นักวิจัยจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ครั้งที่ 23 ในแนวคิด “นวัตกรรมวิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
2 กุมภาพันธ์ 2565 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นักวิจัยจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ครั้งที่ 23 ในแนวคิด “นวัตกรรมวิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปีที่ 47 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสิ้น 292 รางวัล แบ่งเป็น 4 ประเภท ใน 12 สาขาวิชาการ ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น โดยมีผลงานของเนคเทคที่ได้รับรางวัล ได้แก่
ประจำปี 2564
รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ผลงานเรื่อง “การอนุมานความเป็นผู้นำของกิจกรรมประสานแบบกลุ่มในข้อมูลอนุกรมเวลา” โดย ดร.ชัยณรงค์ อมรบัญชรเวช ทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG)
รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมอุปกรณ์ระบบของไหลจุลภาคเพื่อประยุกต์ใช้ศึกษาด้านวิศวกรรมชีวภาพในทางสัตวแพทย์เป็นรูปแบบการศึกษา” ร่วมวิจัยพัฒนา โดย ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ และนายวิศรุต ศรีพุ่มไข่ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์
รางวัลจากผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ตัวรับรู้แบบสวมใส่เพื่อเฝ้าระวังภาวะเบาหวานและกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยการตรวจวัดจากเหงื่อ” ร่วมวิจัยพัฒนา โดย ดร.ชูศักดิ์ ธนวัฒโน ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)
รางวัลจากผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียวสำหรับตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสารโดยไม่ทำลายตัวอย่าง” ร่วมวิจัยพัฒนาโดย ดร. นพดล นันทวงศ์ และ ดร. พิทักษ์ เอี่ยมชัย กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG)
ประจำปี 2565
รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์กำเนิดสัญญาณเทระเฮิรตซ์และพลาสโมนิกส์ โดยเทคโนโลยีกราฟีนบนเกรตติ้งระดับนาโน” (Graphene on Nanoscale Gratings for THz Electron-beam Radiation and Plasmonics) ผลงานโดย ดร.ขวัญชัย ตันติวณิชพันธุ์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีเซนเซอร์แสงไฟฟ้าเคมี (OEC) กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG)
รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี ผลงานเรื่อง “การออกแบบและพัฒนากระบวนทัศน์ด้านการรักษา ความปลอดภัยที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์สนับสนุนเทคโนโลยี เอ็นเอฟวีและเอสดีเอ็น” (Moving Towards Software-Defined Security in the Era of NFV and SDN) ผลงานโดย ดร.มลธิดา ภัทรนันทกุล ทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (SEC) กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG)
ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเป็นผู้แทนผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมถ่ายภาพและแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลจากเนคเทค และ สวทช.
วันนักประดิษฐ์ จัดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 รวมทั้งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชน และสังคมส่วนรวมได้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และเพื่อเป็นการระลึกถึงวันประวัติศาสตร์การจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” จึงกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์”