นักวิจัยเอ็มเทค รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดี จากงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565

นักวิจัยจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดี ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ครั้งที่ 23 ในแนวคิด “นวัตกรรมวิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

2 กุมภาพันธ์ 2565 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นางปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล นักวิจัยจากทีมวิจัยน้ำยางและวัสดุยาง กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปีที่ 47 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสิ้น 292 รางวัล แบ่งเป็น 4 ประเภท ใน 12 สาขาวิชาการ ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น โดยมี ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และ ดร. สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง (IRM) เข้าร่วมแสดงความยินดีแก่ทีมวิจัยที่ได้รับรางวัล

โดยผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างของระบบการผลิตโฟมยางธรรมชาติ

หัวหน้าผู้ประดิษฐ์คิดค้น นางปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล

ผู้ร่วมประดิษฐ์

  1. นายสุริยกมล มณฑา
  2. นายภิพัฒชา รักดี
  3. นางสาวบุษบา ชูสุข
  4. นางฉวีวรรณ คงแก้ว

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ความต้องการยางพาราลดลง ซึ่งตรงข้ามกับปริมาณการผลิตยางพาราในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนจึงร่วมมือกันช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบการรายย่อย ด้วยการเริ่มนโยบายสนับสนุนเกษตรกรให้แปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น ทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนอนประเภทหมอนและที่นอนยางพาราเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้า OTOP ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำยางพารา

จากข้อมูลการส่งออกของกรมศุลกากร และการวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดทำให้ทราบว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนอนของประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่ามีแนวโน้มที่ตลาดผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะเติบโตขึ้นได้อีก โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก นอกจากนี้ยังพบว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องนอนจากยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการแข่งขันกันสูงมาก เนื่องจากผู้บริโภคมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกหลากหลายรูปแบบ มีราคาถูก และผู้ผลิตเดิมต่างมีความเข้มแข็งทั้งทางองค์ความรู้และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ผลิตรายใหม่และผู้ผลิตรายย่อยจะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ อีกทั้งปัญหาอุปสรรคในการผลิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพของน้ำยางพาราข้นซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก กระบวนการผลิตที่จำเป็นต้องมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยสามารถคาดการณ์และควบคุมกำลังการผลิตได้ สูตรเคมีสำหรับการวัลคาไนซ์และขึ้นรูปยางซึ่งจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนจากยางพาราที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะที่ดี นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์อีกด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของผลงานการประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง การปฏิรูปโครงสร้างของระบบการผลิตโฟมยางธรรมชาติ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่เดิมในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 3ประการ คือ

  1. การช่วยทำให้กลุ่มเกษตรกรสวนยาง สหกรณ์ยาง วิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นเจ้าของวัตถุดิบ (น้ำยางพาราสด) สามารถทำการผลิตน้ำยางพาราข้นและผลิตภัณฑ์ยาง ได้อย่างครบวงจรในชุมชนตนเอง
  2. การช่วยทำให้ผู้ผลิตน้ำยางพาราข้นสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีอันตราย เช่น แอมโมเนีย TMTD ZnO ลดมลภาวะจากไอระเหยของแอมโมเนียออกสู่บรรยากาศ ลดระยะเวลาการบ่มน้ำยางพาราข้น และลดการลงทุนอุปกรณ์ในการจัดเก็บน้ำยางพาราข้น ก่อนส่งต่อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์โฟมยาง
  3. การช่วยทำให้ผู้ผลิตโฟมยางสามารถลดขั้นตอนการทำงานลง เช่น ลดขั้นตอนการปั่นไล่แอมโมเนียออกจากน้ำยางพาราข้น ลดมลภาวะจากไอระเหยของแอมโมเนียออกสู่บรรยากาศ และได้ผลิตภัณฑ์โฟมยางที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม

วันนักประดิษฐ์ จัดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 รวมทั้งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชน และสังคมส่วนรวมได้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และเพื่อเป็นการระลึกถึงวันประวัติศาสตร์การจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” จึงกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์”