วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2561 และจัดพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีและขึ้นมอบรางวัล ในการนี้ ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยชีววิทยาโมเลกุลทางการแพทย์ เป็นผู้แทนผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เข้าร่วมแสดงความยินดีกับคณะวิจัยไบโอเทคที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติจำนวนทั้งสิ้น 7 รางวัล
รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2560
- รางวัลระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “ระบบการควบคุมการแสดงออกของยีนในเชื้อมาลาเรียโดยไรโบไซม์ กลิมเอสและการประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนายา” นำโดย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิศวกรรมโปรตีนลิแกนด์และชีววิทยาโมเลกุล และคณะ
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการนำไรโบไซม์กลิมเอสมาใช้เป็นเครื่องมือทางรีเวิร์สเจเนติกส์เพื่อควบคุมการแสดงออกของยีนไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทสไธมิดิเลทซินเธสในเชื้อพลาสโมเดียมฟาลซิปารัมซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคมาลาเรียในมนุษย์ โดยพบว่าเมื่อเชื้อมาลาเรียปรับแต่งพันธุกรรมถูกเลี้ยงในสภาวะที่มีน้ำตาลกลูโคซามีน ยีนไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทสไธมิดิเลทซินเธสจะลดการแสดงออกและมีการเจริญเติบโตลดลง และมีความไวต่อยาที่มุ่งเป้าต่อเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทสไธมิดิเลทซินเธสสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนำเชื้อปรับแต่งพันธุกรรมข้างต้นไปทดสอบกับสารที่มีฤทธิ์ต้านมาลาเรียในคลังสารต้านมาลาเรียซึ่งได้รับจากองค์กร Medicines for Malaria Venture (MMV) พบว่าสามารถพิสูจน์เป้าหมายของสารออกฤทธิ์ต้านมาลาเรียได้ทั้งหมด 2 ชนิด องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้นำไปสู่การใช้ไรโบไซม์กลิมเอสในการค้นพบหน้าที่ของยีนที่สำคัญใหม่ๆ ของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการค้นหาและพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับเชื้อมาลาเรียดื้อยาในปัจจุบัน
- รางวัลระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มมูลค่าชานอ้อย : การสกัดเซลลูโลสและนาโนเซลลูโลส และการประยุกต์ใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์” นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประกิต สุขใย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ซึ่งมี ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ เป็นผู้ร่วมวิจัย
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางของการพัฒนาประเทศบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) โดยนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบคือ ชานอ้อย (sugarcane bagasse) ผนวกกับการใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้กับชานอ้อย โดยศึกษาการประยุกต์ใช้ชานอ้อยเป็นแหล่งวัตถุดิบในการสกัดเซลลูโลส (cellulose) และนาโนเซลลูโลส (nanocellulose) รวมถึงการใช้ไซลาเนส (xylanase) ในกระบวนการสกัดเพื่อลดการใช้สารเคมีและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้นนำนาโนเซลลูโลสที่สกัดได้จากชานอ้อยมาศึกษาการประยุกต์ใช้เพื่อผลิตเป็นโครงเลี้ยงเซลล์ (scaffold) ร่วมกับพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งศึกษาลักษณะทางกายภาพของโครงเลี้ยงเซลล์ และทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพ (biocompatibility) ระหว่างโครงเลี้ยงเซลล์ของนาโนเซลลูโลสจากชานอ้อยกับเซลล์ผิวหนังเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ต่อไป
- รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “กลไกการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอในกรณี ติดเชื้อร่วมกับไข้หวัดใหญ่ชนิดบี” นำโดย ดร.พีร์ จารุอาพรพรรณ นักวิจัยห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี และคณะ
งานวิจัยนี้ เป็นการค้นพบว่านิวคลีโอโปรตีนจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบี (BNP) จับจำเพาะกับนิวคลีโอโปรตีนจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (ANP) และป้องกันไม่ให้ ANP จับกับโพลีเมอเรสคอมเพล็กซ์ได้ จึงมีระดับการทำงานลดลงและลดจำนวนอนุภาคใหม่ของไวรัสชนิดเอในที่สุด นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังค้นพบว่า BNP สามารถออกฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอที่มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ปีกได้ดีมาก รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอสายพันธุ์ก่อโรครุนแรง เช่น ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง H5N1 และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 (2009) ได้เป็นอย่างดี ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถต่อยอดเพื่อใช้พัฒนาเครื่องมือในการจัดการและป้องกันการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้
- รางวัลระดับดี สาขาสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลและการสร้างแผนที่พันธุกรรมเพื่อค้นหา เครื่องหมายโมเลกุลที่มีความสัมพันธ์กับความสูงของลำต้นในปาล์มน้ามัน” นำโดย ดร.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม และคณะ
งานวิจัยนี้มุ่งเน้นที่จะค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลที่สัมพันธ์กับความสูงของลำต้นปาล์มน้ำมัน เพื่อนำมาใช้ในการคัดเลือกต้นกล้าในโครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันต้นเตี้ย โดยการสร้างแผนที่พันธุกรรมความละเอียดสูงจากเครื่องหมายโมเลกุลสนิปด้วยเทคโนโลยี genotyping-by-sequencing (GBS) โดยคณะวิจัยได้นำข้อมูลเครื่องหมายโมเลกุลสนิปที่สัมพันธ์กับความสูงในลำต้นปาล์มน้ำมันไปออกแบบไพรเมอร์และดีเอ็นเอโพรบ เพื่อนำไปใช้คัดเลือกต้นกล้าในโครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเครื่องหมายโมเลกุลนี้จะช่วยย่นระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมันต้นเตี้ยได้อย่างมาก
รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2560
- รางวัลระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากวิทยานิพนธ์ เรื่อง “ฟิสิกส์ของไวรัส” ของ ดร.อุดม แซ่อึ่ง นักวิจัยห้องปฏิบัติการการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล โดยมี Associate Professor Dr.Alex Evilevitch จาก Carnegie Mellon University ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษา
งานวิจัยชิ้นนี้ประยุกต์เทคนิคและความรู้ทางฟิสิกส์ 3 แขนง กับไวรัสเริมชนิดที่ 1 ซึ่งสามารถติดไปยังมนุษย์ได้ ประกอบด้วยฟิสิกส์ด้านกลศาสตร์จากกล้องจุลทรรศน์แรงอะตอม (Atomic Force Microscope) ฟิสิกส์ด้านอุณหพลศาสตร์จากเครื่องวัดความร้อนสัมพัทธ์ (Isothermal Titration Calorimetry) และฟิสิกส์ด้านโครงสร้างทางกายภาพจากการวัดรังสีเอ็กซ์ (Small-Angle X-ray Scattering) เพื่ออธิบายกลไกทางฟิสิกส์ที่ไวรัสเริมใช้ในการถ่ายทอดดีเอ็นเอเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน ซึ่งองค์ความรู้ใหม่ที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ โดยความรู้ด้านกลไกการถ่ายทอดดีเอ็นเอของไวรัสเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการคิดค้นแนวทางใหม่ในการยับยั้งการติดเชื้อ และการแพร่กระจายของไวรัส นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดงานวิจัยต่อเนื่องในสาขาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาโนเทคโนโลยีและวัสดุศาสตร์ เช่น การสร้างบรรจุภัณฑ์ระดับนาโนสำหรับการส่งยาไปยังเซลล์เป้าหมาย และการศึกษาด้านอนุภาคระดับนาโน เป็นต้น
- รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากวิทยานิพนธ์ เรื่อง “การศึกษาความผิดปกติของเซลล์สมองโดยไม่ใช้สมองของผู้ป่วยกลุ่มอาการวิลเลียมส์” ของ ดร.ธนธม ไชยลังการณ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี โดยมี Associate Professor Dr.Alysson Renato Muotri จาก University of California, San Diego ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษา
งานวิจัยนี้เป็นการนำเอาเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดเสมือนตัวอ่อนแบบเหนี่ยวนำมาใช้ในการศึกษากลุ่มอาการวิลเลียมส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการพัฒนาทางระบบประสาท โดยเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดเสมือนตัวอ่อนแบบเหนี่ยวนำนี้ เป็นการนำเซลล์ร่างกายมาเปลี่ยนเป็นเซลล์ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน โดยการเหนี่ยวนำด้วยการแสดงออกของกลุ่มยีนเฉพาะซึ่งจะแสดงออกในระยะที่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนเท่านั้น ซึ่งกลุ่มยีนเหล่านี้จะทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกของยีนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง ด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้การศึกษาโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากในอดีต เราไม่สามารถแยกเซลล์เป้าหมายของโรค เช่น เซลล์สมองหรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจออกมาจากสมองหรือหัวใจของผู้ป่วยได้โดยตรง เพื่อนำมาศึกษาถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ ทำให้สามารถสร้างเซลล์ประสาท หรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่มีความผิดปกติได้ โดยการเหนี่ยวนำเซลล์ผิวหนังของผู้ป่วย และนำเซลล์ที่สร้างได้มาเพิ่มปริมาณและศึกษาความผิดปกติในห้องปฏิบัติการได้
รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2561
- รางวัลระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากผลงานเรื่อง “สูตรผสมสารชีวบำบัดภัณฑ์สำหรับย่อยสลายคราบปนเปื้อนน้ำมัน” นำโดย ดร.สมเกียรติ เตชกาญจนารักษ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร และคณะ
ผลงานดังกล่าวเป็นการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพ และไบโอรีมิดิเอชั่น (Bioremediation) มาใช้ร่วมในการจัดการบำบัดคราบน้ำมันปนเปื้อน เพื่อไปช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งเทคโนโลยีไบโอรีมิดิเอชั่นอาศัยพื้นฐานความรู้ที่ว่าส่วนประกอบต่างๆ ของน้ำมันปิโตรเลียม สามารถย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพในธรรมชาติโดยจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนของน้ำมัน เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตชองจุลินทรีย์ โดยแบคทีเรียดังกล่าวจะย่อยสลายสารอินทรีย์ไฮโดรคาร์บอน ไปเป็นสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุลขนาดเล็กลง และนำไปใช้ในการสร้างเซลล์ เพื่อการดำรงชีวิต สุดท้ายสารไฮโดรคาร์บอน ก็ถูกย่อยสลายไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์และน้ำ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารชีวบำบัดภัณฑ์ตามการประดิษฐ์นี้สามารถกำจัดโมเลกุลของน้ำมันได้อย่างรวดเร็ว และไม่พบร่องรอยของน้ำมันดังกล่าวด้วย
งาน “วันนักประดิษฐ์” ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด”ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม โดยจัดขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างการบูรณาการของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนผลักดันให้สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมโดยฝีมือคนไทยได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดและสามารถเชื่อมโยงส่งต่อถึงผู้ใช้งานและผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในภาคประชาชน และภาคการผลิตและบริการ ตลอดจนเพื่อเป็นเวทีในการพัฒนาทักษะและสร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชน และบุคคลทั่วไปในการสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้น