กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผลผลิตเมล่อนจำนวนกว่า 250 ลูก จากโรงเรือนอัจฉริยะ บริเวณ AGRITEC Station อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ส่งมอบถึงบุคลากรการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และเทศบาลเมืองท่าโขลง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ร่วมกับบริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการผลิตเมล่อนมากว่า 30 ปี ทดลองปลูกเมล่อน 4 สายพันธุ์ในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ได้แก่
พันธุ์เพิร์ลเมล่อน เนื้อสีส้ม พันธุ์เพิร์ลเมล่อน เนื้อสีเขียว พันธุ์กาเลียเมล่อน และพันธุ์เมล่อนเนื้อสีทอง โดยใช้ความสามารถของระบบ IoT (Internet of Thing) ในโรงเรือนอัจฉริยะ บริหารจัดการการปลูก ทั้งเก็บบันทึกข้อมูลและควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือนให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเมล่อนในแต่ละช่วง
เมล่อนในฤดูกาลปลูกครั้งแรกนี้ให้ผลผลิตที่ดี ทั้งจำนวนผลผลิต ขนาดและรสชาติ ซึ่งความรู้การผลิตเมล่อนจากผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลจากระบบ IoT ของโรงเรือนอัจฉริยะ เป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านการเกษตรที่ สท. พร้อมส่งต่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และใช้งานต่อไป
โรงเรือนอัจฉริยะบริเวณ AGRITEC Station เป็นโรงเรือนถอดประกอบได้ (knockdown) ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 5.6 เมตร หลังคา 2 ชั้น ใช้ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดสภาวะแวดล้อม โดยทำงานควบคู่กับระบบควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเรือน สามารถควบคุมและติดตามข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต เก็บบันทึกข้อมูลตามเวลาจริง (real time) ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังและนำข้อมูลออกเป็นกราฟและตัวเลขได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการสร้างสูตรการปลูกพืช คาดการณ์หรือวางแผนเพาะปลูกที่แม่นยำขึ้น
เซนเซอร์ตรวจวัดสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือน ประกอบด้วย ได้แก่ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง เซนเซอร์วัดความชื้นดิน เซนเซอร์วัดอุณหภูมิความชื้นอากาศ และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิใต้หลังคาโรงเรือน
สำหรับลักษณะสายพันธุ์เมล่อนที่ทดลองปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ ได้แก่
เพิร์ลเมล่อน เนื้อสีส้ม (Orange Pearl Melon) เป็นสายพันธุ์ F1 มีความหวานหอมเป็นเอกลักษณ์สไตล์ญี่ปุ่น เนื้อเนียนแน่น ไม่เละง่าย ผลใหญ่ ให้ผลผลิตดี เนื้อสีส้ม ผิวสีเขียวอ่อน ลายตาข่ายหนาสีเทา ความหวานเฉลี่ย 13-15 บริกซ์
เพิร์ลเมล่อน เนื้อสีเขียว (Green Pearl Melon) เป็นสายพันธุ์ F1 จัดอยู่ในกลุ่มเอิร์ลสเมล่อน (Earls melon) มีความหวานหอมเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะหลังเก็บเกี่ยวแล้ว เมื่อรอให้ลืมต้นจะยิ่งหอมมากและหวานฉ่ำ เนื้อเนียนละเอียด ผลใหญ่ ให้ผลผลิตดี ผลเก็บได้นาน เนื้อสีเขียว ผิวสีเขียวอ่อน ลายตาข่ายหนาสีเทา ความหวานเฉลี่ย 13-15 บริกซ์
กาเลียเมล่อน สายพันธุ์ญี่ปุ่น (Japanese Galia Melon) เป็นสายพันธุ์ F1 ซึ่งประเทศญี่ปุ่นพัฒนาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของอิสราเอลให้เหมาะกับสภาพอากาศเขตร้อน จุดเด่น คือ เปลือกบางมาก หวานและหอมมาก เมื่อสุกแก่มีกลิ่นหอมชัดเจน เนื้อนุ่มละมุน ทนทานต่อโรคสูง เนื้อสีขาวอมเขียว ผิวสีเหลืองทอง ลายตาข่ายละเอียดสีเทา ความหวานเฉลี่ย 14-17 บริกซ์
เมล่อนทั้งสามสายพันธุ์มีอายุเก็บเกี่ยวนับจากวันเพาะเมล็ด ประมาณ 70-75 วัน อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกคือ 22-35 °C น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1.3-2.5 กิโลกรัม
เมล่อนเนื้อสีทอง (Golden dragon) เป็นสายพันธุ์ผิวสีเหลือง เนื้อสีส้ม หวานเข้ม กรอบเหมือนสาลี่ ทนทาน อายุเก็บเกี่ยวนับจากวันเพาะเมล็ด ประมาณ 55 วัน ความหวาน 13-16 บริกซ์
ที่มาข้อมูล : https://www.nstda.or.th/agritec/melon-smart-greenhouse/