ดร.นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ นักวิจัยไบโอเทค คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2566

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2566 ซึ่งปีนี้มีผู้เสนอผลงานเพื่อขอรับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น จำนวน 31 โครงการ และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จำนวน 15 โครงการ โดย ภก.ดร.นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ นักวิจัยทีมวิจัยการออกแบบและวิศวกรรมชีวโมเลกุลขั้นแนวหน้า ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จากผลงาน “เทคโนโลยีฐานในการสังเคราะห์ยา (Synthesis for Medicine as Technology Platform)” ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2566 โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์​ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมกันนี้คณะผู้บริหารและพนักงาน สวทช. นำโดย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค ร่วมแสดงความยินดีกับ ภก.ดร.นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ เนื่องในโอกาสรับรางวัลดังกล่าวด้วย ณ ห้อง แมคโนเลีย บอลรูม วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ

ดร.นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบและวิศวกรรมชีวโมเลกุลขั้นแนวหน้า ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรม ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2566 จากผลงานวิจัยเรื่อง “เทคโนโลยีฐานในการสังเคราะห์ยา” (Synthesis of Medicine) โดย ดร. นิติพลฯ และคณะผู้วิจัย ได้พัฒนาเทคโนโลยีฐานการสังเคราะห์ยา มีแนวคิด คือ กระบวนการสังเคราะห์ยาจะต้องมีประสิทธิภาพสูง สามารถทำได้เองในประเทศไทย โดยได้เป็นสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมที่มีคุณภาพและมีราคาเหมาะสม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของประเทศไทย และแนวคิด Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients; API) ถูกสังเคราะห์ขึ้น โดยใช้วิธีการสังเคราะห์ 2 รูปแบบ ได้แก่ เทคนิคการสังเคราะห์แบบดั้งเดิม (conventional batch synthesis) และเทคนิคการสังเคราะห์แบบใหม่ เช่น การสังเคราะห์แบบไหลต่อเนื่อง (continuous flow synthesis) หรือการใช้ตัวเร่งทางชีวภาพ/เอนไซม์ (chemo-enzymatic synthesis) โดยมีเป้าหมายในการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังระดับกึ่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรม ปัจจุบันคณะผู้วิจัยฯ มุ่งเน้นพัฒนายาต้านมาลาเรียและโรคติดเชื้อไวรัส โดยการพัฒนายาในระดับต้นน้ำ (TRL1-3) ประกอบด้วยการค้นพบอนุพันธ์ BION-075, BION-106, BION-141 และ BION-157 ส่วนการพัฒนายาในระดับกลางน้ำ (TRL4-6) ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ มอลนูพิราเวียร์ โซฟอสบูเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ เป็นต้น ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาชนิดแรกที่ได้พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคนิคการสังเคราะห์แบบไหลต่อเนื่องร่วมกับเทคนิคการสังเคราะห์แบบดั้งเดิม ซึ่งเทคนิคนี้ช่วยให้กระบวนการสังเคราะห์ยามีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากสามารถควบคุมอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปจากการทำปฏิกิริยาของสาร และ ทำให้ได้สารที่มีความบริสุทธิ์สูงในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีความเหมาะสมสำหรับการขยายขนาดการผลิตจากห้องปฏิบัติการสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม (ยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่คำขอ 2101001627) ยามอลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่พัฒนาขึ้นโดยต่อยอด จากเทคโนโลยีเดิม ใช้สารตั้งต้นที่มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย และพัฒนากระบวนการสังเคราะห์โดยใช้ตัวเร่งทางชีวภาพ หรือเอนไซม์ ทำให้ขั้นตอนการสังเคราะห์ลดน้อยลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม และ Medicine for All Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา) (ยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่คำขอ 2201001996) ปัจจุบันคณะผู้วิจัยฯ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการสังเคราะห์ยาฟาวิพิราเวียร์และยามอลนูพิราเวียร์ให้กับองค์การเภสัชกรรมและได้ขยายขนาดการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม สำหรับยาโซฟอสบูเวียร์และเรมเดซิเวียร์ เป็นยาที่คณะผู้วิจัยฯ สังเคราะห์ขึ้นโดยใช้เอนไซม์ Phosphotriesterase (PTE) เป็นตัวเร่งทางชีวภาพในการสังเคราะห์ sofosbuvir precursor และใช้กระบวนการตกผลึกทำให้ได้สารบริสุทธิ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายขนาดการผลิตในระดับก่อนกึ่งอุตสาหกรรม (ยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่คำขอ 2101007629 และ 2301005964) การพัฒนายาในระดับปลายน้ำ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมแบบอเนกประสงค์ คณะผู้วิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงได้มีความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมและบริษัท อินโนบิก เอเซีย จำกัด (บริษัทในเครือ ปตท.) เพื่อก่อตั้งบริษัทและโรงงานสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “กระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม และศึกษาความเป็นไปได้ ในเชิงพาณิชย์ และ/หรือการสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย” ประโยชน์ที่ได้รับจากการก่อตั้งโรงงานสังเคราะห์ API คือ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีจะสามารถถ่ายทอดกระบวนการสังเคราะห์ API สู่โรงงานนี้โดยตรง ทำให้กระบวนการสังเคราะห์ยาของประเทศไทยครอบคลุมระบบนิเวศตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และคาดว่าประเทศไทยจะสามารถลดการนำเข้า API จากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท/ปี

นอกจากนี้ ยังมีผลงานของ ดร.วีระพงษ์ วรประโยชน์ นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร กลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค สวทช. ที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและได้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นเกียรติจัดนิทรรศการแสดงผลงาน และขึ้นกล่าวถึงผลงานเทคโนโลยีบนเวที และรับโล่รางวัลเชิดชูเกียรติผลงานที่มีความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยีด้วย

ทั้งนี้ รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เป็นรางวัลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อมอบให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องจนเห็นเป็นรูปธรรม สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับประเทศ โดยรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เริ่มมีผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจนเป็นที่ประจักษ์ถึงศักยภาพและความทุ่มเทในการพัฒนาเทคโนโลยีในสาขาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญจนก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดให้มีพิธีรับพระราชทานรางวัลฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 49 ในวันอังคารที่ 23 มกราคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา