ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยไบโอเทค สวทช. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2567

ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร ประจำปี พ.ศ. 2567 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยผลงานวิจัยดีเด่นด้านเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรที่ได้พัฒนาให้เกิดการนำเอาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำในกุ้งทะเล

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร ประจำปี พ.ศ. 2567 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยผลงานวิจัยดีเด่นด้านเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรที่ได้พัฒนาให้เกิดการนำเอาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำในกุ้งทะเล ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อภาคส่งออกและภาคสังคมของประเทศไทย โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีและมอบโล่รางวัล พร้อมด้วย ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ร่วมแสดงความยินดีในงาน โอกาสนี้ ผู้บริหาร สวทช. นำโดย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมด้วย ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค และรองผู้อำนวยการไบโอเทค คือ ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง และ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ร่วมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่ ดร.กัลยาณ์ ภายในงานด้วย

ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ มีความมุ่งมั่นในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา โดยมุ่งเป้าให้อุตสาหกรรมเป็นสังคมฐานองค์ความรู้ (knowledge-based society) ที่ “ผู้ประกอบการกับนักวิจัยทำงานร่วมกันในการนำเอาข้อมูลทางด้านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เข้าไปใช้ในการพัฒนาแนวทางใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการผลิตหรือใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” โดย ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ และคณะ มีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยด้านการตอบสนองของกุ้งทะเลต่อเชื้อก่อโรคทั้งที่เป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยได้ค้นพบไวรัสชนิดใหม่ในกุ้งทะเลเป็นคณะแรกของโลก เช่น ไวรัสหัวเหลือง type 4 ไวรัสแหลมสิงห์ และไวรัส Wenzhou shrimp virus 8 เป็นต้น นอกจากนี้ คณะวิจัยยังมีความเชี่ยวชาญในการศึกษากลไกการก่อโรคของเชื้อสาเหตุโรคระบาด เช่น แบคทีเรียสาเหตุปัญหากุ้งตายด่วนที่มีการสร้างสารพิษสองชนิดที่ต้องทำงานร่วมกันในการทำลายเซลล์ตับและตับอ่อนของกุ้ง เชื้อราที่เป็นสาเหตุของกุ้งโตช้ามีการสร้างสปอร์ที่ทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีและเป็นสปอร์ที่จะยิง polar tube เข้าสู่เซลล์ตับและตับอ่อนของกุ้งเพื่อเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ของกุ้ง ไวรัสที่เป็นสาเหตุการตายของกุ้งทะเลที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อมีการเลี้ยงกุ้งในฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำต้องอาศัยตัวจับจำเพาะในเซลล์เม็ดเลือดของกุ้งในการแพร่กระจายในตัวกุ้งและทำให้เกิดการติดเชื้อในหลายอวัยวะสำคัญ เป็นต้น

ผลงานวิจัยพื้นฐานเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการประเมินแก้ไขปัญหาร่วมกับการบริหารจัดการการเลี้ยงของผู้ประกอบการ เช่น การพัฒนาวิธีการตรวจเชื้อก่อโรคที่มีประสิทธิภาพสูงที่นำไปใช้ในการตรวจเฝ้าระวังและคัดกรองเชื้อก่อโรคออกจากกระบวนการผลิต การพัฒนาสารชีวภาพออกฤทธิ์ขัดขวางการจับกันของตัวจับจำเพาะกับโปรตีนของเชื้อก่อโรคไม่ให้เข้าสู่เซลล์กุ้งเป้าหมาย การพัฒนาแนวทางการเตรียมบ่อเลี้ยงและน้ำเลี้ยงกุ้งทั้งในโรงเพาะฟักและบ่อผลิตจากคุณสมบัติของเชื้อก่อโรค การพัฒนาสายพันธุ์กุ้งปลอดเชื้อและทนโรคติดเชื้อไวรัสโดยอาศัยความรู้เรื่องกลไกการติดเชื้อแบบเชื้อคงอยู่และกลไกการอยู่ร่วมกันระหว่างกุ้งและไวรัส การพัฒนาสายพันธุ์กุ้งกุลาดำปลอดเชื้อและมีการเจริญเติบโตเร็วโดยอาศัยการคัดเลือกพันธุ์ รวมไปถึงการพัฒนาระบบการเลี้ยงสมัยใหม่ที่เป็นระบบน้ำหมุนเวียนที่มีการทำงานร่วมกับระบบตรวจวัดแบบดิจิทัลที่มีการตรวจเฝ้าระวังสุขภาพกุ้งตลอดระยะเวลาการเลี้ยงเพื่อรองรับปัญหาโรคระบาดที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น

ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ และทีมวิจัย มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ จำนวน 93 เรื่อง โดยผลงานวิจัยตีพิมพ์ได้รับการอ้างอิงมากกว่า 5,325 ครั้ง มีค่า h-index เท่ากับ 35 (อ้างอิงจากฐานข้อมูล Scopus ตั้งแต่ปี 2542-2567) และได้รับการอ้างอิงสูงสุดในระดับต้น 2% ของโลก ผลงานวิจัยดังกล่าวได้ถูกประเมินผลกระทบต่อการนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์มากกว่า 1,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการด้านการผลิตสัตว์น้ำและสุขภาพสัตว์น้ำของกรมประมง และทำงานในฐานะ adjunct staff ของภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาค เช่น Network of Aquaculture Centres in Asia-Pacific (NACA), Fish Health Section of the Asian Fisheries Society (FHS-AFS) และระดับโลก เช่น Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) เพื่อผลักดันให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยเฉพาะสาขา ทำให้ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา–แดงติ๊บ ประสบความสำเร็จในอาชีพแล้ว ดร.กัลยาณ์ ยังได้ใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยบริหารงานวิจัยด้านสัตว์น้ำให้กับองค์กร โดยใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาวางแผนการวิจัยและเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ในองค์กร ไม่เพียงเฉพาะสาขาเทคโนโลยีชีวภาพเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับและเป็นผู้นำในการบูรณาการงานวิจัยจากสาขาต่ง ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชน

สำหรับในปีนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 2 ท่าน ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท ได้แก่

  1. ศ.ดร.อัญชลี ทัศนาขจร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ผู้ค้นพบและระบุหน้าที่สำคัญของยีนและโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันของกุ้ง เพื่อการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งสุขภาพดีและต้านทานโรค”
  2. ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) “ผู้คิดค้นการควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำในกุ้งทะเล”

รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จัดขึ้นในแต่ละปีเพื่อมอบให้เป็นเกียรตินักวิทยาศาสตร์ไทยหนึ่งหรือสองคน ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันได้มีผลงานวิจัยดีเด่นที่สุดทางวิทยาศาสตร์ในสาขาของตนเป็นที่ปรากฏชัด ผลงานวิจัยที่พิจารณาอาจเป็นผลงานด้านปฏิบัติ หรือทฤษฎี โดยเน้นในด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน

ทั้งที่จะเป็นฐานความรู้และ/หรืออาจนำไปประยุกต์ได้ สาขาของวิทยาศาสตร์จะรวมถึง วิทยาศาสตร์กายภาพ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ งานวิจัยจะต้องกระทำภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่และมาจากการวิจัยค้นคว้า ของตน ที่ได้ดำเนินต่อมาอย่างสืบเนื่องและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติว่าได้เพิ่มพูน พื้นฐานความรู้ในสาขานั้นๆ และ/หรือสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างแน่นอน

ส่งผลกระทบที่ดีต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีและ/หรือการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลผู้ประพฤติตนเป็นที่น่าเคารพนับถือ มีบุคลิกการวางตัวและนิสัยเป็นที่นิยม อุทิศตนให้กับวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องด้วยความสำนึกในการสร้างวิทยาศาสตร์เพื่อส่วนรวม

อ้างอิง
https://www.biotec.or.th/home/outstanding-scientist-young-scientist-awards-2024-th/
https://promotion-scitec.or.th/outsciaward.htm