ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) จัดสัมมนาออนไลน์ “Thai Microelectronics Seminar 2021” ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวมเพื่อสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมจากทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาครัฐ ร่วมขับเคลื่อนไมโครอิเล็กทรอนิกส์และการออกแบบวงจรรวม นำประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ภายใต้หัวข้อ “Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564
ดร.นิภาพรรณ กลั่นเงิน หัวหน้าโครงการพัฒนาบุคลากรสําหรับอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวม ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) กล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ Smart Electronics เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เดิมอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทยมีการลงทุนในด้านการผลิตแบบ Mass Production ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายการผลิตของบริษัทแม่ในต่างชาติ มากกว่าการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มศักยภาพด้านการออกแบบเพื่อยกระดับการผลิตจากการผลิตตามแบบ OEM (Original Equipment Manufacturing) มาเป็นผู้ผลิตที่มีการออกแบบและพัฒนาสินค้าได้ด้วยตนเอง ODM (Original Design Manufacturing) มากขึ้น อีกทั้งบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศได้เพิ่มส่วนงานการออกแบบผลิตภัณฑ์มาอยู่ในประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้
ดังนั้น การพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างอุตสาหกรรมบนเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้การวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็น Smart Electronics ซึ่งอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เป็นอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ อันได้แก่ การออกแบบวงจรรวม (IC Design) การผลิตวงจรรวม (IC Fabrication) และการบรรจุภัณฑ์วงจรรวม (IC Packaging) จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม สร้างงานและรายได้ ที่จะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน
งานสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้าน Smart Electronics ประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประยุกต์ใช้งานชิป และผู้ที่อยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มาร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ Smart Electronics
Smart Electronics ไทย ไร้ Ecosystem ?
ก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนาฯ ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ ผู้อํานวยการศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Strengthening the Smart Electronics Ecosystem” อย่างไรก็ตามสำหรับมุมมองของดร.วุฒินันท์นั้น ก่อนจะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ต้องสร้างระบบนิเวศดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงก่อน
“เพราะ Smart Electronics Ecosystem ในเมืองไทยมันยังไม่มีจริง ๆ”
ดร.วุฒินันท์ ได้ยกตัวอย่างระบบนิเวศของการสร้างผลิตภัณฑ์จากเซนเซอร์มูลค่าสูง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี One Stop Service ของ Value Chain ในการสร้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่การออกแบบเซนเซอร์ การทำบรรจุภัณฑ์ การสร้างวงจรที่เหมาะสม การสร้างมาตรฐาน การออกแบบ Display ของผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เป็นต้น
ดังนั้น TMEC จึงพยายามผลักดันระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จากการแสวงหาพันธมิตรต่างประเทศเพื่อร่วมโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้ความสำคัญของกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์จากเซนเซอร์มูลค่าสูงในทุก ๆ Value Chain และถ่ายทอดให้กับพันธมิตรภายในประเทศได้พัฒนาความสามารถ นำไปสู่การสร้างสินค้าจากเซนเซอร์มูลค่าสูงทุกกระบวนการได้ภายในประเทศได้
“อย่างไรก็ตาม บางกระบวนการอาจไม่จำเป็นต้องทำในประเทศก็ได้หากมูลค่าไม่สูง เราพยายามดึงงานที่มูลค่าสูงเข้ามาทำในประเทศไทย และคิดว่าเป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างระบบนิเวศนี้ได้จริง ๆ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของ Smart Electronics นั้น คือ การเพิ่มการออกแบบ หรือ แนวคิดใหม่ ๆ ให้กับสินค้า กล่าวคือ การพัฒนาแก้ไขจุดบกพร่องของสินค้าในแต่ละเวอร์ชันให้ตอบโจทย์และเข้าใจตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ” ดร.วุฒินันท์ อธิบาย
ด้วยแรงบันดาลใจของ TMEC ที่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยเกิดการกระจายรายได้แก่คนในประเทศอย่างแท้จริงจากการสร้างระบบนิเวศเหล่านี้
ดังนั้น นอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิต Sensor Wafer รายเดียวของประเทศให้กับต่างชาติแล้ว TMEC จึงพยายามนำเซนเซอร์ที่มีประโยชน์ มีผู้ผลิตน้อย และมีโอกาสเติบโตสูง ผลักดันไปสู่สินค้าปลายทางในลักษณะของธุรกิจ B2C
โดยระบบนิเวศของ Smart Electronics จะช่วยให้มูลค่ารวมของสินค้าเพิ่มขึ้นหลายเท่า ดร.วุฒินันท์ ยกตัวอย่างกรณีของเซนเซอร์ว่า หากขายเซนเซอร์เปล่า ๆ สนนราคาตัวละไม่เกินหลักสิบถึงร้อยบาท แต่เมื่อรวบรวมผู้เล่นใน Value Chain มาผลิตเป็นสินค้า ซึ่งมีราคาในตลาดประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท จะเห็นได้ว่ามูลค่าของสินค้าเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่า ในขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดการกระจายรายได้จากมูลค่าของสินค้าที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้เล่นใน Value Chain ของอุตสาหกรรมอีกด้วย
เสวนา Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future
การเสวนา Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future ได้รับเกียรติจากตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาได้มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับ Smart Electronics ก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศ นำโดย
- นางสาวพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)
- ดร.เฉลิมศักดิ์ สุมิตไพบูลย์ ที่ปรึกษาส่วนงานวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- ดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
- และร่วมดำเนินรายการโดย ดร.อมร จิระเสรีอมรกุล Principle Research Engineer บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
แหล่งที่มา เว็บไซต์ NECTEC
Facebook NECTEC