ถอดบทเรียนองค์ความรู้ของพนักงาน สวทช. ที่เกษียณอายุงานประจำปี 2566

พ.ศ. 2566 สวทช. โดยฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) และ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ (MMP) ในสายงานกลยุทธ์องค์กร และฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล (HRSS) ในสายงานบริหาร ร่วมกันดำเนินการสัมภาษณ์พนักงาน สวทช. ที่จะเกษียณอายุงานประจำปี 2566 จำนวน 19 คน

เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงาน สวทช. ที่เกษียณอายุงาน เพื่อรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้โดยเฉพาะความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในคน (tacit knowledge) อันเป็นความรู้สำคัญขององค์กร เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของพนักงานของ สวทช. ในการนำองค์ความรู้มาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เนื้อหาในถอดบทเรียนฯ นี้ เกิดจากการวิเคราะห์บทสัมภาษณ์ของพนักงาน สวทช. ที่เกษียณอายุงานประจำปี 2566 จำนวน 19 คน ครอบคลุมเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำงาน ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ เทคนิคในการทำงาน อุปสรรคและความท้าทายในการทำงาน และวิธีการจัดการ กระบวนการส่งต่อความรู้ให้กับทีมงาน ตลอดจนการวางแผนก่อนเกษียณอายุงาน และการดำเนินชีวิตหลังเกษียณอายุงาน

บุคคลคนต้นเรื่องที่บอกเล่าเรื่องราวตลอดจนประสบการณ์ในการทำงานในรั้ว สวทช. จำนวน 19 คน มีอายุการทำงานในรั้วแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 20 ปี ทั้ง 19 คน ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน บอกเล่าถึงการทำงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวร่วมกันมาแม้มีอุปสรรคในการทำงานอยู่บ้างบางช่วงเวลา แต่ก็ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจ

ทักษะ คุณสมบัติ และความสามารถที่สำคัญต่อการทำงาน

หลาย ๆ คนได้แบ่งปันทักษะ คุณสมบัติ และความสามารถที่สำคัญต่อการทำงานในด้านต่าง ๆ โดยสิ่งที่มีการกล่าวถึงเหมือนกัน คือ

  • การทำงานเป็นทีม ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีเป้าหมายเดียวกัน รับผิดชอบร่วมกัน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด พร้อมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน เพื่อให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงค์และประสบความสำเร็จ เรื่องการบริหารจัดการให้ทีมทำงานได้อย่างราบรื่นจะต้องทำการร่วมกันตั้งแต่การวางแผน และการออกแบบการวิจัย การทดลอง ไปจนถึงการพัฒนาให้ได้ผลงานวิจัย สำหรับกลุ่มงานสายสนับสนุน จะต้องเข้ามาสนับสนุนกลุ่มวิจัย เช่น การจัดหา การซื้อ การจัดจ้าง และการบริหารจัดการด้านงบประมาณ ซึ่งต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทุกอย่างสามารถแล้วเสร็จและส่งมอบได้ตามเวลาที่กำหนด
  • ความตั้งใจ ความเพียรพยายาม และความอดทน ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
  • ความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นเสมือนหัวใจสำคัญในการทำงาน การทำงานทุกอย่างจะต้องถูกต้อง โปร่งใส
    และสามารถตรวจสอบได้
  • การรักษาสัญญา ก่อให้เกิดความไว้วางใจ และความเชื่อใจทั้งต่อเพื่อนร่วมงาน องค์กร และหน่วยงานเครือข่าย
  • ทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะสำคัญที่ช่วยให้การทำงานราบรื่นและประสบความสำเร็จ คือการสื่อสารควรใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย สำหรับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การสื่อสารกับภาคอุตสาหกรรม โดยหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาทางวิชาการ เพราะภาคอุตสาหกรรมอาจไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจจึงเกิดการปฏิเสธ หากการสื่อสารเป็นภาษาเดียวกับภาคอุตสาหกรรม จะทำให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันและก่อให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าสิ่งที่เรานำเสนอนั้นสามารถสร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมได้จริง

การพัฒนาทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรม เป็นทักษะที่ได้จากการที่มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคเอกชน ทำงานคลุกคลีกับทั้งผู้ขาย ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ และโรงงานที่นำผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ จึงทำให้สามารถสื่อสารภาษาเดียวกันรู้เรื่อง เข้าใจวิธีการ เข้าใจขั้นตอน และเข้าใจความคิดของฝั่งอุตสาหกรรม จากประสบการณ์นี้เป็นตัวช่วยทำให้สามารถสื่อสารกับภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี (นายสุวัฒน์ โสภิตพันธ์ วิศวกรอาวุโส กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม (IIARG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ)

