หนังสือ “เรื่องเล่าชาวชะนี” ผลงานวรรณกรรมสองภาษา (ไทย/อังกฤษ) ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็ก อายุ 6–11 ปี จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.จริยา บรอคเคลแมน ในฐานะผู้ประพันธ์ เป็นผู้แทนเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
หนังสือ “เรื่องเล่าชาวชะนี” เป็นวรรณกรรมที่นำเสนอเรื่องราวของชะนีมือขาว ซึ่งเป็นชนิดที่มีมากที่สุดของไทย ประพันธ์โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.จริยา บรอคเคลแมน และ ดร.จันทร์เพ็ญ ศรลัมพ์ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “การศึกษาวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับชะนีและนิเวศวิทยาของชะนีในประเทศไทย” ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักชีววิทยาผู้เฝ้าติดตามพฤติกรรมสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นเวลาถึง 48 ปี ตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2517) กระทั่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิเวศวิทยา สวทช. ในปัจจุบัน
หนังสือ “เรื่องเล่าชาวชะนี” ดำเนินการผลิตโดย สวทช. และเริ่มเผยแพร่ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งผู้ประพันธ์ได้รวบรวมองค์ความรู้อันทรงคุณค่าจากงานวิจัยมาจัดทำเป็นหนังสือเรื่องเล่าเชิงนิยายเพื่อส่งเสริมการอ่านแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยมุ่งหวังสร้างความเพลิดเพลิน กระตุ้นความสนใจและสร้างความตระหนักในความสำคัญของสัตว์ป่า รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยมีการส่งมอบแก่โรงเรียนด้อยโอกาสทั่วประเทศ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สวนสัตว์นครราชสีมา และองค์กรกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไปแล้ว จำนวน 2,000 เล่ม ทั้งนี้ผลงานดังกล่าวมีหน่วยงานร่วมสนับสนุนการผลิต อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (The Wildlife Conservation Society: WCS) ประเทศไทย ผู้สนใจสามารถติดตามและสั่งซื้อหนังสือเรื่องเล่าชาวชะนีได้ที่ https://www.nstdashop.com/product/11000383292000330
นอกจากการนำองค์ความรู้การวิจัยเกี่ยวกับชะนีมาจัดทำเป็นวรรณกรรมแล้ว สวทช. เตรียมจัดกิจกรรม “ตามรอยชะนีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” แก่เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเดือนมิถุนายนและตุลาคมนี้