การพัฒนาอนุกรมวิธาน หรือ Taxonomy สำหรับคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัยของ สวทช. เพื่อช่วยจำแนกหมวดหมู่ข้อมูลโครงการวิจัยอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐาน ทำให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ด้วยการใช้คำศัพท์ที่ควบคุมและอย่างมีโครงสร้าง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริหารจัดการงานวิจัย พัฒนาออกแบบ และวิศวกรรม โดยมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีเฉพาะทางใน 4 สาขา ได้แก่ สาขาพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาเทคโนโลยีโลหะและวัสดุ สาขาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และสาขานาโนเทคโนโลยี
ทั้งนี้ เพื่อให้ สวทช. สามารถตอบสนองนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่ในปี 2549 จึงปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการงานวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม จากการมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีเฉพาะทางทั้ง 4 เป็น เน้นการวิจัยเพื่อตอบสนองคลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศเป็นหลัก
ในปี 2551 สวทช. ได้กำหนดคลัสเตอร์เป้าหมายในการดำเนินงานเป็น 8 คลัสเตอร์
- คลัสเตอร์ที่ 1 คลัสเตอร์อาหารและการเกษตร
- คลัสเตอร์ที่ 2 คลัสเตอร์การแพทย์และสาธารณสุข
- คลัสเตอร์ที่ 3 คลัสเตอร์ซอฟต์แวร์ ไมโครชิป อิเล็กทรอนิกส์
- คลัสเตอร์ที่ 4 คลัสเตอร์ยานยนต์และการจราจร
- คลัสเตอร์ที่ 5 คลัสเตอร์พลังงานทดแทน
- คลัสเตอร์ที่ 6 คลัสเตอร์สิ่งทอ
- คลัสเตอร์ที่ 7 คลัสเตอร์การวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชุมชนชนบทและผู้ด้อยโอกาส
- คลัสเตอร์ที่ 8 คลัสเตอร์สิ่งแวดล้อม
โดยภายใต้แต่ละคลัสเตอร์ ประกอบด้วยโปรแกรม เช่น คลัสเตอร์ที่ 1 คลัสเตอร์อาหารและการเกษตร แบ่งเป็นโปรแกรมต่าง เช่น
- A1 กุ้ง
- A7 ยาง
- A8 เมล็ดพันธุ์
- B1-1 การวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจ
- B1-2 เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์
- B1-3 การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
- B1-4 เครื่องจักรกลเพื่อการเกษตรและอาหาร
ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลโครงการวิจัยภายใต้คลัสเตอร์และโปรแกรม ได้มีการออกแบบและพัฒนาอนุกรมวิธาน (Taxonomy) คลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัยของ สวทช. ขึ้น เพื่อช่วยในการจัดจำแนกกลุ่มหรือหมวดหมู่ข้อมูลโครงการวิจัยอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับผู้ทำงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ด้วยการใช้คำศัพท์ที่ควบคุมและอย่างมีโครงสร้าง
การพัฒนาอนุกรมวิธาน (taxonomy) คลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัยของ สวทช. มีขั้นตอนโดยคร่าว คือ
- การกำหนดขอบเขตของ Taxonomy คือ Taxonomy สำหรับคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัยของ สวทช. ซึ่งมี 8 คลัสเตอร์ และโปรแกรมต่างๆ
- การวิเคราะห์และคัดเลือกคำสำคัญ (Keyword) ภายในคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัยของ สวทช. จากเอกสารต่างๆ เช่น เอกสารแนะนำคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย และโครงการวิจัยที่เกิดขึ้น
- การกำหนดคำควบคุม (Control term) ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ รวมถึงคำจำกัดความ (ถ้ามีสำหรับบางคำ) ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
นอกจาก Taxonomy ยังมี Thesaurus หรือ พจนานุกรมที่รวมคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น คำที่กว้างกว่า (Broader Term: BT) คำที่แคบกว่า (Narrow Term: NT) คำที่เกี่ยวข้อง (Related Term: RT) คำที่ใช้ (Use : USE) คำที่ใช้แทน (Used For : UF) เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงข้อมูลจากเรื่องหนึ่งไปยังเรื่องอื่นๆ หรือจากรายการที่ไม่ใช้สู่รายการที่ใช้ เพื่อให้ได้รับข้อมูลตรงตามที่ต้องการได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง เช่น หากข้อมูลโครงการวิจัยเกี่ยวข้องกับ มีเธน สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยคำว่า ก๊าซมูลสัตว์ ซึ่งเป็นคำที่กว้างกว่าคำว่า มีเธน