  • ทักษะด้านภาษาอังกฤษ เป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น งานวิเทศสัมพันธ์ หรืองานความร่วมมือระหว่างประเทศ จากชื่องานบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นงานด้านต่างประเทศ ดังนั้นการสื่อสารด้วยการใช้ภาษาอังกฤษจะต้องมีเป็นอันดับแรก เพราะเราจะต้องประสานงานในเรื่องของทุน
    ทั้งแหล่งทุนภายในประเทศและแหล่งทุนจากต่างประเทศ

ผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยที่ทำให้เกิดผลสำเร็จในการทำงาน

“งานทุกชิ้นที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการคือความภาคภูมิใจ” เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนได้กล่าวไว้ เนื่องจากผลงานที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความร่วมมือของทีมงาน ที่ทำงานด้วยความเพียร ความอดทน และความตั้งใจเพื่อให้ผลงานสำเร็จออกมาทั้งสิ้น ทั้งนี้ มีหลายคนที่ยกตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยที่ทำให้เกิดผลสำเร็จในการทำงาน ดังนี้

นายสุวัฒน์ โสภิตพันธ์ วิศวกรอาวุโส กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม (IIARG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ความภาคภูมิใจตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมานั้นมีนับไม่ถ้วน ทุกวันได้ตื่นมาทำงานที่ สวทช. ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรขนาดใหญ่ที่มีผู้คนรู้จัก และมีผู้คนเชื่อถือ นับว่าเป็นความภาคภูมิใจแล้ว

ในมุมการทำงานความภาคภูมิใจในเนื้องาน เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นของการทำงานกับ สวทช. ที่ TMEC (Thai Microelectronics Center: TMEC) หรือ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เป็นความภาคภูมิใจของตนเองที่เป็นรุ่นบุกเบิก ทำงานและผลักดันศาสตร์ด้านนี้ให้เกิดขึ้นจริงภายในประเทศ จากก่อนหน้านั้นไม่สามารถทำได้ โดยอาจจะแฝงอยู่ในห้องปฏิบัติการย่อยของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้ผลงานเล็ก ๆ เพียงส่วนเดียวแต่เมื่อนำมารวมกันกลายเป็นผลงานที่ใช้ได้จริง หรือสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ผู้ใช้มองเห็นและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และความภาคภูมิใจในปัจจุบันของการทำงานกับ สวทช. คือ การมีส่วนร่วมในการทำให้โรงงาน ผู้ใช้งานได้พัฒนาตนเอง ได้ใช้สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับตนเองได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความภาคภูมิใจหนึ่งที่ว่าเราคิดอะไรขึ้นมา เราพัฒนาอะไรขึ้นมา แล้วมีคนนำไปใช้ประโยชน์

นางสุนันท์ ศิริรักษ์โสภณ นักวิเคราะห์อาวุโส กลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ (IBEG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผลงานที่ตนเองภาคภูมิใจ เริ่มจากช่วง พ.ศ. 2551 คือ การช่วยเขียนร่างข้อเสนอโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนการสร้างโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility: NBF) ในระยะแรก

นอกจากนี้ ยังมีผลงานอื่นอีกมากมายที่รู้สึกภาคภูมิใจ เน้นไปทางด้านการวิจัยและการบริหารโครงการขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น 1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ของโครงการผลิต therapeutic protein ซึ่งได้รับทุนสำหรับการทำวิจัยหลายสิบล้านบาท เป็นโครงการซึ่งเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการ scale-up ด้านการผลิต 2) ความร่วมมือกับศูนย์สัตว์ทดลอง มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำการทดสอบ bioactivity ในสัตว์ 3) ความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ตัวยาที่จะขึ้นทะเบียนตาม pharmacopoeia คือพัฒนามาตรฐานการวิเคราะห์ของ British Pharmacopoeia และ 4.) เทคโนโลยีการหมักแบบอาหารแข็ง มีงานวิจัยเรื่องการผลิตและการใช้ประโยชน์จากกากเนื้อในเมล็ดปาล์มนํ้ามันหมักเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนในอาหารสัตว์โดยวิธีการหมักแบบอาหารแข็ง ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยร่วมมือกับโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มนำ by-product กากเนื้อในเมล็ดปาล์มมาหมักเพิ่มมูลค่าโดยจุลินทรีย์โปรไบโอติก

