บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : นางสุณี มากวิสัย

บทสัมภาษณ์นางสุณี มากวิสัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานกลาง (CO) สวทช.  เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ
ที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้เป็นการสัมภาษณ์นางสุณี มากวิสัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานกลาง (CO) สวทช.  เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็น ประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • นางสุณี มากวิสัย
  • ตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานกลาง (CO) สวทช.

แนะนำตัวเอง

สุณี มากวิสัย เริ่มงานกับ สวทช. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 จนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 34 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักผู้อำนวยการ

ประสบการณ์การทำงาน และคุณสมบัติหรือความสามารถที่สำคัญต่อการรับผิดชอบต่อการทำงานมีอะไรบ้าง

พี่ทำงานมา 34 ปี เก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ในการทำงานมาโดยตลอดตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงานจนมาถึงวันนี้ งานแรกที่พี่ได้เริ่มทำคือตำแหน่งผู้ช่วยผู้บริหารดูแล “การเดินทางไปต่างประเทศของนักวิจัย” การจัดประชุมบอร์ด STDB (Science and Technology Development Board)

รับผิดชอบงานที่หลากหลาย การทำงานมีช่วงหนึ่งเจ้าหน้าที่กฎหมาย (กฎหมายมีคนเดียว) ลาออก พี่ได้รับมอบหมายให้ช่วยดูเรื่องของคำสั่งแต่งตั้งต่าง ๆ การบริหารจัดการถก็ลงไปทำด้วย จากนั้นผู้ช่วยผู้บริหารอีกท่านลาออก ก็ได้รับมอบหมายให้ช่วยดูแลการอนุมัติโครงการวิจัย การบริหารจัดการถก็ลงไปทำด้วย ทำ 3 หน้าที่ [หัวเราะ] และในปี พ.ศ.2534 พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 ได้เกิดขึ้น มีการปรับโครงสร้างตำแหน่ง พี่จึงทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงาน และต่อมามีการปรับโครงสร้างตำแหน่งอีกครั้งครั้งนี้เป็นนักวิเคราะห์โครงการหน้าที่ความรับผิดชอบเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือดูแลเรื่องภาษี 200% และได้รับความไว้วางใจจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผพว.ท่านแรก ให้มาเป็นเลขานุการ  เมื่อ ดร.ยงยุทธ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ก็ยังทำงานต่าง ๆ เช่น โครงการเรียนล่วงหน้า โครงการ TGIST  จนกระทั่งมีการปรับโครงสร้างอีกครั้งและมีการตั้งศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.) ก็ได้รับตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของ ศจ.

ประสบการณ์ที่สะสมมาจากงานที่ได้รับผิดชอบในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะงานบริหาร งานด้านพัสดุ งานด้านบุคลากร งานธุรการ งานเลขานุการ “ประสบการณ์สำคัญที่ทำให้เรามีทุกวันนี้มาจากงานเลขานุการในเรื่องความละเอียดรอบคอบ มีระเบียบวินัย และที่สำคัญงานเลขานุการจะต้องทำให้ผู้บริหารไว้วางใจ และสามารถรักษาความลับ ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานของผู้บริหารให้ดีที่สุด” ได้ติดตาม ดร.ยงยุทธ ไปช่วยงานครั้งที่ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อขณะนั้น) และครั้งที่ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี (ด้านสังคม)

เทคนิคในการทำงาน

พี่เป็นคนที่ชอบทำอะไรด้วยตัวเองและไม่ชอบให้งานค้างชอบเคลียร์ให้เสร็จวันต่อวัน เพื่อเช้าวันใหม่ไปทำงานจะได้ทำงานใหม่ไม่ต้องมาห่วงเรื่องงานเก่า ซึ่งน้อง ๆ ในทีมก็ทำแบบนี้เหมือนกัน เทคนิคที่สอนน้องจะใช้วิธี on the job training ลงไปทำด้วยตัวเองให้น้อง ๆ ได้เห็นและลงมือทำไปด้วยกันในที่สุดเค้าจะซึมซับและทำได้ ให้ความสำคัญกับน้อง ๆ จะคอยรับฟังและอยากให้ทุกคนใช้ชีวิตทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้สมดุลกัน ไม่อยาก
ให้หอบงานกล้บบ้านกัน [ยิ้ม] แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้มันทำไม่ได้เพราะเราทำงานแบบ online เป็นส่วนมากกลายเป็นว่าทำงานกันแบบ 7×24 ชม. ไปแล้ว ก็อยากให้น้อง ๆ รักษาสมดุลเรื่องงานและครอบครัวให้ได้

ผลงานที่ได้ทำแล้วภาคภูมิใจ

อายุงานของพี่รวมแล้วกว่า 34 ปี ความภาคภูมิใจในงานและความสำเร็จตลอดการทำงานมีอยู่หลายอย่าง ขอยกบางเรื่อง เช่น การทำนิตยสาร ScienceAsia ซึ่งแต่เดิมจัดทำโดยสมาคมวิทยาศาสตร์ อยู่ดีๆ นิตยสารนี้ก็หายไปราว 3 ปี ไม่สามารถตีพิมพ์ได้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ และทีมงาน อยากฟื้นคืนชีพให้กับนิตยสารนี้ จึงได้เริ่มปลุกนิตยสารนี้ พี่ได้รับมอบหมายให้รวบรวมบทความวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ขอให้นักวิจัยช่วยเขียนบทความด้านวิทยาศาสตร์ และรวบรวมส่งผู้ประเมินและรับกลับมาให้นักวิจัยแก้ไข (ถ้ามี) แก้เสร็จต้องส่งกลับไปยังผู้ประเมินอีกครั้ง และหากไม่มีแก้ไขแล้วถึงจะส่งต่อฝ่ายสื่อสิ่งพิมพ์ เดินต่อเรื่องของการจัดพิมพ์ โดยที่ระหว่างส่งไปจัดพิมพ์เราก็ต้องทำเรื่องจ่ายเงินผู้ประเมินด้วย ช่วงจัดพิมพ์เราต้องวางไทม์ไลน์ในการทำงาน นิตยสารนี้ออกราย 2 เดือน การทำงานค่อนข้างหนัก และด้วยบุคลากรไม่ได้มากนักเราจึงทำกันหลายหน้าที่ต่อคน แต่เราก็ทำกันสำเร็จทันเวลาทุกรอบ จนกระทั่งได้รับความยอมรับให้เป็นนิตยสารที่สามารถอ้างอิงการตีพิมพ์ได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่ภูมิใจมากที่สามารถร่วมปลุกให้นิตยสาร ScienceAsia ฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช.

ประทับใจองค์กร เริ่มตั้งแต่เข้ามาทำงานที่ สวทช. แรก ๆ มีคนถามพี่ว่าทำงานที่ไหน พอตอบไปว่าทำงานที่ สวทช. คนถามก็จะมองหน้าเราแบบมีคำถามต่อว่า สวทช. คืออะไร อยู่ที่ไหน พี่ก็ต้องขยายความว่าอยู่ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ (ชื่อกระทรวงในสมัยนั้น) [หัวเราะ] แต่ปัจจุบันมีคนถามด้วยคำถามเดิม เราตอบว่าอยู่ สวทช. คนที่ถามร้องอ๋อ… [ยิ้ม] นั่นหมายถึง สวทช. เป็นที่รู้จักของทุกคน และที่ทุกคนรู้จักได้ก็เพราะพลังของพวกเราทุกคนที่ช่วยกันสร้างจนมาถึงทุกวันนี้ [ยิ้ม]

ประทับใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานทุกคนน่ารักขอความร่วมมือก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี หรือจะขอความช่วยเหลือก็ไม่เคยโดยปฏิเสธ อยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้องเกื้อกูลกัน และที่ประทับใจอีกอย่างคือคำชมจากน้อง ๆ หลังจากที่เราให้ข้อมูล หรือตอบคำถามที่เขาไม่รู้จะถามใครดี (คงเป็นเพราะพี่อยู่มานาน)  มีกลับมาพูดชื่นชมและขอบคุณเรา สิ่งนี้มันเป็นความรู้สึกดีๆ เป็นกำลังใจให้กับคนทำงาน [ยิ้ม]

อยากเห็นภาพของสวทช. ในอนาคตอย่างไร

อยากเห็นว่าเวลาคนพูดถึงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อยากให้นึกถึง สวทช. เป็นที่แรก

การวางแผนชีวิตหลังเกษียณอย่างไร

ซี้อประกันสุขภาพ และมีเงินออมเล็กน้อย เป้าหมายหลังเกษียณ ตั้งใจไว้ว่าตั้งแต่เกษียณในวันที่ 30 กันายน 2566
จะเที่ยวอย่างเดียวจนถึงต้นปี 2567 เพราะตอนทำงานไม่ค่อยได้ลาพักผ่อน [หัวเราะ] พอเที่ยวครบกำหนดก็กลับมาดูว่ามีการลงทุนใดน่าสนใจก็จะลงทุนเพราะเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่ง