สท.-ไบโอเทค ผนึกพันธมิตร ส่งต่อความรู้ “การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จังหวัดชลบุรี และศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี จัดกิจกรรมอบรม “การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์” ณ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านมาบชโอน ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี และผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีนายปัญญา ประดิษฐสาร เกษตรจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดงานและบรรยายในหัวข้อ “ทิศทางตลาดทุเรียนปลอดภัย” และมีทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมชีวภาพ ไบโอเทค เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่อง “การใช้ชีวภัณฑ์และคู่มือปฏิบัติงานเบื้องต้นในสวนทุเรียน” “การสำรวจและควบคุมแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียน” และ “การควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในสวนทุเรียนด้วยราไตรโคเดอร์มา”

นายปัญญา ประดิษฐสาร เกษตรจังหวัดจันทบุรี
ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมชีวภาพ ไบโอเทค
น.ส.รัศมี หวะสุวรรณ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมชีวภาพ ไบโอเทค
น.ส.จีรภา ปัญญาศิริ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมชีวภาพ ไบโอเทค

กิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเข้าร่วม ณ สถานที่จัดงานกว่า 90 คน โดยได้ฟังบรรยายจากวิทยากรและเรียนรู้ผ่านฐานกิจกรรมการใช้และผลิตชีวภัณฑ์เบื้องต้น การสำรวจโรคพืชในสวนทุเรียน และการสำรวจแมลงศัตรูและศัตรูธรรมชาติในสวนทุเรียน นอกจากนี้ยังมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าอบรมผ่านช่องทางออนไลน์กว่า 260 คน

การใช้ชีวภัณฑ์และคู่มือปฏิบัติงานเบื้องต้นในสวนทุเรียน
การสำรวจและควบคุมแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียน
การควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในสวนทุเรียนด้วยราไตรโคเดอร์มา

การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based): การจัดการทำแบบมาตรฐานจัดการศัตรูพืช (Standard Operating Procedure: SOP) โดยใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานในพืชเศรษฐกิจ: ทุเรียน” ซึ่งได้รวบรวมองค์ความรู้เป็น SOP คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อช่วยให้เกษตรกร ดูแลรักษาทุเรียน จากโรคและแมลงศัตรู โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าที่เป็นปัญหาร้ายแรง รวมถึงส่งเสริมให้ใช้ชีวภัณฑ์อย่างเหมาะสม ถูกวิธี และถูกเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ตามการระบาดของศัตรูพืช ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีและลดปัญหาการตรวจพบสารเคมีตกค้าง ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับทุเรียนสู่ตามมาตรฐานส่งออก

ที่มาข้อมูล/ภาพ https://www.nstda.or.th/agritec/sop-durian-chantaburi/