บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : ดร.สุนันท์ ศิริรักษ์โสภณ

บทสัมภาษณ์ ดร.สุนันท์ ศิริรักษ์โสภณ (นามสกุลเดิม ลิ้มสวัสดิ์) นักวิเคราะห์อาวุโส ทีมวิจัยชีวศาสตร์และชีววิทยาระบบ (ISST) กลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ (IBEG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้เป็นการสัมภาษณ์ ดร.สุนันท์ ศิริรักษ์โสภณ นักวิเคราะห์อาวุโส ทีมวิจัยชีวศาสตร์และชีววิทยาระบบ (ISST) กลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ (IBEG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์
ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • ดร.สุนันท์ ศิริรักษ์โสภณ (นามสกุลเดิม ลิ้มสวัสดิ์)
  • ตำแหน่ง นักวิเคราะห์อาวุโส ทีมวิจัยชีวศาสตร์และชีววิทยาระบบ (ISST) กลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ (IBEG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช.

แนะนำตัวเอง

สุนันท์ ศิริรักษ์โสภณ (นามสกุลเดิม ลิ้มสวัสดิ์) นักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จัดสรรให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อกระทรวงในขณะนั้น) รุ่นแรก ๆ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาปฏิบัติงานที่ หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมชีวเคมีและโรงงานต้นแบบ (BEC) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในตำแหน่งนักวิจัยและหัวหน้าห้องปฏิบัติการ Lab Solid State Fermentation and Bioprocess Engineering และที่ ศช. ทำงานวิเคราะห์ในตำแหน่งนักวิเคราะห์อาวุโส จากตรงนี้อาจจะดูแปลกไปสักนิดว่าตำแหน่งนักวิเคราะห์แต่ต้องทำงานวิจัยด้วย [ยิ้ม]

ทักษะและคุณสมบัติที่สำคัญในการทำงาน หรือการบริหารทีม

การทำงานแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมที่อยู่ในหมวกของนักวิเคราะห์อาวุโสมีบุคลากรที่ช่วยงานตรงนี้ 1 คน ซึ่งเป็นคนสังกัด มจธ. ที่จะเข้ามาช่วยทำงานทั้งงานด้านแผน จัดทำแผน 5 ปีของหน่วยงาน  การจัดทำรายงานรวมถึงการจัดทำรายงานประจำปี ซึ่งก่อนหน้านั้นตัวพี่เองจะทำเองทั้งหมดแต่พี่ได้เข้ามาวางระบบไว้ให้ปัจจุบันนี้คนที่มาช่วยงานส่วนนี้สามารถทำต่อไปได้ แต่หากมีอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อนจะเข้าไปช่วยให้คำปรึกษา ตัดสินใจให้ พี่ยังคงให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาให้เสมอ [ยิ้ม]

สำหรับหมวกนักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัย Solid State Fermentation and Bioprocess engineering มีการดำเนินงานใน 2 แพลตฟอร์มทั้งการหมักแบบอาหารเหลวและการหมักแบบอาหารแข็ง ที่ห้องปฏิบัติการนี้มีผู้ช่วยวิจัยจำนวน 1 คนของ สวทช. และอีก 8 คนเป็นทีมวิจัยจาก มจธ. ทั้งหมด ในส่วนของห้องปฏิบัติการจะมีผู้ประสานงาน 1 คน ที่จะต้องทำในเรื่อง budget and materials management ของห้องปฏิบัติการให้ทันกับระยะเวลาที่เราดำเนินโครงการ และพี่เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำ ให้การช่วยเหลือ และบริหารจัดการทีมให้ทำงานไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นทีมวิจัย ทีมสนับสนุน เพราะทุกคนคือทีมเรา ทักษะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการให้ทีมทำงานไปได้อย่างราบรื่น เพราะหมวกของการเป็นนักวิจัยเราจะต้องทำวิจัยกันอย่างจริงจังต้องวาง concept ออกแบบการทดลอง และส่วนสนับสนุนจะต้องเข้ามาสนับสนุนในการการจัดหา การซื้อ จัดจ้าง และบริหารจัดการด้านงบประมาณ ต้องทำงานร่วมกันไปเพื่อทำให้ทุกอย่างสามารถเสร็จได้ตามกำหนดเวลาและส่งรายงานได้ทันเวลา

