ดร.ศิโรจน์ ศิริทรัพย์ หัวหน้าทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบคุณประโยชน์ให้แก่การประปานครหลวง (กปน.) ประจำปีงบประมาณ 2564 กรณีบุคคลภายนอก หรือกลุ่มบุคคลภายนอก จากผลงานวิจัย “รักษ์น้ำ”
เมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2565 ณ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานใหญ่ การประปานครหลวง (กปน.) ดร.มารุต บูรณรัช ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG) ตัวแทนคณะผู้บริหาร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ ดร.ศิโรจน์ ศิริทรัพย์ หัวหน้าทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (DSS) กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG) เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบคุณประโยชน์ให้แก่การประปานครหลวง (กปน.) ประจำปีงบประมาณ 2564 กรณีบุคคลภายนอก หรือกลุ่มบุคคลภายนอก
โดย ดร.ศิโรจน์ฯ ได้พัฒนาระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์เพื่อการบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม หรือเรียกกว่า “ระบบรักษ์น้ำ” ซึ่งการประปานครหลวงได้นำระบบดังกล่าวมาใช้งานตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
ในโอกาสนี้ คณะผู้บริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร. ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร และ ดร.อลิสา คงทน รองผู้อำนวยการ NECTEC ร่วมแสดงความยินดีกับ ดร. ศิโรจน์ฯ ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวอีกครั้ง ณ ห้องผู้บริหาร อาคารเนคเทค
ข้อมูลผลงานวิจัย รักษ์น้ำ : ระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์เพื่อการบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม
ฝ่ายทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม การประปานครหลวง เสนอชื่อ ดร.ศิโรจน์ ศิริทรัพย์ เข้ารับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบคุณประโยชน์ให้แก่ การประปานครหลวง ประจำปีงบประมาณ 2564 กรณีบุคคลภายนอก หรือกลุ่มบุคคลภายนอก อีกทั้งยังนำผลการพยากรณ์ค่าความเค็มของระบบรักษ์น้ำ มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Anti Salanity Tools (ANSAT) ที่สถานีสูบน้ำดิบสำหรับใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจ ในการหลบเลี่ยงน้ำเค็มจนได้ผลดีตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้บริหารของการประปานครหลวง ยังใช้ข้อมูลจากระบบรักษ์น้ำ วางแผนแก้ไขสถานการณ์ รวมถึงสื่อสารกับผู้ใช้น้ำให้ทราบล่วงหน้าด้วย
“ระบบรักษ์น้ำ” สามารถพยากรณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งผลการพยากรณ์มีความแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าสถานีสูบน้ำดิบสำแลที่ ดร. ศิโรจน์ฯ ได้ให้ความสำคัญ และปรับโมเดลให้แม่นยำมากที่สุด ซึ่งการพยากรณ์ค่าความเค็มช่วยให้ กปน. สามารถเตรียมรับสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำได้อย่างทันท่วงที
การแสดงข้อมูลน้ำ ณ ปัจจุบัน และการพยากรณ์ความเค็มครอบคลุมทั้งลำน้ำล่วงหน้า 7 วัน พร้อมสามารถทดลองบริหารจัดการน้ำเพื่อวางแผนช่วยสนับสนุนการตัดสินใจก่อนลงมือจริง ทั้งหมด คือ ไฮไลท์เด่นของระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์เพื่อการบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม หรือ ระบบรักษ์น้ำ (RakNam)
สามารถดูข้อมูลพยากรณ์น้ำทางระบบรักษ์น้ำ https://chaophraya.lsr.nectec.or.th/