จากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มุ่งพัฒนาหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก สารพิษ และเชื้อโรค ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ยังสามารถนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ได้พัฒนาหน้ากากอนามัยโดยใช้ 2 เทคโนโลยี ดังนี้
หน้ากากอนามัย Safie Plus
เซฟีพลัส (Safie Plus) คือหน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูง ผลิตโดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ โดยหน้ากากมีความหนา 4 ชั้น แผ่นชั้นกรองพัฒนาด้วยเทคโนโลยีการเคลือบสารไฮดรอกซีอาปาไทต์และไทเทเนียมบนเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กและจุลินทรีย์ จึงช่วยป้องกันฝุ่น PM2.5 และป้องกันสารพิษ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ รวมถึงกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้ทั้งไวรัส และแบคทีเรียเมื่อถูกแสงแดด ที่สำคัญเซฟีพลัสยังถูกออกแบบให้มีความกระชับกับใบหน้า แต่ยังหายใจได้สะดวก ไม่อึดอัด ทำให้สวมใส่ได้เป็นเวลานานปัจจุบัน หน้ากากอนามัยเซฟีพลัสผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 ได้ 99% ตามมาตรฐาน ASTM F2299 จาก TÜV SÜD ประเทศสิงคโปร์ และผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองไวรัส (Viral filtration efficiency: VFE) ได้ 99% จาก Nelson Laboratory สหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัส H1N1 (Influenza A Virus) โดยมหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับการนำไปใช้งาน ขณะนี้ได้รับการอนุมัติจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้ผลิตหน้ากากนอกการควบคุม เพื่อแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ได้ประสานขอตัวอย่างหน้ากากอนามัยเซฟีพลัส เพื่อออกแบบหน้ากากอนามัยรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับผู้ผลิตเอกชนที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตตามมาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตออกมาเพื่อทดลองใช้งานได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป