แนวทางการดำเนินกิจกรรมของห้องสมุดเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ของผู้สอนและผู้เรียนในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และชุมชน ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19
แนวทางที่ 1 : การประกาศเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนการเปิดทำการ การให้บริการและการดำเนินกิจกรรมของห้องสมุดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
ห้องสมุดควรจัดทำและเผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนการเปิดทำการ การให้บริการและการดำเนินกิจกรรมของห้องสมุดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19ในเว็บไซต์และใน Social media ของห้องสมุด เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้บริการรับทราบ โดยไม่ลืมเชิญชวนให้ผู้ใช้ห้องสมุดติดตามเว็บไซต์และ Social media ของห้องสมุดเพื่อไม่ให้พลาดข้อมูลข่าวสารและประกาศที่สำคัญ เช่น
- ประกาศแนวทางและกลยุทธ์ในการดำเนินงานของห้องสมุดในช่วงสถานการณ์ COVID-19
- สารจากผู้อำนวยการห้องสมุดเกี่ยวกับการแนวดำเนินงานและการให้บริการของห้องสมุดในช่วงสถานการณ์ COVID-19
- ประกาศปิดห้องสมุดกายภาพ หมายถึง ช่วงวันและเวลาที่ปิดให้บริการห้องสมุด
- ประกาศยกเลิกหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมของห้องสมุด
- ประกาศการขยายขอบเขตการให้บริการออนไลน์ของห้องสมุด
ยกตัวอย่าง ประกาศนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินการของห้องสมุด Harvard Library ในช่วงสถานการณ์ COVID-19
แนวทางที่ 2 : การรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความรู้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และคำแนะนำในการดูแลป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
ห้องสมุดควรดำเนนิการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความรู้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และคำแนะนำในการดูแลป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 บนเว็บไซต์และ Social media ของห้องสมุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารให้ความรู้และการสร้างความตระหนักแก่ผู้ใช้บริการห้องสมุด เช่น องค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ยกตัวอย่าง คำแนะนำในการดูแลป้องกันตนเองและสื่อความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 ของ Vancouver Public Library ผ่าน Twitter ของห้องสมุด
แนวทางที่ 3 : การรวบรวมและจัดทำรายการทรัพยากรห้องสมุดที่ผู้ใช้สามารถใช้บริการได้ในขณะที่ห้องสมุดปิดให้บริการ
เมื่อห้องสมุดต้องปิดอาคารให้บริการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งที่ห้องสมุดควรดำเนินการเพื่อให้การให้บริการสารสนเทศและความรู้แก่ผู้ใช้ยังคงดำเนินต่อไปได้ คือ การรวบรวมและจัดทำรายการทรัพยากรห้องสมุดที่ผู้ใช้สามารถใช้บริการได้ในขณะที่ห้องสมุดปิดให้บริการ เช่น ฐานข้อมูลออนไลน์ที่ห้องสมุดพัฒนาและบอกรับเป็นสมาชิกที่สามารถเข้าถึงและใช้งานจากภายนอกโดยสมาชิกห้องสมุดได้ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือเสียง ไฟล์ภาพ วิดีโอ Podcast และทรัพยากรสารสนเทศอื่นๆ ในรูปแบบออนไลน์ของห้องสมุด
ยกตัวอย่าง Digital library ของ Smithsonian Libraries ที่รวบรวบและให้บริการหนังสือ เอกสารโบราณ และนิทรรศาการในรูปแบบออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการ
แนวทางที่ 4 : การแนะนำการเข้าถึงบริการและสารสนเทศของห้องสมุดจากทางไกล
ห้องสมุดไม่เพียงแต่รวบรวมและจัดทำรายการทรัพยากรห้องสมุดที่สามารถให้บริการออนไลน์ในช่วงที่ห้องสมุดปิด แต่ห้องสมุดต้องทำให้แน่ใจว่าผู้ใช้ห้องสมุดและผู้ที่ยังไม่เคยใช้ห้องสมุดรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรห้องสมุดจากภายนอกได้ (Remote access) เช่น การทำเอกสารคู่มือและวิดีโอแนะนำการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรห้องสมุดจากที่บ้านสำหรับอาจารย์และนักเรียนหรือนักศึกษา และการแนะนำช่องทางติดต่อเจ้าหน้าที่กรณีมีปัญหาในการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรห้องสมุดจากที่บ้าน
ยกตัวอย่าง กรณีของ Washington University in St. Louis
ยกตัวอย่าง กรณีของ New York Public Library
ยกตัวอย่าง กรณีของ Cornell University Library
แนวทางที่ 5 : การรวบรวมและแนะนำแหล่งทรัพยากรการศึกษาและแหล่งเรียนรู้แบบเปิดภายนอก
นอกจากทรัพยากรของห้องสมุดที่สามารถให้บริการในรูปแบบออนไลน์ในขณะที่ห้องสมุดปิดให้บริการแล้ว ห้องสมุดยังสามารถรวบรวมและแนะนำแหล่งทรัพยากรการศึกษาและแหล่งเรียนรู้แบบเปิดภายนอก รวมถึงเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ ให้แก่ผู้ใช้บริการของห้องสมุดได้ เช่น รายชื่อวารสาร Open Access แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (Open Educational Resource : OERs) (เช่น คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด) บทเรียนออนไลน์แบบเปิด (Massive Open Online Course : MOOCs) (เช่น MOOC เฉลิมพระเกียรติฯ ThaiMOOC) เพื่อสนับสนุนครูและนักเรียนหรือนักศึกษาในการเรียนการสอนออนไลน์ รวมถึงชุมชนในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ยกตัวอย่าง กรณีของ Washington University in St. Louis
แนวทางที่ 6 : การให้ข้อมูลหรือการทำ FAQ ที่คาดว่าจะพบบ่อยเกี่ยวกับการบริการของห้องสมุดในช่วงที่ห้องสมุดต้องปิดทำการ
สิ่งสุดท้ายที่ห้องสมุดควรดำเนินการ คือ การให้ข้อมูลหรือการทำ FAQ ที่คาดว่าจะพบบ่อยเกี่ยวกับการบริการของห้องสมุดในช่วงที่ห้องสมุดต้องปิดทำการเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น ถ้าครบกำหนดคืนหนังสือต้องทำอย่างไร (เช่น ขยายเวลาการยืมคืนหนังสือให้ผู้ใช้อัตโนมัติจนกว่าห้องสมุดจะประกาศเปิดทำการปกติ) ถ้าหนังสือเลยกำหนดส่งคืนจะมีค่าปรับหรือไม่ (เช่น การงดค่าปรับสำหรับหนังสือที่ยืมเกินกำหนดในช่วงสถานการณ์ COVID-19) บัตรห้องสมุดกำลังจะหมดอายุจะต่ออายุได้อย่างไร (เช่น บัญชีสมาชิกผู้ใช้ห้องสมุดทั้งหมดที่ใกล้ถึงวันหมดอายุจะได้รับการต่ออายุจนถึงห้องสมุดจะประกาศเปิดทำการปกติ) หากมีคำถามเกี่ยวกับบัญชีสมาชิกผู้ใช้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์ จะสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากห้องสมุดได้อย่างไร (เช่น การแจ้งรายชื่อเจ้าหน้าที่และช่องทางการติดต่อออนไลน์ให้ผู้ใช้บริการทราบ เพื่อติดต่อกรณีมีปัญหาการใช้บริการห้องสมุด)