นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทางกระทรวงได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นแกนนำในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมหลากหลายสาขาวิชาต่อสาธารณชนและกระตุ้นให้เยาวชนไทยตื่นตัวที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังเป็นเวทีส่งเสริมและสนับสนุนให้ภูมิปัญญาของคนไทยได้รับการพัฒนาต่อยอดไปเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก
”งานวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้จะจัดอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงสำคัญ 9 แห่ง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกมากมายจัดทำกลุ่มนิทรรศการแสดงผลงานที่โดดเด่นของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทย และจดัประชุมวิชาการในหัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก อย่างนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีด้านการพลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและสาธารณชนตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงธุรกิจระดับชาติได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง”
ทางด้าน ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สารสำคัญที่คณะผู้จัดงานฯ ต้องการสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมายหลัก อันได้แก่ เยาวชน ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ก็คือ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้าน โดยขมวดเป็นคำขวัญที่ว่า “วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” ซึ่งจะแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในซุ้มนิทรรศการที่หลากหลาย เช่น โครงการแกล้งดินในพระราชดำริ พาววิลเลียนสาธิตเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี เครื่องบินและรถพลังงานแสงอาทิตย์ หุ่นยนต์อัจฉริยะ ผ้าไหมยืดได้ และการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยตัวเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่เกิดจากมันสมองของคนไทย และผ่านการพัฒนาปรับปรุงมาเป็นเวลานานจนประสบความสำเร็จเป็นที่ภาคภูมิใจ
ทั้งนี้ สัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้มีเนื้อที่ในการจัดงานถึง 47,000 ตารางเมตร โดยใช้อาคารนิทรรศการในอิมแพค (exhibition hall) เพื่อรองรับกลุ่มนิทรรศการถึง 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มเอเนจีเทคโนโลยี กลุ่มอิเล็กทรอนิคส์ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มวัสดุ กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพและสุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยีนาโน และกลุ่มพัฒนาเด็กและเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี