NETPIE รับรางวัลรองชนะเลิศ Thailand ICT Awards 2018

วันที่ 16 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท กรุงเทพฯ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลในงานประกวดซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ Thailand ICT Awards 2018 (TICTA 2018) เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน APICTA 2018 ณ เมืองกวางเจา สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในพิธีเป็นผู้มอบรางวัล โดยในปีนี้ผลงาน NETPIE : IoT Cloud Platform ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาที่ริเริ่มโดยห้องปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ต ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภท Internet of Things

NETPIE (Network Platform for Internet of Everything) คือ IoT cloud platform เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ วันที่ 16 กันยายน 2558 โดยมีกลุ่มเป้าหมายของการใช้ประโยชน์ในระยะแรกคือนักพัฒนา เมคเกอร์ หรือผู้ประกอบการ SME ที่มาร่วมใช้ NETPIE แพลตฟอร์ม IoT ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การเกิดธุรกิจ บริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ส่วนเป้าหมายในระยะยาว คือ นักพัฒนาและผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการนำ IoT ไปประยุกต์ใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น คาดหวังให้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมให้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของไทย เจริญเติบโตรองรับ Innovation Economy สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

NETPIE ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยให้เกิดการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์หรือ things ในเครือข่าย IoT โดยมีประโยชน์ต่อนักพัฒนาและอุตสาหกรรมไทย อาทิ NETPIE ช่วยให้อุปกรณ์สามารถคุยกันได้โดยผู้พัฒนาไม่ต้องกังวลว่า อุปกรณ์นั้นจะอยู่ที่ใด ทั้งในแง่ physical และ logical เพียงนำ NETPIE library ไปติดตั้งในอุปกรณ์ NETPIE จะรับหน้าที่ดูแลการเชื่อมต่อให้ทั้งหมด ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะอยู่ในเครือข่ายชนิดใด ลักษณะใด หรือแม้กระทั่งเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใด ผู้พัฒนาสามารถตัดปัญหากวนใจในการที่จะต้องมาออกแบบการเข้าถึงอุปกรณ์จากระยะไกล (remote access) ด้วยวิธีแบบเดิมๆ เช่น การใช้ fixed public IP หรือการตั้ง port forwarding ในเราท์เตอร์ หรือการต้องไปลงทะเบียนกับผู้ให้บริการ dynamic DNS ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความยุ่งยากและลดความยืดหยุ่นของระบบ ไม่เพียงเท่านั้น NETPIE ยังช่วยให้การเริ่มต้นใช้งานเป็นไปโดยง่ายโดยการออกแบบให้อุปกรณ์ถูกค้นพบและเข้าสู่บริการโดยอัตโนมัติ (automatic discovery, plug and play) NETPIE ถูกออกแบบให้มี authorization/access control ในระดับ fine grain กล่าวคือผู้พัฒนาสามารถออกแบบได้เองทั้งหมด เช่น สิ่งใดมีสิทธิคุยกับสิ่งใด สิ่งใดมีสิทธิหรือไม่-เพียงใดในการอ่านหรือเขียนข้อมูล และสิทธิเหล่านี้จะมีอายุเท่าใดหรือถูกเพิกถอนภายใต้เงื่อนไขใด เป็นต้น NETPIE มีสถาปัตยกรรมเป็น cloud อย่างแท้จริงในทุกๆ ระดับของระบบ ทำให้เกิดความยืดหยุ่น และคล่องตัวสูงในการขยายตัว นอกจากนี้ โมดูลต่างๆ ยังถูกออกแบบให้ทำงานแยกจากกันเพื่อให้เกิดสภาวะ loose coupling และสื่อสารกันด้วยวิธีการ asynchronous messaging ช่วยให้แพลตฟอร์มมี reliability สูง สามารถนำไปใช้ซ้ำ และพัฒนาต่อเติมได้ง่าย ดังนั้นผู้พัฒนาไม่จำเป็นต้องกังวลกับการขยายตัวเพื่อรับโหลดที่เพิ่มขึ้นในระบบอีกต่อไป นอกจากนี้ทางเนคเทคจะเปิด NETPIE library ในรูปแบบ open-source ให้นักพัฒนาสามารถนำไปปรับปรุงต่อให้ตรงกับความต้องการใช้งานโดยเปิดโอกาสให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยเนคเทคหวังที่จะให้เกิด community ที่จะมาร่วมกันพัฒนาต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการ IoT ของไทย

ทีมวิจัยพัฒนาประกอบด้วย

  1. ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ หัวหน้าทีมพัฒนา NETPIE
  2. คุณชาวี อิสริยภัทร์
  3. ดร.เอมอัชนา นิรันตสุขรัตน์
  4. ดร.กุลชาติ มีทรัพย์หลาก
  5. คุณอนันท์ ปัญญา
  6. คุณเปรมฤดี เอี่ยมสุภัคกุล