บทสัมภาษณ์ ดร.เพ็ญจิตร จิตรนำทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล (IAPT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ (IBIG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน
ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ
ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับบทสัมภาษณ์นี้เป็นการสัมภาษณ์ ดร.เพ็ญจิตร จิตรนำทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล (IAPT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ (IBIG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร
ข้อมูลเบื้องต้น
- ดร.เพ็ญจิตร จิตรนำทรัพย์
- ตำแหน่ง นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล (IAPT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ (IBIG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช.
แนะนำตัวเอง
เริ่มทำงานที่ศูนย์พันธุวิศวรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ตั้งแต่จบการศึกษาระดับปริญญาโทที่ภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หน่วยปฏิบัติการโรงงานต้นแบบที่ มจธ. จากนั้นได้รับทุนจาก ศช. เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านเคมีที่ Texas A&M University, College Station, Texas, USA และกลับมาปฏิบัติงานที่ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมโปรตีน อาคารวิจัยโยธี และปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล (Biomolecular Analysis and Application)
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิจัยและแนวคิดสำคัญในการทำงาน
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิจัย เริ่มจากการรับทุน พสวท ที่ต้องทำงานใช้ทุนที่ ศช. ที่เป็นสถาบันวิจัย จากนั้นรับทุนต่อเพื่อไปศึกษาปริญญาเอกด้านเคมี กลับมาทำงานเป็นนักวิจัยจนเกษียณ
แนวคิดในการทำงานหลักที่ใช้คือ การมีความเพียร ความอดทน และความตั้งใจที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จ
ผลงานที่ภาคภูมิใจ
“งานทุกชิ้นที่ทำคือความภาคภูมิใจ” เพราะผลงานนั้นเกิดจากความร่วมมือของทีมงาน ที่ทำงานด้วยความเพียร ความอดทน และความตั้งใจเพื่อให้ผลงานสำเร็จออกมา ผลงานที่ภาคภูมิใจขอยกตัวอย่าง เช่น ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย P218 และกลไกการดื้อยาซัลฟาจากการวิเคราะห์โครงสร้างผลึกของเอนไซม์ที่เป็นเป้าหมายของยาซัลฟา จากเชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum dihydropteroate synthase) ในรูปแบบที่มียาซัลฟาจับอยู่
ผลงานที่ประทับใจและภาคภูมิใจอีกเรื่อง คือ การที่มีโอกาสร่วมทำวิจัยกับพันธมิตร โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้าน “Protein Crystallography” ทำให้มีโครงส้างผลึกของเอนไซม์ต่างๆ ใน Protein Data Bank และผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติใน Nature Index
ปัจจัยที่ทำให้ผลงานสำเร็จมีอะไรบ้าง
ความสำเร็จมีหลายปัจจัยประกอบกัน ปัจจัยสำคัญแรกคือทีมวิจัยและความมุ่งมั่นของทีมวิจัยที่เดินไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน บวกกับทรัพยากรด้านวัตถุ เช่น เงินทุน เครื่องมือต่างๆ
ปัญหาและอุปสรรค หรือความท้าทายที่พบในการทำงาน และวิธีการรับมือ
แน่นอนในเส้นทางของงานวิจัยปัญหาและอุปสรรคเป็นสิ่งที่ทีมวิจัยต้องรับมืออยู่เสมอ สิ่งนี้เป็นความท้าทายที่พวกเราต้องรับมือให้ได้ โดยทั่วไปการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ ก็ต้องใช้ความสามารถ ความเพียร ความอดทนและความตั้งใจ สิ่งใดไม่รู้ต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อช่วยขบวนการคิด การทดลองทุกการทดลองเป็นข้อมูลสำคัญในการแก้ไขและปรับปรุงงานต่อๆ ไป
มีแนวทางในการสร้างเครือข่ายเพื่อผลักดันงานวิจัยอย่างไรบ้าง
ด้วยความเชี่ยวชาญด้าน “Protein Crystallography” ที่ยังมีไม่มากในประเทศไทย จึงได้รับโอกาสในการร่วมงานกับพันธมิตรจากหลายหน่วยงาน
มีแนวทางในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่น้อง ๆ ในทีมอย่างไรบ้าง
พยายามปลูกฝังแนวความคิดให้น้อง ๆ โดยเริ่มต้นจาก หัวข้อถึงแม้ว่าจะเป็นการทดลองเล็ก ๆ เพียง 1 การทดลอง ทุกอย่างจะต้องเริ่มจาก 1. การตั้งหัวข้อให้รู้ว่ากำลังจะทำอะไร 2. สิ่งที่อยากจะได้คืออะไร 3. ตอบโจทย์ในภาครวมของโครงการวิจัย ซึ่งในที่สุดแล้วอยากให้น้องๆ สามารถพัฒนาทักษะขบวนการคิด (critical thinking) ได้
ความประทับใจต่อองค์กร สวทช.
30 กว่าปีที่ทำงานที่ไบโอเทค สิ่งที่ประทับใจมาก ๆ คือมิตรภาพของเพื่อนๆ ที่ไบโอเทค ทุกคนมีความเป็นมิตรอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นบรรยากาศการทำงานที่เกื้อหนุนมาก
เตรียมตัวก่อนเกษียณและวางแผนหลังเกษียณไว้อย่างไรบ้าง
แนวทางหลังเกษียณตั้งใจว่า จะต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อการปฏิบัติในเส้นทางที่จะละวัฎสงสาร