก้ไขเบื้องต้น -การปลูกในโรงเรือนเป็นแนวทางหนึ่งที่ป้องกันได้ โดยใช้โรงเรือนกางมุ้ง ขนาด 2.5x16x2 เมตร ต้นทุนประมาณ 2,000 บาท
แหล่งที่มา https://www.nstda.or.th/agritec/follow-up-greenhouse-south/