คลิปวิดีโอย้อนหลัง
คำถาม-คำตอบจากเวทีเสวนา
เกี่ยวกับชีวภัณฑ์
Q: ปัจจัยใดที่ทำให้ชีวภัณฑ์ตายหรือไม่ได้ประสิทธิภาพ หลังจากฉีดพ่นไปแล้ว
A: อากาศร้อน แสงแดด การใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ที่เป็นชีวภัณฑ์นั้นๆ
Q: จำนวนสปอร์ชีวภัณฑ์แบบผงกับแบบสดแบบไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน
A: สปอร์ในชีวภัณฑ์แบบสดมีประสิทธิภาพจัดการกับศัตรูพืชมากกว่าแบบผงหรือแบบแห้ง แต่จะมีอายุสั้นกว่า ทนกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้น้อยกว่าแบบผง
Q: สารชีวภัณฑ์สามารถเป็นสารกลายพันธุ์ในมนุษย์ได้หรือไม่
A: อาจจะส่งผลต่อมนุษย์ ถ้าสารชีวภัณฑ์นั้นเป็นสารสกัดหรือสารพิษที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อระบบในร่างกายมนุษย์ด้วย แต่ถ้าเป็นชีวภัณฑ์ของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่มีชีวิตและผ่านการตรวจสอบพิษวิทยาแล้ว ทั้งหมดไม่มีผลต่อมนุษย์
Q: สารชีวภัณฑ์กลุ่มจุลินทรีย์เป็นอันตรายต่อตัวห้ำ ตัวเบียนและผึ้งหรือไม่
A: การเลือกชนิดและสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์มาเพื่อใช้ในการจัดการศัตรูพืช จะต้องมีการทดสอบมาก่อนแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อ ตัวห้ำ ตัวเบียน ผึ้ง รวมถึงมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Q: เชื้อชีวภัณฑ์เหล่านี้สามารถขยายจำนวนก่อนใช้งานได้หรือไม่
A: หากสามารถขยายจำนวนก่อนใช้งานได้ ผู้ผลิตจะแจ้งไว้ให้ผู้ใช้ทราบ แต่ถ้าไม่แจ้งแสดงว่าไม่สามารถขยายจำนวนได้ ควรใช้ตามอัตราที่แนะนำ
Q: พื้นที่รอบข้างใช้สารเคมีสูง สวนที่ใช้ชีวภัณฑ์จะมีปัญหาหรือไม่
A: อาจจะมีปัญหาถ้าสวนรอบข้างใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ในชีวภัณฑ์นั้นๆ สารเคมีกำจัดแมลงส่วนใหญ่ไม่มีผลต่อเชื้อสาเหตุโรคพืช ในขณะที่สารกำจัดเชื้อสาเหตุโรคพืชหลายชนิดก็ไม่มีผลต่อแมลงศัตรูพืช
Q: มีโอกาสที่ศัตรูพืชหรือโรคพืชจะดื้อต่อชีวภัณฑ์หรือไม่
A: ศัตรูพืชจะไม่ดื้อต่อชีวภัณฑ์ที่เป็นจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิต แต่มีโอกาสดื้อถ้าใช้ชีวภัณฑ์ที่เป็นสารสกัด ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ของสารที่เป็นพิษต่อศัตรูพืชที่มีความจำเพาะเจาะจงสูง
Q: สารชีวภัณฑ์กำจัดโรคพืชสามารถใช้ร่วมกับสารเคมีกำจัดแมลงได้ทุกชนิด หรือสารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงสามารถใช้ร่วมกับสารเคมีกำจัดโรคพืชได้ทุกชนิดหรือไม่
A: ใช้ร่วมกันไม่ได้ทุกชนิด ต้องศึกษารายละเอียดก่อนใช้ เนื่องจากจุลินทรีย์กำจัดแมลงบางชนิดอยู่ในกลุ่มเดียวกับจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืช เช่น ไตรโคเดอร์มาและเมธาไรเซียม เป็นเชื้อราที่สามารถถูกกำจัดได้ด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราชนิดเดียวกัน
Q: วิธีสังเกตชีวภัณฑ์ที่หมดอายุแล้ว หรือชีวภัณฑ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ (กรณีที่ไม่มีฉลากติดวันหมดอายุ)
A: มีสี กลิ่น เปลี่ยนไปจากเดิม หรือมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นปนเปื้อนให้เห็น
Q: ชีวภัณฑ์สามารถปนเปื้อนเชื้อตัวอื่นได้หรือไม่ ถ้าปนเปื้อนได้ต้องอยู่ในเกณฑ์ระดับไหนถึงเป็นที่ยอมรับได้มากที่สุด
A: ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพต้องไม่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น หรือปนเปื้อนไม่ควรเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ในชีวภัณฑ์นั้น
Q: ส่งตรวจคุณภาพชีวภัณฑ์ได้ที่ไหนบ้าง
A: หน่วยงานบริการวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน
Q: ขอทราบแหล่งที่ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ด้านการจำหน่าย
A: กองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร
Q: ปัจจุบันมีชีวภัณฑ์จำหน่ายทางอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก จะมีวิธีการควบคุมอย่างไรให้ผู้ผลิตเหล่านั้นผลิตของที่มีคุณภาพออกมาขาย มีการกำกับดูแลและบทลงโทษผู้ผลิตที่ไม่ได้คุณภาพอย่างไร
A: เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจังและผู้ตรวจ (สารวัตรเกษตร) ก็ยังมีไม่มากพอ การควบคุมให้ผู้ผลิตผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกมาขาย ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะการจะผลิตจุลินทรีย์ให้มีคุณภาพ ต้องมีสถานที่ผลิตที่สะอาด มีมาตรการกำจัดเชื้อปนเปื้อนอื่นๆ มีห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบความมีชีวิตของจุลินทรีย์ และเลือกใช้สายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่ผ่านงานวิจัยที่เชื่อถือได้โดยนักวิชาการ ศึกษาวิธีใช้เพื่อให้มีประสิทธิภาพควบคุมโรค เก็บรักษาได้เป็นเวลานาน โดยยังคงความมีชีวิตของจุลินทรีย์ไว้ หากผู้ผลิตมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับจุลินทรีย์ มีห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม และขึ้นทะเบียนกับกองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร ก็สามารถจะมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกมาขายได้ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
Q: เนื่องจากกองวัตถุมีพิษยังไม่มีมาตรฐานตรวจสอบ Mycotoxin มีวิธีการช่วยเหลือหรือแนะนำอย่างไรได้บ้าง
A: ขอทราบข้อมูลหน่วยงานที่กองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร ให้การยอมรับว่ามีมาตรฐานการตรวจสอบที่เชื่อถือได้ แล้วนำผลตรวจไปยืนยันได้
Q: กฏหมายไทยให้ขึ้นทะเบียนได้เฉพาะจุลินทรีย์เดี่ยว แต่ของบริษัทเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ ลงพื้นที่ได้ผลดีมากแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ขอความช่วยเหลือและคำแนะนำเรื่องนี้
A: ต้องทำงานวิจัยร่วมกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อประกอบการขึ้นทะเบียน โดยต้องมีแผนการทดลองและผลงานในเชิงวิชาการที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การใช้จุลินทรีย์หลายชนิดรวมกันให้ผลดีกว่าการใช้จุลินทรีย์เดี่ยวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
แหล่งที่มา/อ่านต่อได้ที่ https://www.nstda.or.th/agritec/qa-biocontrol-online/