คณะรัฐมนตรีมีมติ
๑. รับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้
๑.๑ เห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ท ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ในส่วนของแนวทางการบริหารกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ พ.ศ. …. จากการบริหารและดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการบริหารและดำเนินงานโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
๑.๒ เห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ในส่วนของการจัดตั้งและดำเนินการเมืองนวัตกรรม (Food Innopolis) จากการบริหารและดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นการบริหารและดำเนินงานโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
๑.๓ รับทราบหลักการการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยรวมภารกิจดังกล่าวให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานเดียวคือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวมีเอกภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ เมื่อรวมภารกิจดังกล่าวเข้าด้วยกันแล้วจะทำให้มีรูปแบบการดำเนินการในลักษณะ Platform ที่บูรณาการทั้งประเทศ (Nationwide Cross-Cutting Platform) ภายใต้กลุ่มบริหารและส่งเสริมเขตนวัตกรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างใหม่ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยบูรณาการการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมของประเทศ ตั้งแต่การกำหนดทิศทางและออกแบบนโยบายในภาพรวมที่สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การกำกับดูแลและการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงบูรณาการการขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหารและคลัสเตอร์นวัตกรรมอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
๒. ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติรับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นควรให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติรับไปดำเนินการ เช่น การพัฒนากลไกความเชื่อมโยงการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญภายใต้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เครื่องมือการทดลองวิจัย เป็นต้น และควรจัดทำแผนการจัดการงบประมาณ บุคลากร ภารกิจ และทรัพยากรอื่น ๆ ให้มีความชัดเจนเพื่อให้การรวมภารกิจการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เป็นอุปสรรคและเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) ต่อการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในอนาคต เช่น ภาระทางด้านการเงินการคลัง และการขาดแคลนบุคลากร เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย