บทสัมภาษณ์นางสาวศิริวรรณ ตัณฑเวชกิจ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) สวทช. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน
ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ
ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสัมภาษณ์ นางสาวศิริวรรณ ตัณฑเวชกิจ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) สวทช. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร
ข้อมูลเบื้องต้น
- นางสาวศิริวรรณ ตัณฑเวชกิจ
- ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.)
บทบาทหน้าที่หลักในปัจจุบัน คือ รอง ผศว. กำกับดูแลสายงานด้านบริหาร สำนักงาน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ฝ่ายบริหารแผน งบประมาณ และกลยุทธ์ ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี และ งานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยต่างๆ และผู้บริหารของ สวทช. ในงานที่เกี่ยวข้อง
เทคนิคและคติประจำใจในการทำงาน
“งานส่วนใหญ่เป็นงานด้านการบริหารจัดการ เทคนิคในการทำงาน คือ ‘put the right man on the right job’ เพื่อวางคนที่มีศักยภาพเหมาะสมให้กับงานที่ได้รับมอบหมายและเติบโตไปกับองค์กร….ส่วนคติประจำใจในการทำงาน คือ ‘keep on walking…do our best’ พยายามผลักดันและขับเคลื่อนสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จและเป็นไปในทิศทางที่องค์กรต้องการ พร้อมกันกับการพยายามดูแลทีมงานให้มีความสุขในการทำงานร่วมกัน”
เทคนิคที่ใช้ในการทำงาน เชื่อมโยงกับความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาจากการปฏิบัติตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานด้านการบริหารจัดการ โดยเทคนิคสำคัญ คือ “put the right man on the right job” วางคนที่มีศักยภาพเหมาะสมให้กับงานที่ได้รับมอบหมายให้กับองค์กร ดึงศักยภาพของพนักงานและพัฒนาให้สูงสุด สามารถสร้างความสำเร็จและเติบโตไปกับองค์กร
ส่วนคติประจำใจในการทำงาน คือ “keep on walking…do our best” ก้าวไปข้างหน้าสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายอะไรก็จะพยายามผลักดันและขับเคลื่อนสิ่งนั้นให้ประสบความสำเร็จและเป็นไปในทิศทางที่องค์กรต้องการ ในขณะเดียวกันพยายามดูแลทีมงานให้มีความสุขและทำงานร่วมกันไปกับองค์กร ให้ความสำคัญการทำงานร่วมกันเป็นทีม “teamwork”
เนื่องจากเคยทำงานในบริษัทเอกชนข้ามชาติมาก่อน จึงพยายามที่จะนำประสบการณ์ต่างๆ จากการเป็นนักเคมี ที่เติบโตเป็นผู้จัดการห้องปฏิบัติการวิจัยและควบคุมคุณภาพ และผู้จัดการฝ่ายผลิตในภาคเอกชน และความรู้ทางด้านวัสดุศาสตร์และจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การที่เรียนมา มาปรับใช้ในการทำงานและขับเคลื่อนงานต่างๆ ที่ สวทช. ในขณะเดียวกันก็ต้องขอบคุณ สวทช. ที่ช่วยบ่มให้มีคติประจำใจในการทำงาน ซึ่ง อ.หริส สูตะบุตร อดีต ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เป็นหนึ่งในครูที่ให้คำสอนในการทำงานต่างๆ เช่น การถ่องแท้ การคิดถึงส่วนรวมเป็นอันดับแรก การรู้จักถาม รู้จักฟัง รู้จักแขวน รู้จักหยุดเพื่อคิดหรือตั้งสติ เป็นต้น
คติประจำใจอื่นๆ (ภาพ)
รูปที่ 1 – 2 คำสอน อ.หริส สูตะบุตร “แบ่งปันประสบการณ์การทำงาน”
รูปที่ 3 คติประจำใจอื่นๆ
รูปที่ 1 NSTDA core value และคำสอน อ.หริส สูตะบุตร
- Personal Mastery ท่านอยู่ตรงไหน วิสัยทัศน์ของท่านอยู่ตรงไหน
- Mental Models รู้ทัศนคติ และความเข้าใจของตนเองและผู้ร่วมงาน
- Shared Vision สร้างเป้าร่วมของกลุ่ม และวิธีการไปสู่เป้าร่วม
- Team Learning ปรับวิธีการประชุม การคิดร่วมกัน และการปรับแนวเข้าหากันเพื่อให้ 1+1 >
SYSTEMS THINKING รู้ระบบ คิดทั้งระบบ : ถ่องแท้, คิดถึงส่วนรวมเป็นอันดับแรก, รู้จักถาม รู้จักฟัง รู้จักแขวน รู้จักหยุดเพื่อคิดหรือตั้งสติ
สวทช. เป็นพันธมิตรร่วมทางที่ดี สู่สังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
Mission สวทช. มุ่งสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (RDDE) จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ (TT) พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน (HRD) และโครงสร้างพื้นฐาน (INFRA) ด้าน ว. และ ท. ที่จำเป็นเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีระบบบริหารจัดการภายในที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการทำงานทุกส่วน
รูปที่ 2 แบ่งปันประสบการณ์การทำงาน อ.หริส สูตะบุตร
- ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
- เรื่องระเบียบ อย่าเชื่อความจำ
- อย่าคิดว่าทำดีที่สุดแล้วเร็วเกินไป หรือกัดไม่ปล่อย
- อย่าดุใครโดยไม่จำเป็น
- ให้ผู้ที่ถูกสั่งให้ทำงาน เข้าใจเหตุผลที่ต้องทำ และเห็นด้วยว่าต้องทำ
- ช่วยคนอื่นทุกครั้งที่มีโอกาส และให้ความอบอุ่น เรื่องที่เกี่ยวกับคนต้องยอมให้เวลา ปัญหาเล็กจะได้ไม่กลายเป็นปัญหาใหญ่
- คิดถึงส่วนรวมก่อนเสมอ
- ต้องถ่องแท้
8.1 ได้ยินอะไรเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานอย่าเพิ่งเชื่อ หาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน ขอให้ใช้ระบบบวกและลบสะสม
8.2 การจะพูดจะเขียนต้องชัดเจน เข้าใจได้ง่าย
8.3 ห้ามพูดครึ่งจริงครึ่งเท็จ
8.4 อย่าทึกทัก - การแทงหนังสือต้องสื่อความหมายชัดเจนและมีข้อมูลพอให้ผู้รับหนังสือทำงานต่อได้
- ต้องรู้หลักการของกฎระเบียบสำนักงาน
- ต้องรู้งานของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาระดับรองลงไปดีพอเพื่อจะได้ให้คำแนะนำได้อย่างรวดเร็ว และต้องร่วมรับผิดชอบเมื่อมีปัญหา
- เมื่อลูกร้องมาหารือ เรื่องงานของเขา เช่น งานกฎหมาย งานพัสดุ ต้องไม่ตอบกลับว่า งานของคุณ คุณน่าจะรู้ดี มาถามผมทำไม
- พยายามรับคนดี คนเก่ง เข้ามาทำงาน ควรเลือกคนที่มีศักยภาพที่จะเก่งกว่าเราเข้าทำงาน
- succession plan เป็นส่วนหนึ่งของงานบริหาร
- เมื่อจะแก้ปัญหาต้องคิดทั้งระบบ
- แตกปัญหาใหญ่ให้กลายเป็นปัญหาย่อย แล้วแก้แต่ละปัญหา
- รู้จักถาม รู้จักฟัง รู้จักแขวน
- พยายามไม่แสดงอารมณ์
- คิดทุกคำที่พูด ไม่พูดทุกคำที่คิด หรือ “ทุกคนมีคอลัมภ์ซ้าย
- ใช้ประโยชน์จากความเห็นที่แตกต่าง
ข้อมูลจากการบรรยาย “โครงการเพิ่มพูนขีดความสามารถและเติมพลังในการทำงานสำหรับผู้บริหารระดับกลาง ประจำปี 2556”
รูปที่ 3 คติประจำใจอื่นๆ
ตัวอย่างผลงานที่รู้สึกภาคภูมิใจ
