นักวิจัยเอ็มเทค รับเหรียญรางวัล RONPAKU จาก Japan Society for the Promotion of Science (JSPS)

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ ดร.เสกสรร พาป้อง ผู้เชี่ยวชาญวิจัยจาก ห้องปฏิบัติการการประเมินวัฏจักรชีวิต หน่วยวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. รับมอบเหรียญรางวัล RONPAKU : JSPS RONPAKU Medal Award ในงาน 9th General Assembly of the JSPS Fellow Alumni Association of Thailand (JAAT) – JSPS – NRCT – RONPAKU Medal Award Ceremony ซึ่งจัดโดยหน่วยงาน Japan Society for the Promotion of Science (JSPS)

งานพิธีมอบเหรียญ RONPAKU มอบให้สำหรับนักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ซึ่งได้รับทุนวิจัยภายใต้โครงการ RONPAKU (Dissertation PhD) และได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น มอบโดย Prof. Kuniaki Yamashita, Director, JSPS Bangkok Office ถือเป็นรางวัลเกียรติยศแก่ผู้ได้รับมอบเหรียญรางวัล อีกทั้งเป็นการส่งเสริมงานวิจัยที่มีคุณภาพดีไปพร้อมกัน โดยโครงการ RONPAKU ได้รับการสนับสนุนจากองค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น (JSPS) ทั้งนี้ การมอบเหรียญรางวัลดังกล่าวได้เริ่มจัดพิธีมอบเหรียญรางวัลขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2546 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2561 มีผู้ได้รับเหรียญรางวัล RONPAKU จำนวน 2 คน

ดร.เสกสรร พาป้อง กล่าวถึงผลงานวิจัย Developing a Research Framework and Methodology of Social Life Cycle Assessment in Thailand ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า “งานวิจัยนี้ เป็นการพัฒนากรอบและวิธีการประเมินวัฏจักรชีวิตในมิติด้านสังคม (Social Life Cycle Assessment: SLCA) โดยใช้แบบจำลองการวิเคราะห์ปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Analysis Model: IOA Model) ซึ่งครอบคลุมสาขาเศรษฐกิจต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง สาขาเหมืองแร่ สาขาอุตสาหกรรมการผลิต สาขาการก่อสร้าง และสาขาบริการ ผลจากการวิจัยนี้ ได้กรอบและวิธีการประเมินวัฏจักรชีวิตในมิติด้านสังคม ตัวอย่างฐานข้อมูลด้านสังคม (เช่น การจ้างงานรวม การจ้างงานที่เปราะบาง สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น) และวิธีการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตในมิติด้านสังคม ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับนำไปใช้ในการประเมินความยั่งยืนในมิติด้านสังคมของผลิตภัณฑ์และบริการ และตัวชี้วัดความสูญเสียต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์อันเนื่องมาจากสภาพการทำงาน โดยวัดในหน่วยจำนวนปีที่สูญเสียสุขภาวะ (Disability Adjusted Life Years: DALYs) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการประเมินผลกระทบทางด้านสังคมในระดับปลายทาง (End-point impact) นอกจากนี้ ยังได้จัดทำกรณีศึกษาการประเมินผลกระทบด้านสังคมของเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อทดสอบฐานข้อมูลและวิธีการประเมินผลกระทบทางด้านสังคมที่ได้พัฒนาขึ้น”