บทสัมภาษณ์ ดร.ศรีเมฆ ชาวโพงพาง ผู้เชี่ยวชาญเทคนิคอาวุโส ทีมวิจัยธนาคารพืช ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานกลาง สวทช. เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2565 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน
ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ
ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่
สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสัมภาษณ์ ดร.ศรีเมฆ ชาวโพงพาง ผู้เชี่ยวชาญเทคนิคอาวุโส ทีมวิจัยธนาคารพืช ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานกลาง สวทช. เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2565 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร
ข้อมูลเบื้องต้น
- ดร.ศรีเมฆ ชาวโพงพาง
- ตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเทคนิคอาวุโส ทีมวิจัยธนาคารพืช (NBPB) ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) สำนักงานกลาง (CO) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
แนะนำตัวเอง
เริ่มทำงานที่ สวทช. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ถึงวันนี้ทำงานที่ สวทช. มา 5 ปี 5 เดือน เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ในส่วนการออกแบบและวิศวกรรม ทำงานได้ 2 ปีกว่า รู้สึกว่าประชุมเยอะเกินไป [หัวเราะ] การทำงานอาจจะ ไม่ถูกโฉลกกับเรามากนัก จึงขอเปลี่ยนไปทำงานในตำแหน่งอื่น
ได้ย้ายไปทำงานที่ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเทคนิคอาวุโส งานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พันธุกรรมของพืชเป็นหลัก เมล็ด เนื้อเยื่อ และส่วนอื่นที่สามารถขยายพันธุ์ได้ การทำงานกับพืชค่อนข้างยากเนื่องจากเมล็ดพืชบางชนิดสามารถเก็บได้ แต่บางชนิดไม่สามารถเก็บได้ นี่คือปัญหาหลักของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช พืชบางชนิดไม่ผลิตเมล็ดเราต้องใช้ระบบ tissue culture เข้ามาช่วย โดยงานจะเริ่มตั้งแต่การจัดเก็บเมล็ดพืชที่สามารถเก็บได้ เป็นการจัดเก็บใน ระยะยาวเป็นเวลา 10-20 ปี โดยเก็บรักษาในอุณหภูมิ -10 หรือ -20 องศา หรือจัดเก็บในอุณหภูมิห้อง เมล็ดพืชที่ไม่สามารถเก็บได้ จะใช้ระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จัดเก็บ และหาวิธีการจัดเก็บให้ได้ในระยะยาวโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนอาหารเลี้ยงเนื้อเยื่อบ่อย ส่วนพืชที่ไม่มีเมล็ดจะใช้วิธี tissue เช่นกัน เมล็ดพืชที่ตกแล้วขึ้นเลย เมล็ดแห้งไม่ได้เป็นพวก recalcitrant จะมีกระบวนการจัดเก็บอีกลักษณะหนึ่ง
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบหลัก คือ การเก็บเมล็ดระยะยาว เมล็ดแห้ง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ดังนั้น งานที่รับผิดชอบจะเป็นงานด้านพืชเป็นหลัก
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิจัย และแนวคิดสำคัญในการดำเนินงาน
จุดเริ่มต้นในการทำงานด้านการวิจัยและเป็นนักวิจัย คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ทำงานอยู่ที่ Plant Engineering Unit มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เริ่มงานเป็นนักวิจัย ทำงานด้านการตัดแต่งพันธุกรรมของพืชมะละกอที่ต้านทานโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน
การทำงานเริ่มจากการตีโจทย์ที่ได้รับมาว่าเป็นอย่างไร กระบวนการในการที่จะเข้าถึงจุดหมายปลายทางของวัตถุประสงค์จะใช้วิธีการใด ช่วงเริ่มเป็นนักวิจัยทำวิจัยเรื่องมะละกอ จะต้องใช้กระบวนการหลายอย่างเข้ามาช่วยตั้งแต่ tissue culture การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ (tissue) ต่างๆ ของต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้พร้อมรับยีนที่จะส่งเข้าไป ในส่วนของการยิงยีนเข้าไปในต้นไม้จะใช้วิธีใด ช่วงที่ทำการวิจัยในปี พ.ศ. 2538 เทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่ทันสมัยเท่ากับในปัจจุบันนี้ จึงต้องคิดกระบวนการต่างๆ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ จนได้ต้นมะละกอที่ต้านทานโรคไวรัสจุดด่างวงแหวน