การทำงานใน สวทช. ได้รับโอกาสมอบหมายงานบริหารจัดการที่มีโจทย์ใหม่ๆ เสมอ ไม่ได้อยู่กับที่ เริ่มต้นจากเป็นผู้จัดการดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐานของ ศว. ตั้งแต่การติดตั้ง บำรุงรักษาเครื่องมือวิจัย และผลิตเครื่องมือหรืออุปกรณ์สนับสนุนให้แก่นักวิจัย ศว. ที่อาคาร สวทช. โยธี ซึ่งขณะนั้น ศว. มีห้องปฏิบัติการวิจัยแค่ 2 ชั้น และ Mechanical workshop รับผิดชอบการโยกย้ายสำนักงานและเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาที่อาคาร ศว. และอาคารโรงงานต้นแบบ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต ในปี พ.ศ. 2545 ขยายการดูแลรวมไปถึงด้านระบบสาธารณูปโภคและการบำรุงรักษาอาคาร มีการพัฒนาระบบการขอรับบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน “BES” (Building and Equipment Services Request) ซึ่งมีการนำมาใช้ทุกวันนี้ในระดับ สวทช. ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ ศูนย์พลังงานแห่งชาติ และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและขนส่งสมัยใหม่ ซึ่งนอกจากมีสำนักงานที่อาคาร ศว. และอาคารโรงงานต้นแบบ ศว. แล้วยังมีสำนักงานที่อาคาร INC2 และอาคารโรงงานต้นแบบศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) ดังนั้น ความภาคภูมิใจ คือ การพัฒนาการบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตของ สวทช. ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้บริการทุกคนใน สวทช. ทั้งสายวิจัยและสายสนับสนุน ให้สามารถทำงานร่วมกันลุล่วงด้วยดี
ระบบขอรับบริการ “BES” (Building and Equipment Services Request)
ระยะที่สองในปี พ.ศ. 2550 ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เปลี่ยนจากงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน มาดูแลด้านสนับสนุนการวิจัย ได้แก่ งานบริหารเทคโนโลยีฐาน งานบริหารด้านทุนทางปัญญา และให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดย งานบริหารเทคโนโลยีฐานมีหน้าที่ประสานงานในการให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมเทคโนโลยีฐานด้านโลหะและวัสดุทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน ตามข้อบังคับคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติว่าด้วยการให้ทุนอุดหนุนโครงการวิจัยฯ และบริหารโครงการร่วมกับเจ้าของโครงการ ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้การทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ส่วนงานบริหารด้านทุนทางปัญญามีหน้าที่รวบรวม และตรวจสอบเบื้องต้นผลงานที่ทีมวิจัยลงทะเบียนผ่านระบบ myPerformance และสนับสนุนคณะกรรมการวิชาการ ศว. ในการประเมินคุณภาพผลงานวิจัย ศว. เพื่อแสดงว่าผลงานนี้ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพในเชิงวิชาการตามเกณฑ์ของ สวทช. และดีพอที่จะผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณะ โดยทำงานด้านนี้ประมาณ 7-8 ปี บุคคลที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำด้านการให้ทุน คือ คุณวลัยทิพย์ โชติวงศ์พิพัฒน์ ผอ.CPMO (Cluster and Program Management Office) ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ คุณวลัยทิพย์ฯ หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยศูนย์แห่งชาติต่างๆ และฝ่ายกฎหมาย หารือข้อบังคับการให้ทุน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกันปรับแก้สัญญาให้ทุนอุดหนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง สวทช.
ระยะที่สามในปี พ.ศ. 2558 ได้รับมอบหมายให้เป็นรองผู้อำนวยการ ศว. ซึ่งมีโจทย์ใหม่ เช่น งานด้านพัสดุ งานด้านสำนักงาน และประชาสัมพันธ์ เปลี่ยนจากด้านสนับสนุนการวิจัยฯ ที่เคยได้รับมอบหมาย มาดูแลสายงานด้านบริหารสำนักงาน ได้แก่ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ฝ่ายบริหารแผน งบประมาณ และกลยุทธ์ ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี และ งานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
โจทย์และโอกาสที่ได้รับมอบหมายเสมอเป็นความภาคภูมิใจ เพราะตนเองจะต้องปรับตัวและเปิดใจกว้างสำหรับการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถรับโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทาย ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ภายใต้สายบังคับบัญชาที่เข้าใจกัน มีความสุข และเติบโตไปกับองค์กร
วิธีการจัดการความท้าทายในการทำงาน
“ความท้าทายส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเข้าไปรู้จักงานและรู้จักคน คำว่ารู้จักคน คือ รู้จัก 360 องศา คือ รู้จักลูกน้อง รู้จักลูกพี่ รู้จักลูกค้า และรู้จัก stakeholder เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานที่ได้รับการมอบหมายไปสู่ความสำเร็จได้ โดยมีวิธีการจัดการความท้าทายในการทำงาน คือ เรียนรู้และถ่องแท้ในงาน ยืดหยุ่น และเปิดใจกว้าง”
ความท้าทายส่วนใหญ่ของตนเองจะเป็นเรื่องของการเข้าไปรู้จักงานและรู้จักคน คำว่ารู้จักคน คือ รู้จัก 360 องศา คือ รู้จักลูกน้อง รู้จักลูกพี่ รู้จักลูกค้า และรู้จัก stakeholder ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานที่ได้รับการมอบหมายไปสู่ความสำเร็จได้
จากประสบการณ์ที่ได้รับโอกาสมอบหมายในการทำงานที่แตกต่างกันในตลอดช่วงชีวิต สิ่งแรกสำหรับการจัดการความท้าทายในการทำงาน คือ การเปิดใจกว้าง แต่เปิดใจกว้างอย่างเดียวไม่พอ สาระสำคัญ คือ การจะประสบความสำเร็จในงานใดงานหนึ่งได้ต้องถ่องแท้ในงานนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำอันดับแรกคือต้องเรียนรู้งาน รวมถึงต้องยืดหยุ่นด้วย เนื่องจากตัวเราเป็น newcomer หรือ สมาชิกใหม่ ในแต่ละงานมีคนที่อยู่มาก่อน ดังนั้นเราต้องเรียนรู้จากคนทำงานระดับปฏิบัติการว่าระดับหน้างานเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะช่วยให้ดีขึ้นได้อย่างไร มุ่งจะมาเพื่อช่วยพัฒนา ไม่ได้มาเพื่อกำกับ การดูแล และการจัดการที่ดีจะเป็นผลหลังจากนั้น
การบริหารจัดการการทำงานในสถานการณ์ COVID-19
หมวกที่ 1 คือทำหน้าที่เป็น BCP core team ที่มองภาพรวมที่จะทำให้องค์กรดำเนินการไปได้อย่างไร โดยมีทีมทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันคิดมาตรการต่างๆ ออกมาเป็นระยะ และออกแบบวิธีการทำงาน ซึ่งจะมีมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม ในแต่ละช่วงของสถานการณ์ COVID-19 ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ช่วงสูงสุด จนถึงช่วงคลี่คลาย (calm down) ของการระบาด ซึ่งพยายามปรับมาตรการป้องกันต่างๆ ไปตามบริบทที่เกิดขึ้น เพื่อให้หน่วยงานยังสามารถทำงานไปได้ เช่น work from home และการเข้ามาทำงานในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสรุนแรง ต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ทีมวิจัยยังสามารถทำงานได้ภายใต้การออกมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้อง ดูแล และป้องกันบุคลากรของ สวทช. โดยเฉพาะของ ศว. และหน่วยงานภายใต้กำกับ
