ทีมเนคเทค สวทช. ได้รับรางวัล “PMUC COUNTRY 1st AWARD ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ”

ดร.นพดล นันทวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG) และทีมวิจัยเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ (TRT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับรางวัล PMUC COUNTRY 1st AWARD โครงการวิจัยและพัฒนา “แพลตฟอร์มเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจวัดขั้นสูงของประเทศไทย” จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายในงาน “อว. แฟร์ 2567: SCI-POWER For Future Thailand” เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค ร่วมแสดงความยินดี โดยมี นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล พร้อมด้วย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข.

โดย บพข. ได้จัดให้มีการมอบรางวัล “PMUC COUNTRY 1st AWARD ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ” ให้แก่ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจาก บพข. ที่เกิดขึ้นในครั้งแรกของประเทศไทย และมี Impact ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากผลงานกว่า 1,600 โครงการ มีนักวิจัยและผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกรวม 13 โครงการ

“แพลตฟอร์มเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจวัดขั้นสูงของประเทศไทย”
ทีมวิจัยได้ทำการเสริมศักยภาพจากงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์เพื่อรองรับการขยายผลเชิงพาณิชย์ไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจวัดขั้นสูงของประเทศไทย โดยการนำร่องพัฒนา 2 เทคโนโลยี ได้แก่

อุปกรณ์รับและส่งสัญญาณเทระเฮิรตซ์เสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสง PCA (Tera-Ant)

หนึ่งในวิธีการผลิตอุปกรณ์รับและส่งสัญญาณย่านเทระเฮิรตซ์นี้ ได้แก่ เสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสง หรือ PCA (Photoconductive antenna) ซึ่งอาศัยหลักการกำเนิดและรับสัญญาณเทระเฮิรตซ์จากกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนในระยะเวลาสั้น ๆ บริเวณเสาอากาศที่จะมีคุณสมบัติเป็นตัวนำเมื่อได้รับแสงจากเลเซอร์ คุณสมบัติของวัสดุจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนา PCA โดยในปัจจุบัน PCA ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในเครื่องวิเคราะห์สเปกตรัมสัญญาณเทระเฮิรตซ์แบบโดเมนเวลา (THz time-domain spectroscopy: THz-TDS)
เครื่องวิเคราะห์สเปกตรัมสัญญาณเทระเฮิรตซ์แบบโดเมนเวลานี้สามารถนำไปใช้ในตรวจวัดสเปกตรัมชนิดของสารหรือวัสดุ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวของสารแต่ละชนิด สามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติและการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ย่านสัญญาณเทระเฮิรตซ์อื่น ๆ ได้ เช่น การทำงานของอุปกรณ์รับ ปรับ และกระจายสัญญาณทางการสื่อสารสำหรับรองรับการสื่อสาร, เลนส์ กระจก หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งนับเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในการประยุกต์ใช้งานสัญญาณเทระเฮิรตซ์ในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ต่อไป

แผ่นสะท้อนเมทะเซอเฟส (TeraBoost)

ในอนาคตอันใกล้ อุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับระบบสื่อสารไร้สายขั้นสูงทั้ง 5G และ 6G เพื่อการขยายศักยภาพงานวิจัยด้าน Terahertz communication (6G and beyond) รองรับความต้องการของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านการสื่อสารในย่านเทระเฮิรตซ์ในปี 2030 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คณะผู้วิจัยจึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวโดยมุ่งเน้นการพัฒนา อุปกรณ์รับ ปรับ และกระจายสัญญาณทางการสื่อสารสำหรับรองรับการสื่อสารแบบ 5G และ 6G โดยจากการผลการทดสอบต้นแบบแผ่นสะท้อนเมทะเซอร์เฟซ บนเครือข่าย 5G NR ณ ย่านความถี่ 26 GHz พบว่า สามารถเพิ่มค่ากำลังงานสัญญาณได้สูงสุดถึง 17 dB (ประมาณ 50 เท่า) ด้วยต้นทุนติดตั้งต่ำกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันที่ใช้ตัวทวนสัญญาณ