14 กรกฎาคม 2559 ณ อาคารศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) จังหวัดฉะเชิงเทรา / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมชมผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) โดยได้เยี่ยมผลงานที่โดดเด่นทางด้านการเกษตร การแพทย์ พลังงาน IoT ห้อง CleanRoom และมอบนโยบายพลักดันสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับ Thailand 4.0 พร้อมตอกย้ำขีดความสามารถของ TMEC เป็นหนึ่งกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนและยกระดับนวัตกรรมไทย และนำไปสู่การเชื่อมโยงสู่ภายนอก
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า “มีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและออกแบบวงจรรวมของประเทศ รวมทั้งสร้างกำลังคนด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ขณะนี้มีพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีไมโครเซ็นเซอร์มาตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 โดย TMEC ได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักในการก้าวไปสู่องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเซ็นเซอร์ ให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและผลิตเซ็นเซอร์ประเภทซิลิกอนชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน และเป็นพันธมิตรร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ การวิจัยและพัฒนา มุ่งเน้นเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไปสู่การใช้จริงในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ TMEC สวทช. ควรตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารประเทศ โดยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จากประเทศที่เคยเน้นการทำเกษตรกรรม ในโมเดล Thailand 1.0 เข้าสู่การทำอุตสาหกรรม และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มากมาย และใช้แรงงานคนในโมเดล Thailand 2.0 ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในโมเดล Thailand 3.0 คือเน้นอุตสาหกรรมหนัก เน้นการส่งออก และการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่า ประเทศไทยเจอกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความไม่สมดุลจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และกับดักความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ยั่งยืน และกระจายความมั่งคั่งได้อย่างทั่วถึง กลไกหนึ่งที่สำคัญคือการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศ
Thailand 4.0 ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีอาหาร กลุ่มที่ 2 เทคโนโลยีสุขภาพ สปา กลุ่มที่ 3 เทคโนโลยีหุ่นยนต์ กลุ่มที่ 4 เทคโนโลยีการเงินฟินเทค, Internet of Things, อี-คอมเมิร์ซ กลุ่มที่ 5 เทคโนโลยีการท่องเที่ยว เทคโนโลยีการออกแบบดีไซน์ ทั้ง 5 กลุ่มนี้ในส่วนของ TMEC สวทช. จะสามารถไปสนับสนุนได้ เช่น เรื่องของ Internet of Things, เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เกษตรและอาหาร สุขภาพ ยานยนต์ นอกจากนี้ควรมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนร่วมกันทำงานทั้งในภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยแลกเปลี่ยนฝึกงาน
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพฯ รัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จไปที่ CERN และTMEC สวทช. มีโครงการที่ทำงานร่วมกับ CERN Conseil Européen pour la Recherche Nuclé aire (CERN) หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า European Council for Nuclear Research ในส่วนของการร่วมวิจัยและพัฒนาเรื่องของอุปกรณ์ระบายความร้อนด้วยเซ็นเซอร์โดยใช้เทคโนโลยีซิลิกอนที่ทาง TMEC สวทช. เชี่ยวชาญ จากการวิจัยนี้ทำให้ได้รับความรู้มาพัฒนาอุปกรณ์ทางไมโครอิเล็กทรอนิกส์บางชิ้นส่วนได้ที่ใช้ทำหัววัด ITS มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท เป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยไปอีกระดับหนึ่ง
เนื่องจากศูนย์ TMEC สวทช. มีความเชี่ยวชาญในด้านเซ็นเซอร์ และเวเฟอร์ เป็นอย่างมาก และนำส่วนนี้มาทำอุปกรณ์ในการตรวจวัดความดันโลหิตร่วมกับสวีเดน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก จึงอยากเห็นความร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างงานด้านนี้ขึ้นเพื่อการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยทาง TMEC สวทช. ก็ยังคงความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาไว้ แต่ภาคเอกชนก็มาสร้างโรงงานทำให้เกิดการจ้างงาน โดยไม่ต้องไปซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ ในอนาคตเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้เซ็นเซอร์นี้มีจะความสำคัญมาก หากเรามีการวางแผนงานไว้ล่วงหน้า อนาคตจะสามารถลดการนำเข้าได้อย่างมากมายและเป็นประเทศที่สามารถส่งออกอุปกรณ์ดังกล่าวไปยังต่างประเทศได้เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศโดยจะเป็นประโยชน์อย่างมาก
http://oldweb.most.go.th/main/index.php/organization-news/6756–thailand-40.html
ข่าวโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ภาพข่าว : นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 – 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313