นายอังกินันท์ โพธิ์งาม วิศวกร ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NFED) สำนักงานกลาง สวทช. เล่าถึงความภาคภูมิใจที่ถือได้ว่าเป็นที่สุดในชีวิตการทำงาน คือการได้ทำงานถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานการประชุมวิชาการประจำปีของ สวทช. หรือ (NSTDA Annual Conference: NAC) ได้ร่วมงานกับคุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ซึ่งรับหน้าที่ในการดูแลเรื่องห้องเสวย และห้องประทับ โดยได้มีโอกาสเข้าไปช่วยดำเนินการและแก้ไขบางอย่างเพื่อให้การรับเสด็จไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ว่าจะเป็นงานเบื้องหลังเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่รู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้ทำ

ดร.เพ็ญจิตร จิตรนำทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ (IBIG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้เล่าถึงผลงานที่ภาคภูมิใจไว้ 2 ผลงาน คือ 1) ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย P218 และกลไกการดื้อยาซัลฟาจากการวิเคราะห์โครงสร้างผลึกของเอนไซม์ที่เป็นเป้าหมายของยาซัลฟาจากเชื้อมาลาเรีย (plasmodium falciparum dihydropteroate synthase) ในรูปแบบที่มียาซัลฟาจับอยู่ และ 2) การมีโอกาสร่วมทำวิจัยกับพันธมิตร โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้าน “protein crystallography” ทำให้มีโครงสร้างผลึกของเอนไซม์ต่าง ๆ ใน protein data bank และผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติใน Nature Index

นายสุรศักดิ์ พุทธินันท์ วิศวกรอาวุโส ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้เล่าถึงผลงานที่ภาคภูมิใจในตำแหน่งวิศวกรไว้ 2 ช่วงของการทำงาน โดยมีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบ งานด้านสถาปัตย์ และการควบคุมงาน กล่าวคือ

  • 10 ปีแรกของการทำงาน เน้นงานด้านการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการติดตั้งเครื่องจักร และเครื่องมือ เพื่อใช้ในสำนักงานและห้องปฏิบัติการวิจัย
  • 10 ปีท้ายของการทำงาน เน้นงานด้านการซ่อมบำรุง และดูแลรักษา

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจ คือการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนบริเวณชั้น 4 ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เพื่อเป็นห้องสมุด การดำเนินการเริ่มต้นจากความไม่ชำนาญในเรื่องของการออกแบบมากนัก ผลงานที่สำเร็จออกมามีรูปลักษณ์ที่อาจจะไม่ถูกใจผู้ใช้งานมากสักเท่าไร แต่ผลสำเร็จของงานคือห้องสมุด สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์จนถึงปัจจุบัน

นายชูชาติ บุพจันโท ผู้จัดการงานบุคลากรสัมพันธ์ (ERS) ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล (HRSS) สำนักงานกลาง สวทช. ได้เล่าถึงความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สวทช. เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการออม และบริการด้านเงินให้กับเพื่อนพนักงาน อีกทั้งเมื่อคราวที่มีกำหนดการย้ายสำนักงานฯ จากอาคารวิจัยโยธี มาตั้ง ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้ร่วมก่อตั้งหอพักสหกรณ์ สวทช. เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องที่พักอาศัยให้กับเพื่อนพนักงาน อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการรถรับ-ส่ง พนักงาน โดยบริหารจัดการให้พนักงานได้รับความสะดวกในการเดินทางมาทำงาน อีกทั้งยังบริหารจัดการให้องค์กรสามารถใช้ทรัพยากรรถยนต์เดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสุณี มากวิสัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานกลาง สวทช. ได้กล่าวว่าการทำงานที่ สวทช. สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคุณสุณีฯ มากที่สุด คือ การปลุกนิตยสาร ScienceAsia ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากนิตยสารนี้ไม่สามารถตีพิมพ์ได้ราว 3 ปี โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และทีมงานมีความประสงค์ฟื้นคืนชีพนิตยสารนี้เพื่อให้นิตยสารนี้ส่งต่อองค์ความรู้ บอกเล่าการเจริญเติบโต วิวัฒนาการ และความก้าวหน้าทางด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับประชาชนที่สนใจได้เข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

นางสาวพีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร ผู้จัดการงานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ
ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรวิจัยและพัฒนาองค์กร (PSD) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
ได้บอกเล่าถึงผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงให้กับตนมากที่สุดและทำให้คนรู้จัก “นางสาวพีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร” ต้องยกให้กับโครงการ KidBright  ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ มุ่งมั่นและไม่ย่อท้อที่จะลงมือทำ

ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) สำนักงานกลาง สวทช. ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจในผลงานที่มีส่วนผลักดัน คือการจัดหลักสูตรฝึกอบรมหลักสูตรวิศวกรรมระบบรางแห่งแรกในประเทศไทย

นางสาวสรนันท์ ตุลยานนท์ นักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จัดสรรให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อกระทรวงในขณะนั้น) ได้บอกเล่าถึงผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจไว้ว่า ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนกลยุทธ์ด้านโลหะและวัสดุเพื่อใช้ในการทำงานช่วง พ.ศ. 2545 – 2549 (แผน 5 ปี) เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภา จากการนำเสนอแผนกลยุทธ์ฯ ได้รับคำกล่าวชื่นชมว่า “แผนกลยุทธ์ฉบับนี้เป็นแผนที่สามารถอ่านได้อย่างง่าย รู้เรื่อง อ่านแล้วสามารถรู้ได้ว่าศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาตินี้จะทำอะไร และประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรในอีก 4 – 5 ปีข้างหน้า” นอกจากนี้ คุณสรนันท์ฯ ยังมีส่วนร่วมในการจัดทำ “พจนานุกรมศัพท์วัสดุศาสตร์” ซึ่งพจนานุกรมฉบับนี้ได้ทูลเกล้าถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดผลสำเร็จนั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างเข้าด้วยกัน คือ ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความเพียร ความอดทน การไม่ย่อท้อต่อปัญหาที่ประสบ และความร่วมมือของทีม ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำพาไปสู่ความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนการมีทรัพยากรที่มีความพร้อมจะช่วยสนับสนุนให้การทำงานราบรื่นลดอุปสรรคในการทำงาน

อุปสรรค ความท้าทายในการทำงาน และมีวิธีในการรับมือหรือจัดการ

ในการทำงานไม่ว่าจะในสายสนับสนุน หรือสายการวิจัย ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องประสบกับอุปสรรค ความท้าทายในการทำงาน แต่เมื่อประสบกับอุปสรรค และความท้าทายในการทำงาน มีวิธีในการรับมือหรือจัดการ ดังนี้

  • ข้อเสนอโครงการไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแหล่งทุน หากมองในแง่ดีนักวิจัยจะได้รับข้อคิดเห็น และข้อแนะนำจากกรรมการว่าข้อเสนอโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณายังขาดสิ่งใด เพื่อนักวิจัยนำมาปรับปรุงการเขียนข้อเสนอโครงการครั้งถัดไป
  • เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ไม่เคยทำ และไม่มีองค์ความรู้ดั้งเดิมที่เรียนมาก่อน การแก้ปัญหาคือต้องหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เก็บเกี่ยวความรู้จากแหล่งต่าง ๆ หรือพยายามขวนขวายหาความรู้ในแต่ละแหล่งนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ ให้เป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้จริง รวมถึงขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์
  • การทำงานกับคน การทำงานให้สำเร็จนั้นต้องมีทีมที่ดีไม่ใช่แค่เราเก่ง ความสำเร็จเป็นเรื่องของทีม ดังนั้นการที่จะให้คนหลาย ๆ คนมาทำงานให้เกิดผลงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน และต้องทำงานให้สำเร็จในเวลาที่กำหนดเป็นความท้าทายสูงมากว่าจะทำให้งานสำเร็จอย่างไร ทีมเดินไปได้อย่างไร การทำงานกับคนจะต้องนึกถึง “ใจเขาใจเรา” เป็นสำคัญ ไม่ใช่หัวหน้ารู้สึกมีความสุขในการทำงานอยู่เพียงฝ่ายเดียว แต่เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานอยู่บนความทุกข์
  • สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานโดยเฉพาะสายวิจัย ยกตัวอย่างเช่น สภาพอากาศ หรือสัตว์ต่าง ๆ ที่อาจจะก่อกวนในแปลงทดลอง เมื่อประสบกับปัญหาเหล่านี้เรา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เอง ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น ฝ่ายอาคารสถานที่เพื่อให้เข้าแก้ไขปัญหา ซึ่งฝ่ายอาคารสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี
  • การทำงานให้เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด ในการทำงานอาจจะมีบางครั้งที่ไม่สามารถส่งมอบงานได้ตรงตามกำหนดเวลาเนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ยกตัวอย่างเช่น เกิดปัญหาระหว่างการทำงาน การรับมือที่ดีที่สุดหากแก้ปัญหายังไม่ได้ หรือคิดไม่ออกและอาจทำให้ส่งมอบงานไม่ได้ตามกำหนดเวลาให้รีบถอยออกมาตั้งหลักก่อน เพื่อให้สามารถมองเห็นการทำงานในภาพกว้าง เมื่อมองเห็นภาพที่กว้างขึ้นปัญหาจะแคบลง
  • พนักงานน้อยแต่ภาระงานมาก การรับมือในเรื่องนี้คือต้องยอมรับ ทุ่มเท และร่วมกันทำงานด้วยความตั้งใจ สำคัญที่สุดคือต้องสนุกไปกับงาน
  • ปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์ COVID-19 ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยบริหารจัดการทีมให้สามารถทำงานได้ทั้ง Onsite และ Work from Home (WFH) โดยที่ประสิทธิภาพของงานไม่ลดลง

นอกจากนี้ ผศ.จามรี วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนการวิจัย (RSD) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และ นางสาวณัฐจิรา เจริญผล หัวหน้าผู้ตรวจสอบภายใน ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผล (SPE) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ยังกล่าวว่าปัญหาและอุปสรรคที่ สวทช. ประสบนอกจากเรื่องของสถานการณ์ COVID-19 แล้ว ยังมีเรื่องอุทกภัยปี 2554 สวทช. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ โดยมีหลายส่วนงานได้ไปตั้งทีมทำงาน ณ อาคารวิจัยโยธี เนื่องจากแม้จะมีอุทกภัยเกิดขึ้นแต่งานยังต้องเดินต่อไม่ว่าจะเป็นงานด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะต้องส่งมอบงานต่าง ๆ ให้ตรงตามกรอบของเวลาที่กำหนด หรือแม้กระทั่งงานสายสนับสนุนที่จะต้องประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินราบรื่นไปได้ด้วยดี

แนวทางหรือวิธีการส่งต่อ หรือการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับทีมงาน

สำหรับแนวทางหรือวิธีการส่งต่อ หรือการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับทีมงานนั้น พนักงานที่เกษียณอายุงานประจำปี 2566 ที่ให้สัมภาษณ์ทั้ง 19 คน มีวิธีการหลักในการส่งต่อความรู้และประสบการณ์ให้กับทีมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาเหมือนกัน คือ On the Job Training ผ่านการทำงานไปด้วยกันเป็นทีมตั้งแต่ต้น เป็นเหมือนการฝึกไปด้วยกันตั้งแต่ต้น เพื่อซึมซับการทำงานทั้งเรื่องของ งาน เงิน และคน ไปตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีบางคนได้กล่าวเสริมถึงแนวทางหรือวิธีการส่งต่อ หรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับทีม ดังนี้

  • ถ่ายทอด ส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป ด้วยการบันทึกองค์ความรู้ บันทึกสิ่งที่ดำเนินการว่าสามารถแก้ปัญหาได้นั้นมีกระบวนการคิด และกระบวนการทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
  • ปลูกฝังแนวความคิดที่ดีต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ในการทำงาน เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณให้กับทีม

ความประทับใจที่มีต่อองค์กรและการทำงานที่ สวทช.

พนักงาน สวทช. ที่เกษียณอายุงานประจำปี 2566 ให้สัมภาษณ์ทั้ง 19 คน ทุกคนผ่านการทำงานในรั้ว สวทช. ไม่ต่ำกว่า 20 ปี ย่อมมีความประทับใจต่อองค์กรและการทำงานที่ สวทช. เพราะผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน โดยความประทับใจที่มี คือ

  • สวทช. เป็นองค์กรที่พัฒนา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนได้มีโอกาสทำ
  • สวทช. เป็นองค์กรที่ทำงานตอบโจทย์ประเทศ และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ
  • สวทช. เป็นองค์กรที่มีทั้งคนเก่งและคนดี และเป็นองค์กรที่รวมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและมีคุณภาพระดับแนวหน้าของประเทศ
  • สวทช. เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลในการดูแลพนักงานที่ดีตั้งแต่ค่าตอบแทนที่สูง มีสวัสดิการที่ดี สามารถดูแลพนักงานและครอบครัวของพนักงานสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้
  • สวทช. เป็นองค์กรที่มีสังคมดี สิ่งแวดล้อมดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความเอื้ออารีต่อกัน และมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
  • สวทช. เป็นองค์กรที่ให้อิสระทางความคิดและในการทำงาน ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และมีความคล่องตัวในการทำงาน
  • สวทช. เป็นองค์กรที่มีกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานได้ผ่อนคลาย เช่น สันทนาการด้านการกีฬา การร่วมงานเลี้ยงปีใหม่ประจำปี