หมวกที่ 2 คือการเป็นรองผู้อำนวยการ ศว. ที่กำกับดูแลสายงานด้านบริหาร ซึ่งเป็นสายสนับสนุน หรือ คนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ต้องทำให้งานสามารถเดินไปได้ สามารถสนับสนุนทีมวิจัยให้ทำงานได้ ถ้ามองเป็นโอกาสก็เป็นจังหวะพอดีที่มีนโยบายทิศทางในอนาคตมุ่งสู่การทำงานด้าน digitalization มากขึ้น จึงพยายามสื่อสารทีมงานว่า two in one คือ ดูแลตัวเองด้วย แล้วก็ reskill และ upskill ตัวเองไปหาทิศทางใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นปัจจุบันการทำงานแบบ work from home สามารถออกแบบการทำงานด้านต่างๆ เช่น ด้านพัสดุ ด้านสำนักงาน และการจัดประชุมผ่านระบบดิจิทัล และส่งมอบงานได้แม้ว่าจะอยู่ที่บ้าน หรือนอกสำนักงาน ในส่วนการบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก็พยายามให้ทีมงานเตรียมพร้อม (standby) ถ้าทีมวิจัยมีความจำเป็นต้องเข้าพื้นที่จะต้องดูแลอย่างไร
ยังได้เรียนรู้จากสถานการณ์ COVID-19 คือ ในอนาคตการทำงาน work from home อาจจะเหมาะกับงานบางงาน เช่น งานด้านประชาสัมพันธ์ เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานอยู่ในสำนักงาน แต่สิ่งสำคัญคือการมีวินัยในการทำงานและวางแผนงานให้ได้ตามที่ออกแบบไว้ นอกจากนี้แม้ว่า COVID-19 จะจบไปก็ไม่ได้หมายความว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลับเป็นเช่นเดิม แต่กลายเป็น new normal practice ไปเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันนี้งานด้านพัสดุที่ดูแลก็ไม่ใช้เอกสารกระดาษ (hard copy) ทุกอย่างดำเนินการผ่านระบบดิจิทัล
ฉะนั้น COVID-19 ก็ให้อะไรหลายอย่างในเชิงของการพัฒนาการทำงาน เป็นตัวขับเคลื่อนและเร่งการทำงานที่เป็น digitalization ให้เร็วขึ้น เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ทีมงานตระหนักเรื่อง upskill และ reskill รวมถึงเป็นเครื่องมือพัฒนาตัวเอง เช่น การประชาสัมพันธ์หรือการจัดฝึกอบรม จัดประชุมสัมมนา ซึ่งพร้อมจะเป็น hybrid, online และ onsite สังเกตเห็นจากงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ปัจจุบันยืดหยุ่นมาก เพราะฉะนั้นเชื่อมั่นว่าทีมงานพร้อมรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนในเรื่องความปลอดภัยของทีมงานจาก COVID-19 นั้น พยายามสื่อสารเสมอว่าสาระสำคัญ คือการป้องกันตัวเอง ต้นทุนสำคัญที่ถูกที่สุดคือการป้องกันตัวเองและดูแลครอบครัว เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากากอนามัย การหมั่นล้างมือ และการพยายามไม่ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง
แนวทางในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้ทีมงาน
