การออกแบบห้องสมุดสำหรับ Social distancing

การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (COVID-19) สร้างความท้าทายให้แก่ห้องสมุดเป็นอย่างยิ่งในการให้บริการแก่ผู้ใช้ เช่น นักเรียน นิสิต/นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย และผู้สนใจอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายและการติดเชื้อ COVID-19 หนึ่งในคำแนะนำที่สำคัญของหน่วยงานด้านสาธารณะสุข คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ซึ่ง รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรม ม.เกษตรศาสตร์ และ ผศ.นพ. อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช ได้เสนอแนวทางการออกแบบห้องสมุดสำหรับ Social distancing สำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด ในการเสวนาออนไลน์ เรื่อง ความท้าทายในการออกแบบห้องสมุดสำหรับ Social distancing เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 จัดโดยสำนักหอสมุด ม.เกษตรศาสตร์

การออกแบบในทางสถาปัตยกรรม สามารถแบ่งได้เป็น 2 แนวคิดหลัก คือ

  1. Design for isolation คือ การออกแบบเพื่อแยกคนออกจากกัน เช่น การออกแบบเพื่อแยกผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อออกจากผู้ป่วยคนอื่นๆ หรือคนปกติคนอื่นๆ ซึ่งการออกแบบนี้มักใช้และพบในสถานพยาบาล
  2. Design for distancing คือ การออกแบบเพื่อให้คนอยู่ห่างกัน ซึ่งการนำแนวคิดนี้มาใช้ในอาคารทั่วไปรวมถึงห้องสมุดพบว่าติดปัญหาเรื่องการใช้ระบบแอร์หรือเครื่องปรับอากาศแบบรวม เนื่องจาก COVID-19 มักติดต่อในพื้นที่แคบ ดังนั้นการใช้ระบบเครื่องปรับอากาศแบบรวมเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายเทอากาศและสนับสนุนการหมุนเวียนของละอองไวรัสในพื้นที่ สิ่งสำคัญที่ห้องสมุดควรดำเนินการในการออกแบบหรือปรับปรุงพื้นที่ คือ การออกแบบพื้นที่ให้อากาศสามารถถ่ายเทและระบายได้สะดวกและรวดเร็วมากที่สุด จากประตูหรือหน้าต่างด้านหนึ่ง ออกสู่ประตูหรือหน้าต่างอีกด้านหนึ่ง

คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการของห้องสมุดเพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้แก่

  1. สวมหน้ากากทุกคน
  2. ตรวจคัดกรองอุณหภูมิของทุกคนก่อนเข้าพื้นที่ห้องสมุด
  3. จัดให้มีอ่างล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ณ จุดทางเข้า-ออกห้องสมุด รวมถึงจุดอื่นๆ ที่สามารถทำได้ภายในอาคาร
  4. จัดให้มีการบันทึกชื่อ เบอร์โทร วันเวลาของผู้มาใช้บริการทุกคนเพื่อให้สามารถติดตามตัวได้กรณีต้องมีการสอบสวนโรค เช่น แอปพลิเคชันไทยชนะ
  5. ไม่ควรให้ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ และมีน้ำมูกเข้าห้องสมุด เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย COVID-19
  6. หมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือ สบู่กับน้ำเปล่าแล้วเช็ดมือให้แห้ง
  7. เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  8. การใช้สารทำความสะอาด คือ แอลกอฮอล์ 70% ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือน้ำยาฟอกขาว (ไฮเตอร์) ทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
  9. เปิดประตูหรือหน้าต่างเพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก
  10. พักหนังสือหรือสื่ออื่นๆ ที่ได้รับคืนก่อนออกให้บริการอีกครั้ง โดย COVID-19 สามารถตรวจพบบนกระดาษแข็ง 1 วัน และบนพลาสติก 2-3 วัน ดังนั้นจึงควรพิจารณาระยะเวลาการพักให้สัมพันธ์กับระยะเวลาของไวรัสที่สามารถอยู่บนพื้นผิว
  11. ไม่แนะนำให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดสวมถุงมือ เพราะอาจไปสัมผัสสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของ COVID-19 แต่แนะนำให้หมั่นล้างมือ
  12. พิจารณาความเป็นไปได้ในการแยกพื้นที่ชั้นหนังสือกับพื้นที่นั่งอ่านของผู้ใช้บริการ
  13. พิจารณาการจัดสัดส่วนจำนวนคนกับพื้นที่ เช่น 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร
  14. มีมาตราการการจัดการขยะปนเปื้อนเพื่อความปลอดภัยของทุกคนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ต้องจัดเก็บขยะ

สำหรับการใช้ UVC นั้น พบว่าจะทำงานได้ผลเมื่อแสงสัมผัสกับอากาศที่ค้างไว้ หรือ สัมผัสกับพื้นผิววัสดุ อย่างน้อย 20 นาที ทั้งนี้มีข้อความระวังคือ UVC มีผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์ที่สัมผัส คือ กระจกตาอักเสบ ผิวหนังอักเสบ และเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง รวมถึงการใช้ UVC ซ้ำๆ ในพื้นที่เดิมก็จะทำลายพื้นผิววัสดุในพื้นที่นั้นๆ ได้ ดังนั้นเครื่อง UVC ควรเป็นเทคโนโลยีเสริม (Supplementary technology) มากกว่า

ภายใต้ความไม่ชัดเจนและแน่นอนเกี่ยวกับการพัฒนาและการแพร่กระจายของ COVID-19 สิ่งสำคัญคือการหมั่นติดต่อข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากการติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข