บทสัมภาษณ์นางทิวาวรรณ วาสินานนท์ ผู้ช่วยวิจัย กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ (ACBG) ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช (APPT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน
ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ
ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับบทสัมภาษณ์นี้ นางทิวาวรรณ วาสินานนท์ ผู้ช่วยวิจัย กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ (ACBG) ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช (APPT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร
ข้อมูลเบื้องต้น
- นางทิวาวรรณ วาสินานนท์
- ตำแหน่ง ผู้ช่วยวิจัย กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ (ACBG) ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช (APPT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช.
แนะนำตัวเอง
13 ปี ที่ได้ร่วมงานกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช. เริ่มการทำงานจากการเป็นลูกจ้าง TOR ราวปี พ.ศ. 2553 และได้บรรจุเป็นพนักงานโครงการในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน
หัวใจสำคัญในการทำงาน
“การทำงานเป็นทีม” ทีมที่ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีเป้าหมายเดียวกัน รับผิดชอบร่วมกัน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด พร้อมรับฟังความเห็นของกันและกัน เพื่อให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงค์และประสบความสำเร็จ [ยิ้ม]
อุปสรรคและท้าทายสำคัญในการทำงาน และวิธีรับมือหรือจัดการ
การทำงานมีปัญหาอยู่บ้างแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ในด้านของสิ่งแวดล้อมในเรื่องของอากาศ ซึ่งจะมีผลต่อผลผลิตในแปลงทดลอง ซึ่งมีนกและหนูเข้ามาทำลายแปลงทดลอง ปัญหาเหล่านี้เราควบคุมไม่ได้เมื่อเราเจอปัญหานี้เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้เอง ต้องแจ้งเรื่องไปยังฝ่ายอาคารสถานที่เพื่อให้เข้าแก้ไขปัญหาซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี ส่วนที่ 2 ปัญหาด้านเอกสารต่าง ๆ การทำงานเราหลีกเลี่ยงเรื่องของเอกสารไม่ได้ อาจจะมีการล่าช้าไปบ้างทีมวิจัยเข้าใจได้ว่าทางฝ่ายการเงินและบัญชีเองก็มีภาระงานค่อนข้างมากส่วนนี้ทีมวิจัยต้องทำความเข้าใจ สำหรับปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนใด เราก็ขอความช่วยเหลือจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด
ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานใน สวทช.
ได้หัวหน้างานดี มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีสังคมและมีสภาพแวดล้อมที่ดี สำคัญเลย มีอิสระทางความคิดและไม่มีความกดดันใด ๆ ในการทำงาน [ยิ้ม]
การเตรียมตัวก่อนเกษียณ และเป้าหมายหลังเกษียณ
ก่อนเกษียณ เตรียมความพร้อมเรื่องการเงิน พี่เตรียมเรื่องนี้ไว้แต่แรกเลย [หัวเราะ] พี่แบ่งเงินไว้ 3 ก้อน
- ก้อนแรก : สำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- ก้อนที่สอง : ฝากธนาคารแบบฝากประจำ
- ก้อนที่สาม : สำหรับการลงทุนหรือใช้จ่ายยามฉุกเฉิน
หลังเกษียณ อาจจะนำเงินในก้อนการลงทุนไปลงทุนอะไรบางอย่างตอนนี้ยังอยู่ช่วงของการวางแผน หรืออาจจะไปปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเอง และอาจจะไปปฏิบัติธรรม [ยิ้ม]