ความเชี่ยวชาญที่คิดว่าตนเองมีคือเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งอยากถ่ายทอดให้กับทีมงาน สิ่งที่ออกแบบไว้คือการกลับไปมองกระบวนการและกลไกการทำงานทั้งหมดใน ศว. ที่กำกับดูแล แล้วพยายามตั้ง core team ในแต่ละเส้นทางของการบริหารจัดการ
การบริหารจัดการพื้นที่วิจัย เนื่องจากเราคงไม่สามารถมีพื้นที่ทำงานมากไปกว่าที่มีอยู่ ขณะที่งานวิจัยก็เข้ามาตลอด จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนทำงานสามารถทำงานบนข้อจำกัดเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำคือพยายามสร้างกลไกและการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ แล้วนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่วมกันทำงานแบบ process based
การบริหารจัดการจัดซื้อจัดจ้าง มีความสำคัญเนื่องจากการได้มาซึ่งครุภัณฑ์หนึ่งๆ มีกระบวนการหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานร่วมกับทีมวิจัย ตั้งแต่งานนโยบายและแผน งานสนับสนุนการวิจัย งานจัดซื้อจัดจ้าง งานด้านโครงสร้างพื้นฐาน จนถึงงานการเงิน สิ่งที่ทำก็คือตั้ง core team ที่เกี่ยวข้องมานั่งประชุมรวมกันทุกสัปดาห์ ไล่เรียงการจัดหาแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ ว่ามีประเด็นหรือปัญหาหรือไม่ เพื่อหารือแก้ปัญหาและจัดการปัญหาร่วมกันโดยทลายกำแพงของงานออก คือบางครั้งเวลาทำงานจะมีข้อต่อของงานซึ่งบางทีไม่รู้กันทำให้เกิดช่องว่างและเสียโอกาสไป ดังนั้นการมานั่งคุยและพิจารณาร่วมกันแต่ละขั้นตอนของกระบวนการเพื่อให้เดินไปโดยที่ไร้รอยต่อ เป็นสาระสำคัญที่ต้องการ
ในช่วงแรกตนเองเป็นประธานการประชุม แต่มีเป้าอยู่แล้วว่าคนที่จะเป็นประธานคนถัดไปคือใคร โดย 3 เดือนแรกช่วยกันนำ (lead) แล้วก็พยายามที่จะกำกับและใส่ประเด็นปัญหาให้ทีมงานเรียนรู้ ผ่านไป 3 เดือนก็เริ่มคุยกับทีมงานคนที่คิดว่าจะให้ขึ้นมานำ ส่วนตัวเองนั้นก็ขยับมาเป็นที่ปรึกษา โดยพยายามถ่ายทอดประสบการณ์ว่าจะต้องคิดและพิจารณาสิ่งใดบ้าง เพื่อเติมเต็มให้ทุกคนตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่าย ในทุกระดับ เพราะการบริหารจัดการตรงนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องตำแหน่ง แต่ให้ความสำคัญคนที่เป็น core team ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
คนที่ขึ้นมานำต้องได้รับการยอมรับ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้จะเป็นช่วงบ่มเพาะด้วย แต่ด้วยลักษณะของพนักงาน ศว. เป็นคนที่น่ารักอยู่แล้ว คุยกันแบบตรงไปตรงมา ช่วยกันทำงาน เป็นพี่เป็นน้องกัน เพราะฉะนั้นการประชุมที่ไม่เป็นทางการแต่หวังผลเป็นทางการ
หลักการที่พยายามถ่ายทอดตอนนี้ คือ พยายามมองในเชิงบริหารจัดการ มองเป็น process based และบ่มเพาะคนทำงานทุกระดับ เพื่อให้ทำงานร้อยเรียงกันเพื่อไร้รอยต่อ
การเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุ
“Future oriented คือ การพยายามเตรียมการณ์ในอนาคตเสมอในทุกเรื่อง โดยเรื่องที่เตรียมตัวก่อนเกษียณอายุ คือ อิสระทางการเงิน และ อิสระทางการงาน”
เดิมทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนที่เป็นบริษัทข้ามชาติ บริษัทสแกนดิเนเวีย ซึ่งโดยวัฒนธรรมของบริษัท คือ future oriented สิ่งที่ได้จากบริษัทและฝังอยู่ในตัวเอง คือ การพยายามเตรียมการณ์ในอนาคตเสมอในทุกๆ เรื่อง หนึ่งในเรื่องที่นอกเหนือจากเตรียมการในส่วนของงาน คือชีวิตตัวเอง
เป้าหมายหลักที่เคยคิดเอาไว้เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้วสำหรับการเกษียณ คือ อิสระทางการเงิน เพราะถ้ามีอิสระทางการเงิน จะทำให้ตนเองมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการชีวิตได้ดี เพราะฉะนั้นเวลาที่เงินเดือนเข้ามาในแต่ละเดือนจะวางแผนเสมอว่าเงินส่วนไหน ใช้กองไหน เพื่ออะไร และจะต้องเก็บไว้เท่าไรเพื่ออนาคต แต่ต่อให้วางแผนเช่นนี้ตอนทำงานระยะแรกก็ไม่ได้มองบริบทรอบตัว สิ่งที่อยากจะฝาก คือ ในชีวิตจริงต้องมองเพื่อตัวเองและครอบครัวไปด้วยกัน อย่าเตรียมเพื่อตัวเองเพียงเท่านั้นเพราะในชีวิตจริงมีโจทย์มากกว่านั้น
สวทช. ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชน ดังนั้นการดูแลตอนเกษียณของ สวทช. จะไม่เหมือนที่อื่น โดยอยู่ในรูปของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นเงินเก็บที่เป็นทางการ แต่เงินเก็บที่ไม่เป็นทางการอยู่ที่แต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นต้องวางแผนการใช้จ่ายให้ดี
อันดับสอง คือ อิสระทางการงาน หมายถึงเมื่ออายุมากขึ้นต้องรู้ว่าบทบาทของตัวเอง สิ่งที่ต้องทำ คือ การดูแล มอบหมาย และส่งต่อให้คนที่อยู่ข้างหลังสามารถดำเนินงานต่อไปได้ เราถึงจะเป็นมืออาชีพ เพราะฉะนั้นไม่ได้มองที่ตัวเองจะเติบโต แต่มองที่จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ข้างหลังเติบโตไปได้ไม่ว่าองค์กรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คนทำงานก็มีความรู้ติดตัว มีทักษะ และเติบโตไปกับองค์กร ซึ่งจะทำให้หน่วยงานต่างๆ เดินหน้าไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนเดิม
ส่วนตัวเองภายหลังเกษียณ หวังจะดำเนินชีวิตแบบพอเพียงตามคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วยสังคมบ้างเมื่อมีโอกาส ได้ท่องเที่ยวพักผ่อนไปในที่ต่างๆ ได้รู้จักวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้น ได้อ่านหนังสือดีๆ ที่เก็บไว้ และอยู่กับต้นไม้กับความพอเพียงรอบๆ ตัวอย่างมีความสุข ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้เตรียมบ้านเรียบร้อยแล้วพร้อมที่จะอยู่แบบเกษียณอย่างมีความสุข ถึงแม้ยังมีภาระต้องดูแลคุณแม่ ซึ่งคิดว่าโดยสิ่งที่ดูแลตัวเองมาตลอดเวลาก็น่าครอบคลุมและอยู่แบบพอเพียงได้
นอกเหนือจากนี้อีกสิ่งที่ต้องเตรียมการณ์ คือ สุขภาพ ต้องคอยดูแลสุขภาพตัวเองเสมอ เพราะสุขภาพจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต ต้องพยายามดูแล เข้าใจ และรักษาระดับสุขภาพของตนเอง ต้นทุนที่ถูกที่สุดคือการออกกำลังกาย รวมถึง work-life balance จริงๆ คือสร้างสมดุลระหว่างที่ทำงาน ครอบครัว และให้ตัวเอง
ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานใน สวทช.
“ตลอดระยะเวลาการทำงานใน สวทช. 23 ปี สวทช. เป็นหน่วยงานที่เต็มไปด้วยคนดี คือ คนที่มุ่งมั่นจะทำงานให้ประสบความสำเร็จเพื่อประเทศชาติ โดย สวทช. เป็นหน่วยงานซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญของประเทศในการที่จะผลักดันให้ประเทศก้าวหน้ายั่งยืนด้วยงานวิจัย”
สวทช. เป็นหน่วยงานที่นอกจากเต็มไปด้วยคนเก่งแล้ว สวทช. เป็นหน่วยงานที่เต็มไปด้วยคนดี เชื่อมั่นอย่างนั้นจริงๆ ตลอดเวลา 23 ปีที่ทำงานที่นี่ คำว่า คนดี นี้ ไม่ได้ดูที่วุฒิการศึกษาแต่คือคนที่เราสัมผัสแล้วรู้สึกว่าเป็นคนที่มีเจตคติหรือแนวคิดในการมุ่งมั่นทำงานให้ประสบความสำเร็จเพื่อประเทศชาติ โดย สวทช. เป็นหน่วยงานซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญของประเทศในการที่จะผลักดันให้ประเทศมีอนาคตในระยะยาวด้วยงานวิจัย
ส่วนสิ่งที่ตนเองได้รับจาก สวทช. ซึ่งรู้สึกประทับใจ คือ “work-life balance” หมายถึง แม้ต้องทำงานหนักเหมือนเช่นเดิมที่เคยทำในที่ทำงานเก่า แต่ก็มีเวลาในการที่จะดูแลครอบครัว โดยที่งานก็ยังประสบความสำเร็จตามที่มุ่งมั่น
สวทช. ยังให้โอกาสในการใช้ศักยภาพที่มีในการทำงาน ตั้งแต่การเป็นผู้จัดการดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐาน ผอ.ฝ่ายดูแลด้านสนับสนุนงานวิจัยฯ และการเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยที่ดูแลสายงานด้านบริหารสำนักงาน รวมถึงรู้สึกสนุกสนานกับการทำงานที่นี่ และรักทุกคนที่อยู่รอบตัว เพราะว่าทุกคนเป็นคนดี
รูปที่ 5 -9 work-life balance
ภาพ สวทช. ที่อยากเห็น ในอนาคต
ภาพ สวทช. ที่อยากเห็นในอนาคต ตอบค่อนข้างยาก เพราะปัจจุบัน สวทช. มีบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากเห็น คือ การบริหารจัดการคน
สวทช. ต้องการวางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับงานวิจัยของประเทศ โดย สวทช. ประกอบไปด้วยนักวิจัยเก่งๆ จำนวนมาก เพราะฉะนั้นสาระสำคัญ คือ งานวิจัยไม่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาอันสั้นแต่ต้องการความต่อเนื่อง ซึ่งสินทรัพย์ (asset) ที่สำคัญต่อเนื่องของงานวิจัย คือ คน ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อรักษาคนเก่งไว้ ทั้งสายวิจัยและสายสนับสนุน
คนเก่งในอนาคตไม่ใช่คนเก่งในอดีตที่อาจมีความพร้อมทางครอบครัว ซึ่งบริบทของ สวทช. นั้น ไม่มีข้อได้เปรียบเช่นเดิมในอดีต เช่น สวัสดิการ หรือ เงินบำเหน็จบำนาญ ฉะนั้นสิ่งที่ สวทช. ต้องบริหารจัดการคือกำลังคนในอนาคต ซึ่งคนอาจจะเข้ามาไวและไปไว ช่วงอายุการทำงานของคน สวทช. อาจจะสั้นไม่เหมือนในอดีตที่อยู่ทำงานจนเกษียณ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ระหว่างที่อยู่สร้างสรรค์ผลงานให้กับ สวทช. และเมื่อจากไปยังคงเป็น partner และ stakeholder ที่ร่วมงานกับ สวทช. ได้ ในทำนองเดียวกันจะทำอย่างไรเพื่อรักษาคนที่เป็น core business ของ สวทช. อยู่กับ สวทช. จนกระทั่งองค์กรประสบความสำเร็จ เป็นความท้าทายของผู้บริหารในอนาคต
นอกจากนี้ “put the right man on the right job” อาจจะไม่พอ อาจจะต้อง “put the right man on the right job และ on the right time” ให้ได้
สวทช. ต้องเข้าใจและวางบริบทในการบริหารจัดการคนที่ดี ปัญหาไม่ได้มีอะไรที่ยาก ทุกคนสามารถก้าวผ่านไปได้ หากรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ใดแล้วลงไปแก้ที่จุดนั้น