การเตรียมตัวก่อนเกษียณและเป้าหมายหลังเกษียณ

การเตรียมตัวก่อนเกษียณและเป้าหมายหลังเกษียณ ของพนักงาน สวทช. ที่เกษียณอายุงานประจำปี 2566 หลายคนมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ

  • วางแผนล่วงหน้าว่าอยากมีชีวิตหลังเกษียณอย่างไร เตรียมพัฒนาความรู้ของตนเองให้พร้อม
    เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีทั้งในชีวิตประจำวัน และในการทำงานมาเป็นประโยชน์กับชีวิตหลังเกษียณให้ได้มากที่สุด
  • วางแผนการเงิน โดยการออมเงินไว้ใช้ในภายภาคหน้า
  • วางแผนการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เป็นภาระผู้อื่น
  • วางแผนเตรียมประกอบอาชีพที่สนใจและสามารถทำได้เป็นอาชีพในอนาคต
  • วางแผนปฏิบัติธรรม

ทั้งนี้ มีบางคนที่ไม่ได้วางแผนสำหรับอนาคตว่าเกษียณแล้วจะทำอะไร เพราะคิดว่าอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่คิดไว้ว่าต้องใช้ชีวิตในทุก ๆ ช่วงให้ดีที่สุด ทำตัวให้มีประโยชน์ต่อทั้งตัวเอง ครอบครัวและคนรอบข้าง

เป้าหมายหลังเกษียณ

  • ขออยู่นิ่งๆ เนื่องจากช่วงทำงานได้ทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อเกษียณอายุงานแล้วจึงขออยู่นิ่ง ๆ เพื่อพักผ่อนอย่างเต็มที่
  • นำเงินเก็บลงทุน เมื่อเกษียณอายุงานแล้วรายได้ที่เคยได้รับจะหยุดลง จึงหาทางเพิ่มรายได้ด้วยการลงทุนต่าง ๆ
  • ท่องเที่ยว ออกเดินทางท่องโลกกว้างให้เต็มที่
  • มุ่งมั่นทำงาน เมื่อเกษียณอายุงานแล้วก็จริงแต่ร่างกาย และสมองยังไม่หยุดคิดจึงมุ่งมั่นทำงานต่อไป เท่าที่จะสามารถทำได้

ทิศทางในอนาคตของ สวทช. ที่อยากเห็นหรือคาดหวัง

ด้วย สวทช. เป็นองค์กรที่รวบรวมนักวิจัยที่มีความเก่งในหลากหลายแขนง จึงอยากเห็นภาพ สวทช. นำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดจากกระบวนการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยในหลากหลายแขนงนี้ ไปผนวกประยุกต์ใช้ พัฒนา ให้องค์กรเติบโต และต่อยอดในด้านต่าง ๆ ทั้งภาคสังคม สาธารณะประโยชน์ ภาคเอกชน ภาคการเกษตร จนสามารถยกระดับประเทศได้ และหากคนในประเทศไทยกล่าวถึงผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อยากให้นึกถึง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นอันดับต้น

ท้ายสุดนี้ ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) และ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ (MMP) ในสายงานกลยุทธ์องค์กร และฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล (HRSS) ขอขอบคุณพนักงานที่เกษ๊ยณอายุงานประจำปี 2566 ทุกคนที่ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงาน ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ เทคนิคในการทำงาน อุปสรรคและความท้าทายในการทำงาน และวิธีการจัดการ กระบวนการส่งต่อความรู้ให้กับทีมงาน ตลอดจนการวางแผนก่อนเกษียณอายุงาน และการดำเนินชีวิตหลังเกษียณอายุงาน


  • รับชมการสัมภาษณ์พนักงาน สวทช. ที่เกษียณอายุงาน ประจำปี 2566 ได้ที่ระบบคลังวิดีโอภายใน สวทช. https://ffwtube.nstda.or.th/ (หากอยู่นอกเครือข่าย สวทช. กรุณา VPN)
  • ดาวน์โหลดเอกสาร “ถอดบทเรียนองค์ความรู้ของพนักงาน สวทช. ที่เกษียณอายุงานประจำปี 2566