ผลงานที่ภูมิใจ

ดร.สุนันท์ ได้บอกเล่าถึงตัวอย่างผลงานที่ตนเองภาคภูมิใจ เริ่มจากช่วงปี พ.ศ. 2551 ช่วยเขียนร่างข้อเสนอโครงการเพื่องบประมาณเพื่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (NBF : National Biopharmaceutical Facility) ในระยะแรก นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ภาคภูมิใจอื่นอีกมากมาย เน้นไปทางด้านการวิจัยและการบริหารโครงการขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ของโครงการผลิต therapeutic protein ซึ่งได้รับทุนสำหรับการทำวิจัยหลายสิบล้านบาท พี่ทำในเรื่องของพัฒนากระบวนการ Scale-up ด้านการผลิต และร่วมมือกับศูนย์สัตว์ทดลอง มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำการทดสอบ bioactivity ในสัตว์ และร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ตัวยาที่จะขึ้นทะเบียนตาม Pharmacopoeia คือทำมาตรฐานการวิเคราะห์ของ British Pharmacopoeia ส่วนทางด้านเทคโนโลยีการหมักแบบอาหารแข็ง มีงานวิจัยเรื่องการผลิตและใช้ประโยชน์จากกากเนื้อในเมล็ดปาล์มนํ้ามันหมักเพื่อเป็นแหล่งโปรตีน ในอาหารสัตว์โดยวิธีการหมักแบบอาหารแข็ง ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งร่วมมือกับโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มนำเอา by-product กากเนื้อในเมล็ดปาล์มมาหมักเพิ่มมูลค่าโดยจุลินทรีย์โปรไบโอติก

ความท้าทายในการทำงาน ปัญหาอุปสรรค

งานที่ทำมีความหลากหลายทำให้ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาทำให้การทำงานสนุกมาก [หัวเราะ] เพราะเหมือนว่าเรื่องนี้ยังไม่รู้เลย เรื่องนี้ก็ไม่รู้อีก ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการ setup biopharma ก่อนที่จะขึ้นทะเบียนวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตยาได้เอง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น พอประเทศไทยเริ่มที่จะผลิตยาเองก็จะต้องเริ่มตั้งแต่การ setup standard วิธีวิเคราะห์ และตัวเองได้เข้าไปร่วมร่างแนวทางการขึ้นทะเบียน Biosimilar

ในเรื่องการทำงานไม่มีปัญหาอะไร มองว่าอะไรที่ไม่รู้ก็ไปหาความรู้เพิ่มเติมอันนี้ยังไม่ใช่ก็ค่อย ๆ รู้ไปทีละขั้นตอน ด้วยความไม่รู้และต้องไปหาคำตอบเลยทำให้สนุกกับงาน แต่ถ้า ecosystem ของประเทศไปไม่ได้จริงๆ เราก็ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาของประเทศ [ยิ้ม]

ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คนในทีมอย่างไร

งานด้านการวิจัย นักวิจัยจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ปัจจุบันตัวเองมองว่านักวิจัยรุ่นใหม่มีความมั่นใจมากขึ้น กล้าที่จะคิด กล้าที่จะลงมือทำ เพียงแต่หากได้รับคำแนะนำว่าควรจะเดินไปในทิศทางใด ก็จะสามารถนำพากันไปได้ถูกทางและประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

มีความประทับใจต่อองค์กร

สำหรับความประทับใจ ประทับใจทีมวิจัยของ ศช. ซึ่งมีงานวิจัยที่เรียกได้ว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก [ยิ้ม] แต่ยังคงขาดในเรื่องของการเชื่อมต่องานวิจัยให้ไปถึงในระดับอุตสาหกรรม

การเตรียมตัว ก่อน-หลังเกษียนอย่างไร

ดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นภาระใคร ด้านการเงินไม่ค่อยวางแผนนักแต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาอะไร

อยากเห็นภาพในอนาคตของ สวทช. เป็นอย่างไร

นโยบายของ สวทช. ที่มุ่งเน้นการทำ core business ที่วางอยู่ในปัจจุบัน มีความมุ่งหวังอยากให้สานต่อจนสำเร็จเพราะเรื่องนี้จะตอบโจทย์ และทำให้เพิ่มการแข่งขันทางเทคโนโลยีของประเทศได้ ในส่วนของ BCG ก็ค่อนข้างสำคัญ เรามีทรัพยากรมากด้านการเกษตรอยู่มาก  ถ้าหากพัฒนาอย่างจริงจังจะได้ประโยชน์ ประเทศอื่นทั่วโลกไม่ค่อยได้ทำเทคโนโลยีด้านเกษตรกันมากนักเพราะเป็น labor intensive และพยายามทำให้เป็น Smart Farming และ Precision Farming สำหรับประเทศไทยถ้านำเทคโนโลยีไปผนวกกับภาคการเกษตรได้จะดี สวทช. มีครบทุกศาสตร์น่าจะทำให้นำเทคโนโลยีมาใช้ได้มากที่สุด หากสามารถทำได้จะยกระดับภาคเกษตรให้มีรายได้สูงขึ้นเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น