ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้รับ 3 รางวัล จากเวทีงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นงานที่จัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในเครือ International Federation of Innovator’s Associations (IFIA)
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดและจัดแสดง ในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นงานที่จัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในเครือ International Federation of Innovator’s Associations (IFIA) ที่มีการนำผลงานมาจัดแสดงรวมกว่า 1,000 ผลงาน จาก 40 ประเทศทั่วโลก และในปีนี้ ประเทศไทยส่งนวัตกรรมเข้าร่วมจัดแสดงทั้งสิ้น จำนวน 94 ผลงาน จาก 37 หน่วยงาน
ในงานนี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.รวิภัทร มณีโชติ นักวิจัย ทีมวิจัยวัสดุเฉพาะทางสำหรับการประยุกต์ใช้ทางวิศวกรรม (FMAT) กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ (EDC) เป็นตัวแทนนำเสนอผลงานนวัตกรรม “Customizable 3D-Printed Soft Materials for Advanced Medical Uses” โดยมีทีมนักวิจัย เอ็มเทค ร่วมวิจัยพัฒนานวัตกรรม ประกอบด้วย ดร.ศศิธร ศรีสวัสดิ์, ดร.บริพัตร เมธาจารย์, คุณประสิทธิ์ วัฒนวงศ์สกุล และคุณศิวพร ศรีมงคล ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย
โดยได้รับรางวัล ดังนี้
- รางวัล Silver Medal
- รางวัล FIRI Award for the Best Invention จาก The 1st Institute Inventors and Researchers in I.R.IRAN
- รางวัล NRCT Honorable Mention Award จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
สำหรับผลงาน “Customizable 3D-Printed Soft Materials for Advanced Medical Uses” เป็นวัสดุเรซินว่องไวแสงยูวี (UV-curable resin) สำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติประเภท LCD และ DLP ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถปรับสมบัติเชิงกลได้และออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานในอุตสาหกรรมการแพทย์ นับเป็นการเติมเต็มช่องว่างทางเทคโนโลยี เนื่องจากวัสดุสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติประเภท LCD ในปัจจุบันมักจะขาดสมบัติความเข้ากันได้ทางชีวภาพ (biocompatibility) และความยืดหยุ่น (flexibility) ส่งผลให้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมีข้อจำกัดในการผลิตชิ้นส่วนที่มีความอ่อนนุ่มสำหรับงานด้านการแพทย์