จากผลสำเร็จก็ยังคงมีปัญหาต่อเนื่องในเรื่องของพืช GM คือ มีข้อโต้แย้งว่าดีจริง หรือว่าไม่ดี แต่ด้วยความเป็นนักวิจัย เรารู้อยู่แล้วว่ายีนที่เรายิงเข้าไปในพืชนั้นจะต้องไม่เกิดโทษต่อมนุษย์ การดำเนินการวิจัยดำเนินไปอย่างรัดกุม ภายใต้กฎ ระเบียบ และคณะกรรมการด้านการดำเนินงานด้านการตัดแต่งพันธุกรรม โดยทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ที่ Plant Engineering Unit ประมาณ 2 ปี จึงได้รับทุนไปศึกษาต่อ เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงกลับมาทำงานเป็นนักวิจัยต่อ
ปี พ.ศ. 2548 ได้โอนย้ายไปเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ทำงานเป็นอาจารย์ประมาณ 10 ปี (พ.ศ. 2548-2559) แล้งจึงกลับมาทำงานที่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเทคนิคอาวุโส เป็นตำแหน่งและเป็นงานที่ชอบ ถึงแม้ว่าจะจบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่งานออกแบบวิศวกรรมก็เป็นสิ่งที่ชอบและเรียนรู้เพิ่มเติม เนื่องจากตัวเองไม่เก่งเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบขั้นสูง สิ่งนี้ต้องเรียนรู้โดยให้ลูกน้องเป็นผู้สอน เมื่อลองทำก็ทำได้ โดยเข้าไปช่วยออกแบบเครื่องกำจัดผักตบชวา ลองทำแรกๆ แบบของต้นแบบจะดูเทอะทะมาก ก็ไม่ลดละ ความพยายาม ลองออกแบบและพัฒนาให้ต้นแบบดูดีขึ้น โดยระหว่างทำงานหากติดขัดส่วนใดก็จะขอความรู้และ ความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น งานด้านดิจิทัล จะขอความช่วยเหลือจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) หรือวิธีการใช้งานเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ก็สอบถามจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ (ศว.) ไม่หยุดนิ่งตัวเอง แต่จะเข้าไปหาทุกที่ จากความไม่รู้ แล้วเข้าไปหา ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายของโดยอัตโนมัติ เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในเรื่องการทำงานด้าน การออกแบบทางวิศวกรรมของตนเอง
การทำงานด้านการวิจัย พื้นฐานของงานคือรับผิดชอบด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นงานที่ทำมาตั้งแต่แรก น้องๆ ในทีมมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายสาขา เนื่องจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพ (NBT) เป็นหน่วยงานใหม่ จึงต้องสรรหาคนเพื่อให้ ตรงกับการทำงาน ด้วยการทำงานจะต้องใช้เทคนิคปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว และต้องศึกษาเทคนิคสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับงานของหน่วยงาน ซึ่งจะต้องใช้ทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย งานจึงจะประสบความสำเร็จได้ ในส่วนตัวเองไม่ได้รับผิดชอบตรงในเรื่องของห้องปฏิบัติการ แต่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับทีม โดยให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหาติดขัด เพื่อให้การทำงานราบรื่นและสำเร็จไปด้วยดี
ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว
การผลิตพืชมะละกอที่ทนต่อโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน (Papaya Ringspot Virus : PRV) หรือเรียกว่า เป็นพืชจีเอ็มโอ (GMO) การทำวิจัยในเรื่องนี้มีความยากมาก ทีมจะต้องยิงตัวอย่างพืชกว่า 500 plate ตอนแรกได้ผลที่ไม่ต้านทานไวรัสแต่ยังเก็บผลไว้ และทำวิจัยซ้ำในรุ่นที่ 2 ผลคือผ่าน 100% เป็นความภาคภูมิใจว่าเราสามารถผลิตพืชที่มีความทนต่อโรคได้ เรามีคู่แข่งคือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งทำเรื่องนี้เช่นกัน แต่ประเทศไทยสามารถทำได้ก่อน
อนุสิทธิบัตร เครื่องบดตัวอย่างอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเราทำงานวิจัย เราจะต้องบดตัวอย่างเยอะมาก มือไม้พองไปหมด ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานเร็วขึ้น จึงไปค้นคว้าข้อมูลของคนและหน่วยงานอื่นที่ทำมาก่อน แล้วกลับมาคิดและออกแบบ เครื่องบดตัวอย่างได้อย่างรวดเร็วและได้ปริมาณมาก ต่างประเทศมีการผลิตและขายเครื่องในราคา 400,000-500,000 บาท แต่เราออกแบบและพัฒนาเองในราคาประมาณ 10,000 กว่าบาท จึงได้ลงมือออกแบบและพัฒนาออกมา แล้วยื่นจดอนุสิทธิบัตร จากนั้นมีการพัฒนาปรับปรุงเรื่อยมา จากรุ่น manual รุ่น analog จนปัจจุบันเป็นรุ่น digital
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานวิจัยสำเร็จ คือ การทำงานเป็นทีม (team work) และวิธีการหรือเทคนิคที่เลือกนำมาใช้ เนื่องด้วยเราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญรอบด้าน จึงต้องมี team work ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นทีมเนื้อเยื้อ ทีมโคลนยีน ทีมยิงยีน และทีม ใน field ด้วย ถัดมา คือ วิธีการหรือเทคนิคที่เลือกนำมาใช้ ข้อนี้สำคัญ ต้องสำรวจว่าเทคนิคที่เลือกนำมาใช้นั้นสามารถ ทำได้ในห้องปฏิบัติการของเราหรือไม่ ปัจจุบันมีเครื่องมือใดบ้างที่จะสามารถใช้ได้ หรือหากไม่สามารถใช้ได้เราจะพัฒนา ปรับแต่ง หรือหาเครือข่ายที่สามารถทำได้ เช่น การทำวิจัยในเรื่องมะละกอ เลือกวิธียิงยีน เนื่องจากมีเครื่องมือยิงอนุภาคที่ประดิษฐ์ได้เอง หรือ วิธีการเลือกยีนใส่ในพืช จะต้องเลือกยืนที่อยู่ในประเทศไทย เพราะความต้านทานของไวรัสจะต้องเป็นยีนที่อยู่ในพื้นที่ของเรา
ท้าทายสำคัญในการบริหารและดำเนินงานวิจัย แล้วมีวิธีการจัดการ
ความท้าทายมี 2 ประเด็นหลัก คือ ทีมงาน ผู้ร่วมงาน หรือลูกน้องสามารถเข้ากันได้หรือไม่ และวิธีการหรือกระบวนการทดลองที่แต่ละกลุ่มทำนั้น ทันสมัยหรือตอบสนองต่องานวิจัยที่ทำหรือไม่
ประเด็นที่ 1 ทีมงาน ผู้ร่วมงาน หรือลูกน้องสามารถเข้ากันได้หรือไม่ เราจะต้องมีวิธีการเข้าถึงแต่ละคนด้วยเทคนิค ที่ต่างกัน เนื่องจากแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จะต้องเรียนรู้ว่าลูกน้องแต่ละคนมีความคิดเห็นอย่างไร บุคลิกเป็นอย่างไร จะต้องเข้าถึงให้ได้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร เมื่อใดก็ตามที่สามารถเข้าถึงลูกน้องได้ เข้าถึงจิตใจของลูกน้องได้ ก็จะพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น
หากเกิดข้อขัดแย้งภายในทีมงาน จะต้องวิเคราะห์ด้วยหลักของเหตุผลว่าข้อขัดแยังที่เกิดในการทำงานนั้น มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร แสดงให้ลูกน้องเห็นและทำให้ลูกน้องยอมรับให้ได้ หลักสำคัญ คือ การปรับทัศนคติของลูกน้อง ให้ลูกน้องสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ จะต้องเปิดโอกาสการแบ่งปันประสบการณ์ของลูกน้องแต่ละคนเกี่ยวกับวิธีการหรือกระบวนการที่เลือกเพื่อทำวิจัย เช่นเดียวกัน วิธีการหรือกระบวนการใหม่ๆ ที่เราได้รับมา เราต้องกระจายให้ลูกน้องได้ทำ โดยพิจารณาจากความเชี่ยวชาญของแต่ละคน รวมถึงการจัดสรรงานให้กับลูกน้องต้องดูความเชี่ยวชาญของแต่ละคน
ประเด็นที่ 2 วิธีการหรือกระบวนการทดลองที่แต่ละกลุ่มทำนั้น ทันสมัยหรือตอบสนองต่องานวิจัยที่ทำหรือไม่ จะต้องดูว่าหน่วยงานมีเครื่องมือที่ทันสมัยมากน้อยแค่ไหน งานที่จะต้องทำนั้นเครื่องมือที่มีตอบโจทย์หรือไม่ หากไม่ ต้องดูต่อไปว่าเครือข่ายมีหรือไม่ ดังนั้น จะต้องทำให้ลูกน้องสามารถทำงานกับเครือข่ายให้ได้ด้วย เพราะจะต้องไปใช้เครื่องมือของเครือข่าย เรื่องความอ่อนน้อมก็ต้องมี [ยิ้ม]
