รายการ พลังวิทย์ฯ คิดเพื่อคนไทย โดย สวทช. ตอน การผลิตเมล็ดพันธุ์ในระบบโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ

“การผลิตเมล็ดพันธุ์ในระบบโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ”
การผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพส่งผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร นักวิจัยไทยจากหน่วยงานใน สวทช. คือ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) และสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร (สท.) จึงได้พัฒนานวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะสำหรับปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ที่จะช่วยเสริมศักยภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์โลก
สวทช. ร่วมกับ บริษัทเชียงใหม่ซีดส์ จำกัด พัฒนานวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะสำหรับปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นโรงเรือนที่ติดตั้งแบบน็อกดาวน์ประกอบง่าย มีความแข็งแรงสูงภายในโรงเรือนใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ช่วยควบคุมสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับการปลูกพืช และยังมีระบบเซ็นเซอร์ด้านการเกษตรที่พัฒนาขึ้นให้เหมาะกับการทำเกษตรในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย อาทิ ระบบควบคุมพัดลมระบายอากาศใต้หลังคาระบบเซ็นเซอร์แสง ระบบเซ็นเซอร์อุณหภูมิ ระบบเซ็นเซอร์อุณหภูมิความชื้นอากาศ ระบบควบคุมม่านและม่านลดแสงอัตโนมัติ ระบบสเปรย์หมอกอัตโนมัติ ระบบ EVAP ประกอบด้วย Cooling Pad และพัดลม EVAP สามารถตั้งค่าควบคุมต่างๆ ได้ตามเงื่อนไขที่ต้องการ รวมถึงการตั้งค่ารดน้ำ แสง อุณหภูมิและความชื้นอากาศ การคำนวณสถิติ และทำงานได้ทันตามเวลา ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้อย่างมีคุณภาพ
ติดตามได้จากรายการ “พลังวิทย์ฯ คิดเพื่อคนไทย โดย สวทช.” ตอน “การผลิตเมล็ดพันธุ์ในระบบโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ” ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เวลา 20.15 น. (หลังข่าวภาคค่ำ)