ปัญญาวุธ ฉบับแรก ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2542)

จดหมายข่าว “ปัญญาวุธ” ฉบับแรก ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2542)
คอลัมน์ทักทายสไตล์ TIAC จาก ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์

สวัสดีครับ ในโอกาสที่ทางศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (ศสท.) เริ่มจัดทำจดหมายข่าว “ปัญญาวุธ” เป็นครั้งแรก ก็ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ตัวเองสักหน่อย ศสท. เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก สังกัดกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งแนวคิดในการจัดตั้งนั้นเกิดตั้งแต่ สวทช. ยังเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี หรือ กพวท. เมื่อเกือบทศวรรษมาแล้ว แนวคิดนั้นก็คือ การจัดตั้งองค์กรที่มีข้อมูล และสารสนเทศทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สำหรับให้บริการแก่นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ที่ต้องการอ่านบทความวิจัย ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพื่อให้สามารถนำความรู้นั้น มาใช้เป็นพื้นฐาน สำหรับงานวิจัยของตนเองได้ ในยุคนั้นมหาวิทยาลัยจำนวนมากยังไม่ได้ตื่นตัวทางด้านบัณฑิตศึกษา งบประมาณด้านนี้ก็มีน้อย วารสารวิชาการระดับดียิ่งหายากมาก การอ้างอิงบทความวิจัยชั้นนำจึงยากตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อเกิด สวทช. แล้ว ศสท. จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นแกนกลาง ในการจัดหาวารสารวิชาการ ตำรา ข้อมูล และ สารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลย ีมาให้บริการแก่นักวิจัย สวทช. และให้บริการแก่บุคคลทั่วไปด้วย

ประเด็นนี้เองทำให้ ศสท. ในปัจจุบันเป็นแหล่งวารสารและ Proceedings ทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและชีวภาพ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ และนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแหล่งที่นักวิจัยชาวไทย สามารถเดินเข้ามาขอรับบริการได้อย่างอบอุ่นและด้วยไมตรีจิต
นอกจากนี้ปัจจุบัน ศสท. ยังพัฒนา ฐานข้อมูลซีดีรอมบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ไทยของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยได้รับความอุดหนุน และช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย ที่เห็นความสำคัญทางด้านนี้ แม้จะเป็นเพียงบทคัดย่อ แต่ก็สามารถให้แนวคิดแก่นักศึกษา และอาจารย์ไทย ที่ต้องการคิดหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ใหม่ ๆ และจะทำให้การวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาของไทยก้าวหน้าต่อไป
งานของ ศสท. ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรายังมีโครงการอื่น ๆ รออยู่อีกมาก ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในหน้าจดหมายข่าวนี้ต่อไป สำหรับในฉบับเปิดตัวนี้ ผมใคร่ขอเชิญชวนผู้ที่ยังไม่รู้จัก ศสท. หรือ TIAC ให้เข้ามาใช้บริการของเรามากยิ่งขึ้น และ เมื่อใช้บริการแล้ว ก็อย่าลืมที่จะให้คำแนะนำเพื่อให้ ศสท. มีบริการที่ถูกใจแก่นักวิจัยทุกคนด้วย