“วิธีการจัดการกระบวนการทางการวิจัยและเทคนิค คือ หากรู้ว่าวิธีการหรือกระบวนการใดทำแล้วไม่สำเร็จ อย่าทำซ้ำ ตนเองมีหลัก คือ เร็ว ประหยัดเวลา และได้ประสิทธิภาพ โปรโตคอลต่างๆ ที่ได้มาจะเป็น การดัดแปลงทั้งหมด เช่น จุดนี้ไม่จำเป็น สามารถข้ามไปได้ แต่การข้ามขั้นตอนใดไป จะต้องมั่นใจว่า จะไม่เกิดผลเสียใดๆ เพื่อระยะเวลาจะได้สั้นลง ลูกน้องในทีมจะทำตามแล้วดูว่าผลที่ออกมานั้นจริงหรือไม่จริงอย่างไร ถ้าผลออกมาจริงต้องเชื่อในกระบวนการนี้ หรือกระบวนการนี้ไม่ต้องทำเพราะเคยทำงานก่อนแล้วไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องให้เค้าลองทำไม่ว่าจะเป็นนิสิตใหม่หรือลูกน้องในทีม เพราะการที่จะให้รู้ว่าเทคนิคใดดีหรือไม่ดี จะต้องได้ลองทำเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
การทำงานจะต้องประหยัดเงิน ประหยัดเวลาให้มากที่สุด แต่ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพ [ยิ้ม]”
เทคนิคการทำผลงานต้นแบบและสิทธิบัตร ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในหน่วยงานภายนอก
การสร้างต้นแบบเริ่มจากจุดที่เรียบง่ายที่สุด เริ่มตั้งแต่ต้นแบบที่เปลือย ไม่มีรูปร่างหน้าตาที่ดี แต่ต้นแบบต้องดีตามที่เคลม (claim) แล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อทำต้นแบบรุ่นแรกออกไป ก็จะได้รับ feedback หรือข้อเสนอแนะ ซึ่งทีมงานจะนำข้อเสนอแนะนั้นมาปรับแต่งทั้งกระบวนการและรูปร่างของต้นแบบที่จะออกมาแบบสุดท้าย (final) เมื่อได้ต้นแบบที่เป็นเวอร์ชั่นสุดท้าย ก็ต้องมาคิดต่อว่าจะขายออกไปสู่ท้องตลาดได้อย่างไร
เราโชคดีว่าคนที่อยู่ในฟิลด์ (field) เดียวกับเรา ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน คือ การบดตัวอย่างวันละ 500 กว่าตัวอย่างด้วยมือ ช่วงที่ตนเองเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีลูกศิษย์ที่ไปทำงานที่กรมวิชาการเกษตร ด้านการผสมพันธุ์ข้าว ต้องบดตัวอย่างใบข้าวซึ่งบดยากมาก ดังนั้น จากโจทย์นี้ต้นแบบของเราทำได้ จึงมีเครือข่ายในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก คนที่ทำงานในเรื่องนี้เป็นกระบอกเสียงให้เราเป็นอย่างดีว่าไม่ต้องไปซื้อเครื่องบดจากต่างประเทศ ในประเทศไทยก็มีและดีที่สุดแล้ว ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดของเรา คือ การบอกปากต่อปาก เมื่อผู้ใช้ยอมรับและเชื่อมั่นในงานของเรา ผู้ใช้จะเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ให้กับเราเอง
การปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการในการทำงานในช่วงสถานการณ์ COVID-19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สวทช. มีนโยบายให้ปฏิบัติงนาแบบ Work from Home (WFH) เป็นหลัก แต่หน่วยงานของตนเองทำงานแบบ WFH ไม่ได้ เนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการที่ต้องดูแลการเลี้ยงเนื้อเยื่อ ดังนั้น จึงทำงานแบบสลับหมุนเวียนเข้ามาทำงาน โดยปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด การเข้ามาทำงานแบบสลับกันนี้หมายถึงการทำงานที่ลูกทีมทุกคนจะต้องสามารถทำงานแทนหน้าที่กันได้
ผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อการดำเนินงานวิจัยย่อมมีอยู่แล้ว เนื่องจากทีมไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อจัดเก็บตัวอย่างได้ วิธีแก้ไขคือใช้วิธีการประสานขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานในพื้นที่เพื่อช่วยจัดส่งตัวอย่างพืชมาให้ทางไปรษณีย์ และเมื่อใดที่สามารถเดินทางลงพื้นที่เก็บตัวอย่างได้ทีมจะจัดเวลาลงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
แนวทางและวิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ทีมงาน รวมถึงการสร้าง successor
วิธีการส่งต่อองค์ความรู้ คือ ทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่าทำ Lab อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และแสดงให้เห็นว่าวิธีการหรือกระบวนการใดที่ทำแล้วดี หรือทำแล้วไม่สำเร็จ หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะทำให้ทีมดูว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร โดยเรียกทีมมาหารือกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ปัญหาไปพร้อมกัน ทำนองเดียวกัน การสร้างต้นแบบ พยายามสร้างและทำให้ทีมเห็น แทนการสอนโดยตรง จะให้ดูว่าวิธีการการแก้ปัญหาจะต้องใช้หลักการหลายอย่าง ทั้งเรื่องของคน วิธีการ และเทคนิคต่างๆ
การปั้นคนนั้น มีการวางแผนไว้ แต่ด้วยความเป็นปัจเจกบุคคล เรากับคนที่เราต้องการปั้นไม่เหมือนกัน บางทีต้องปรับทัศนคติ เพราะแต่ละคนมีปัจเจกของแต่ละบุคคล เราต้องปรับให้เค้าสามารถเดินไปได้ สอนให้เค้ารู้วิธีที่ผิด วิธีที่ถูก ให้ลงมือ ทำเองให้ครบทุกด้าน โดยให้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง และจะย้ำเสมอว่าเรื่องของกระบวนการและวิธีการในการทำงานวิจัยจะต้องแม่นยำและถูกต้อง ส่วนตัวเองนั้นการทำงานไม่ปฏิเสธว่าเคยพลาด เราก็ให้ลูกน้องเห็นว่าข้อผิดพลาดเป็นอย่างไร แล้วช่วยกันแก้ไขข้อผิดพลาด จากข้อผิดพลาดก็เรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งตัวเอง และ successor ที่เราตั้งใจปั้น
ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานใน สวทช.
สวทช. มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย…มีระเบียบแบบแผนในการดำเนินงาน มีระบบติดตามงานที่แม่นยำ ทำให้รู้ได้เลยว่างานที่ทำนั้นทำได้ตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ และมีระบบตอบแทนต่างๆ ให้แก่ผู้ทำงาน คือ ทำงานมากก็จะได้สิ่งตอบแทนมากขึ้นตามผลงานที่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ดีของ สวทช.
การทำงานบางครั้งมีปัญหาบ้าง อาจจะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของเราบ้าง ก็จะต้องมีวิธีการบริหารจัดการให้ผ่านไปได้ [ยิ้ม] กล่าวโดยสรุปคือ ประทับใจในส่วนของระเบียบแบบแผน และเครื่องมือ ของ สวทช. ที่ทันสมัย
การเตรียมก่อนเกษียณ และการวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
เตรียมเรื่องการเงิน คือ เก็บออม และลงทุนในรูปแบบและช่องทางต่างๆ เช่น เก็บไว้เอง เก็บในสหกรณ์ของเกษตร และแบ่งไปลงทุนในหุ้นบ้างบางส่วน โดยดูว่าหุ้นไหนปลอดภัยและน่าเชื่อถือ แต่ก็มีหุ้นแบบเสี่ยงบ้าง [หัวเราะ]
เตรียมที่อยู่อาศัย เนื่องด้วยตัวเองเป็นคนต่างจังหวัด หากเกษียณอายุงานไปแล้วก็ตั้งใจกลับไปอยู่ต่างจังหวัด และมีความรู้พื้นฐานด้านการปลูกกัญชา จึงตั้งใจไปปลูกกัญชาเพื่อทางการแพทย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง
สุดท้ายเริ่มเที่ยวบ้าง [หัวเราะ] เนื่องจากยังเที่ยวไม่ทั่วเลย ขอไปเที่ยวบ้าง ใช้ชีวิตเรียบง่าย
ภาพของ สวทช. ในอนาคต ที่คาดหวัง
สวทช. มีครุภัณฑ์และเครื่องมือต่างๆ ที่ค่อนข้างจะไฮเทค งานวิจัยมีความหลากหลายตั้งแต่ด้านการเกษตรจนถึงระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้การดำเนินงานของ สวทช. ไปได้ไกล จะต้องมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น การทำงานร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับ precision agriculture และ precision farming ซึ่ง สวทช. ดำเนินการอยู่แล้ว
แนวทางในอนาตของ สวทช. จะใช้ AI มากขึ้น คนจะน้อยลง แต่บุคลากรก็จะต้องพัฒนาไปตาม AI เหมือนกัน [ยิ้ม] อันนี้น่าจะเป็นแนวทางที่ สวทช. น่าจะต้องพัฒนาตามเทคโนโลยี และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น