นักวิจัยจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดี ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ครั้งที่ 23 ในแนวคิด “นวัตกรรมวิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
2 กุมภาพันธ์ 2565 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นางปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล นักวิจัยจากทีมวิจัยน้ำยางและวัสดุยาง กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปีที่ 47 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสิ้น 292 รางวัล แบ่งเป็น 4 ประเภท ใน 12 สาขาวิชาการ ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น โดยมี ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และ ดร. สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง (IRM) เข้าร่วมแสดงความยินดีแก่ทีมวิจัยที่ได้รับรางวัล
โดยผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างของระบบการผลิตโฟมยางธรรมชาติ
หัวหน้าผู้ประดิษฐ์คิดค้น นางปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล
ผู้ร่วมประดิษฐ์
- นายสุริยกมล มณฑา
- นายภิพัฒชา รักดี
- นางสาวบุษบา ชูสุข
- นางฉวีวรรณ คงแก้ว
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ความต้องการยางพาราลดลง ซึ่งตรงข้ามกับปริมาณการผลิตยางพาราในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนจึงร่วมมือกันช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบการรายย่อย ด้วยการเริ่มนโยบายสนับสนุนเกษตรกรให้แปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น ทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนอนประเภทหมอนและที่นอนยางพาราเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้า OTOP ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำยางพารา
จากข้อมูลการส่งออกของกรมศุลกากร และการวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดทำให้ทราบว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนอนของประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่ามีแนวโน้มที่ตลาดผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะเติบโตขึ้นได้อีก โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก นอกจากนี้ยังพบว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องนอนจากยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการแข่งขันกันสูงมาก เนื่องจากผู้บริโภคมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกหลากหลายรูปแบบ มีราคาถูก และผู้ผลิตเดิมต่างมีความเข้มแข็งทั้งทางองค์ความรู้และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ผลิตรายใหม่และผู้ผลิตรายย่อยจะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ อีกทั้งปัญหาอุปสรรคในการผลิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพของน้ำยางพาราข้นซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก กระบวนการผลิตที่จำเป็นต้องมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยสามารถคาดการณ์และควบคุมกำลังการผลิตได้ สูตรเคมีสำหรับการวัลคาไนซ์และขึ้นรูปยางซึ่งจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนจากยางพาราที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะที่ดี นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์อีกด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของผลงานการประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง การปฏิรูปโครงสร้างของระบบการผลิตโฟมยางธรรมชาติ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่เดิมในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 3ประการ คือ
- การช่วยทำให้กลุ่มเกษตรกรสวนยาง สหกรณ์ยาง วิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นเจ้าของวัตถุดิบ (น้ำยางพาราสด) สามารถทำการผลิตน้ำยางพาราข้นและผลิตภัณฑ์ยาง ได้อย่างครบวงจรในชุมชนตนเอง
- การช่วยทำให้ผู้ผลิตน้ำยางพาราข้นสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีอันตราย เช่น แอมโมเนีย TMTD ZnO ลดมลภาวะจากไอระเหยของแอมโมเนียออกสู่บรรยากาศ ลดระยะเวลาการบ่มน้ำยางพาราข้น และลดการลงทุนอุปกรณ์ในการจัดเก็บน้ำยางพาราข้น ก่อนส่งต่อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์โฟมยาง
- การช่วยทำให้ผู้ผลิตโฟมยางสามารถลดขั้นตอนการทำงานลง เช่น ลดขั้นตอนการปั่นไล่แอมโมเนียออกจากน้ำยางพาราข้น ลดมลภาวะจากไอระเหยของแอมโมเนียออกสู่บรรยากาศ และได้ผลิตภัณฑ์โฟมยางที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม
วันนักประดิษฐ์ จัดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 รวมทั้งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชน และสังคมส่วนรวมได้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และเพื่อเป็นการระลึกถึงวันประวัติศาสตร์การจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” จึงกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์”