KidBright และ MuTherm 2 ผลงานวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. สร้างความสำเร็จคว้ารางวัลเหรียญเงินจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ในงาน “The 47th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. นำโดย ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด ทีมวิจัยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (EST) ดร.อัชฌา กอบวิทยา ทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (PHT) และคุณพีรนันท์ กาญจนศรีสุนทร ผู้จัดการงานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS) เข้าร่วมนำเสนอผลงานในเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 47 หรือ “The 47th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ ศูนย์ประชุม Palexpo นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10 – 14 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติที่สำคัญ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องปีนี้เป็นครั้งที่ 47 มีผลงานเข้าร่วมประกวด และจัดแสดงนิทรรศการภายในงานมากกว่า 800 ผลงาน จาก 40 ประเทศ มีผู้เข้าชมงานทั้งนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาคการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน มากกว่า 30,000 คน จาก 5 ทวีปทั่วโลก และมีผลงานจากประเทศไทยเข้าร่วมนำเสนอ จำนวน 102 ผลงาน
โดยในปีนี้ ทีมนักวิจัยเนคเทค สวทช. สามารถสร้างชื่อเสียง นำความภาคภูมิใจกลับมาด้วยการคว้ารางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 47 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่
รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) ผลงานวิจัย “KidBright: บอร์ดสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ”
KidBright เป็นบอร์ดที่พัฒนาขึ้นเพื่อกระตุ้นศักยภาพการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงสร้างสรรค์ในเด็กวัยเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ Learn and Play บอร์ดถูกออกแบบให้มีการแสดงผลและเซนเซอร์แบบง่าย ซึ่งจะทำงานสอดคล้องกับชุดคำสั่งควบคุมการทำงาน โดยผู้เรียนสามารถออกแบบและสร้างชุดคำสั่งแบบ Block-structured Programming ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
โดย ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด ดร.อภิชาติ อินทรพานิช ทีมวิจัยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (EST)
และ คุณพีรนันท์ กาญจนศรีสุนทร ผู้จัดการงานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS)
รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) ผลงานวิจัย “MuTherm: มิวเทอร์มระบบคัดกรองผู้ป่วยมีไข้แบบหลายคนโดยไม่สัมผัส”
ระบบตรวจวัดไข้แบบหลายคนโดยไม่สัมผัส หรือมิวเทอร์ม เป็นการรวมเทคโนโลยีอินฟราเรดและแสงมองเห็นได้ ตรวจจับใบหน้าและอุณหภูมิสูงสุดบนใบหน้า ร่วมกับการชดเชยอุณหภูมิด้วยเทคโนโลยีที่เป็นสิทธิบัตรของทีม ทำให้สามารถระบุอุณหภูมิของแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ ตรวจได้หลายคนในเวลาเดียวกัน มิวเทอร์มสามารถเปลี่ยนกล้องอินฟราเรดราคาถูก ให้มีประสิทธิภาพคัดกรองคนป่วยมีไข้และสภาวะ Hyperthermia* ได้ 100% มีประโยชน์ในการวางนโยบายป้องกันโรคระบาดในแหล่งชุมชน ห้างสรรพสินค้า หรือ โรงเรียนอนุบาล ที่ผ่านมามิวเทอร์มได้ใช้ประโยชน์ในแผนก OPD ของ รพ.มธ., การตรวจคัดกรองญาติผู้ต้องขำในงานสัปดาห์เยี่ยมญาติ ณ เรือนจำกลางอยุธยา และงานไทยแลนด์ Mobile Expo ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมกว่า 50,000 คน
โดย คุณอาโมทย์ สมบูรณ์แก้ว และทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (PHT)