มูลนิธิโครงการหลวงและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การพัฒนางานวิจัยและการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน” สอดคล้องตามแนวทางของมูลนิธิที่มุ่งให้ “เกษตรกรมีรายได้พอเพียง ชุมชนเข้มแข็ง ป่าต้นน้ำลำธารได้รับการฟื้นฟู”
นายจรัลธาดา กรรณสูต ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย สอดคล้องตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวงให้เป็นไปตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงก่อตั้งโครงการหลวงขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2512 ที่ได้พระราชทานแนวทางสำคัญของการดำเนินงาน คือ “เมื่อไม่รู้ต้องวิจัย” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน
“มูลนิธิโครงการหลวงได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจาก สวทช. ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมองค์ความรู้ ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่บุคลากรและเกษตรกรของมูลนิธิฯ มาอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนบนพื้นที่สูงในทุกมิติให้ดีขึ้น การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้ร่วมกับโครงการในการต่อยอดและขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมั่นคงในทุกมิติ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษาและต่อยอดการดำเนินงานของโครงการหลวง เพื่อก่อให้เกิดคุโณปการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมต่อทั้งพื้นที่สูงและประเทศชาติ”
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ภาคการเกษตรเป็นรากฐานการผลิตที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ สวทช. ได้วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้เกษตรกรไทย ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินงานสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความร่วมมือในงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการผลิตที่ปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถการผลิต เช่น การวิจัยและสังเคราะห์เทคโนโลยีการผลิตไหลสตรอว์เบอร์รี่คุณภาพดี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้นไหลคุณภาพและปริมาณผลผลิตสตรอว์เบอร์รี่ การใช้ไวรัสเอ็นพีวี ทดแทนการใช้สารเคมีในการผลิตผักของโครงการหลวง ระบบโครงสร้างโรงเรือนและพลาสติกคลุมโรงเรือนเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตมะเขือเทศและพริกหวาน รวมทั้งฟิล์มบรรจุภัณฑ์ ActivePAK Ultra ช่วยยืดอายุเห็ดหอมสดให้ยาวนานขึ้น เพิ่มโอกาสการจำหน่ายให้เกษตรกร เป็นต้น
“จากการดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงนำมาสู่การพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระยะเวลา 3 ปี (2565-2567) ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะมุ่งเน้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิจัยพัฒนาระบบจัดเก็บ วิเคราะห์ และการเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของโครงการหลวง 2) การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและการให้บริการวิชาการ จะเป็นเรื่องการวิจัยกัญชง เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาชีวภัณฑ์ เทคโนโลยีชีวภาพด้านพืช การพัฒนาสิ่งทอและสินค้าแปรรูปสำหรับวิสาหกิจชุมชน และ 3) การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและห้องปฏิบัติการต่างๆ เป็นการฝึกปฏิบัติของบุคลากรเฉพาะด้าน ตลอดจนพัฒนาและขับเคลื่อนกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ของโครงการหลวง การดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงในครั้งนี้ สวทช. จะนำความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนายกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิตเกษตรจากบนดอยให้แข็งแกร่งขึ้น เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่ดีให้พี่น้องเกษตรกรชาวเขา สอดคล้องตามแนวทางของมูลนิธิที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียง ชุมชนเข้มแข็ง ป่าต้นน้ำลำธารได้รับการฟื้นฟู”
ทั้งนี้ สวทช. โดยดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และคุณวิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เข้าร่วมในพิธีลงนามฯ พร้อมนำเสนอนิทรรศการภายในงาน สวทช. ได้จัดนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยเทคโนโลยีด้านเกษตร เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ และเทคโนโลยีสิ่งทอ ได้แก่ สารชีวภัณฑ์ (บิวเวอเรีย เมตาไรเซียม ไวรัสเอ็นพีวี) ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ ActivePAK ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri Map) แฮนดี้เซ้นต์ (Handy Sense) กล่องควบคุมการให้น้ำ (Water Fit) แอพพลิเคชั่นชาวเกษตร นวนุรักษ์ (แพลตฟอร์มเพื่อการจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ) เอนไซม์เอนอีซ (ENZease) สเปรย์รีดผ้าสะท้อนน้ำ (I Guard Nano) และการผลิตสีผงธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โทรศัพท์ 0 2564 7000 (คุณอดิศัย เรืองจิระชูพร)
ที่มาข้อมูล : https://www.nstda.or.th/agritec/mou-nstda-royal-project/