บทนำ : การถอดบทเรียนองค์ความรู้จากการดำเนินงานศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center : TMEC)
ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center : TMEC) ปัจจุบันเป็นหน่วยวิจัยภายใต้สังกัดสำนักงานกลาง สายงานบริการโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เดิมอยู่ภายใต้สังกัดศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)) มีเทคโนโลยีหลักคือ การพัฒนานวัตกรรมเซนเซอร์เมมส์และอุปกรณ์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาประสิทธิภาพในสายการผลิต และให้บริการด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม Smart electronics สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมวงจรรวมและเซนเซอร์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ผลิตระบบในประเทศไทย
ในการจัดเก็บองค์ความรู้จากการดำเนินงาน TMEC นั้น ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) ได้รวบรวมข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของ นายวุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และจากแหล่งข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยการสัมภาษณ์นายวุฒินันท์ฯ ทำให้ได้ให้แง่คิดและสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่างๆ ซึ่งถือได้ว่ามีประโยชน์อย่างสำคัญต่อการขับเคลื่อนดำเนินงานให้ลุล่วงต่อไป
ที่มาของศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center : TMEC)
ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center : TMEC) ชื่อเดิมคือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center : TMEC) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2538 ภายใต้หน่วยปฏิบัติการวิจัยไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (MEL) โดยมีพันธกิจหลักคือ การทําวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า และความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นเทคโนโลยีที่สําคัญของโลก มีการเจริญเติบโตและมูลค่าสูง และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมนี้ จําเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมที่เป็นเพียงผู้รับจ้างประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำไปสู่ อุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ คือต้องเข้าสู่การผลิตชิปวงจรรวม (Chip) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำและมีมูลค่าเพิ่มสูง ด้วยเหตุนี้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ต้นสังกัด ณ ขณะนั้น) จึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อที่จะเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นทั้งโรงงานผลิตชิปวงจรรวมแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการในการทําชิปวงจรรวมต้นแบบ พร้อมทั้งฝึกอบรม และจุดประสงค์หลักของโครงการคือ การมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ อย่างมหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรม ให้มีความรู้ความเข้าใจในทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งต้องการให้เป็นแหล่งรวมความรู้พื้นฐานในด้านนี้ ตามแผนพัฒนา – เศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) โดยนำมาตราการต่างๆ มาใช้ เช่น ด้านการเงิน การคลัง ด้านการเสริมสร้าง ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม และการนำระบบมาตราฐานอุตสาหกรรมมาใช้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center : TMEC) โดยใช้ชื่อดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน
นายวุฒินันท์ฯ กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2539 ได้เริ่มก่อตั้งศูนย์ฯ ณ พื้นที่หมู่ 1 ตำบลวังตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของงานวิจัยและพัฒนาด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตวงจรรวมแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีกำลังการผลิตไม่สูงนัก แต่เน้นตอบสนองความต้องการในการผลิตวงจรรวมต้นแบบ และฝึกอบรมสำหรับมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยมีนายอิทธิ ฤทธาภรณ์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์ ณ ขณะนั้น
การก่อสร้างดำเนินการเป็นระยะเวลาหลายปี ในระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) นั้น TMEC ดำเนินการได้ด้วยงบประมาณที่มาจากสองทางคือ ภาครัฐและภาคเอกชน เพราะศูนย์จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม และภาคอุตสาหกรรมยังช่วยสนับสนุนด้วยอีกส่วนหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือที่เรียกกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้ และในขณะนั้นได้มีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หรือสารกึ่งตัวนำเกิดขึ้น ดังนั้น TMEC จึงเป็นหน่วยงานแรกที่ถูกออกแบบเพื่อเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมนี้ ทั้งนี้ เมื่อภาคเอกชนไม่สามารถดำรงอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจนี้ ทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ขณะนั้น TMEC เหมือนโดนลอยแพอยู่กลางทะเล จึงทำให้ TMEC ต้องดำเนินการบริหารจัดการด้วยตนเองเพื่อให้ผ่านวิกฤตดังกล่าว โดยมีนายอิทธิ ฤทธาภรณ์ และนายไพรัช ธัชยพงษ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผลักดันให้เกิดโครงการจัดตั้ง TMEC นี้ขึ้น ทั้งสองท่านเข้ามาดูแล หมั่นสอบถามความเป็นไปในด้านต่างๆ ติดขัดปัญหาใดหรือไม่ เป็นประจำ ในเวลาต่อมานายอัมพร โพธิ์ใย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ลำดับถัดมาผมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยแต่งตั้งนายอดิสร เตือนตรานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สายงานบริการโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเข้ามากำกับดูแล TMEC และผมยังคงทำงานที่ TMEC เหมือนเช่นเดิม
วิสัยทัศน์ (Vision) ของ TMEC คือ สร้างเทคโนโลยีและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอุปกรณ์เซนเซอร์ (Sensors) อุปกรณ์เมมส์ (MEMS) และอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถผลิตบนเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน
มุ่งสู่การเป็นโรงงานผลิตระดับโลกสำหรับสตาร์ตอัพที่ให้บริการเกี่ยวกับนวัตกรรมระบบเซนเซอร์แบบครบวงจรครบทวงจรร
นายวุฒินันท์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า TMEC ถูกตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพในอุตสาหกรรม semiconductor ของประเทศไทย โดยมีวหลักคือ การกระจายรายได้ที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และมีวิสัยทัศน์ คือการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของอุตสาหกรรม semiconductor ที่มีมูลค่าสูงเพื่อเพิ่มรายได้และลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เป้าหมายคือการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงมากๆ และมีห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่ยาวๆ หมายถึงว่ามีผู้เล่นเป็นจำนวนมากกระจายไปในห่วงโซ่ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงอย่างแท้จริง
พันธกิจ (Mission) ของ TMEC มีดังนี้
- วิจัย พัฒนา และผลิต อุปกรณ์เมมส์ (MEMS)
- วิจัย พัฒนา และผลิต แพลตฟอร์มสำหรับเซนเซอร์ทางเคมีและชีวภาพ (Bio- and Chemical Sensors)
- วิจัย และ พัฒนา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และวงจรรวม (Integrated Circuits) ที่เกี่ยวข้องกับเซนเซอร์ขั้นสูง (Advanced Sensors) และ อุปกรณ์เมมส์ (MEMS)
- วิจัย พัฒนา และผลิต เทคโนโลยีพื้นผิว (Surface Technology) และอุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิก (Microfluidic Devices)
- ผลักดันให้เกิดสินค้านวัตกรรมที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีของทีเมคให้เป็นสินค้าถึงมือผู้ใช้งานได้ โดยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ (TMEC)
- ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ของเซนเซอร์ (Sensors) ขั้นสูงและอุปกรณ์เมมส์ (MEMS)
นายวุฒินันท์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า พันธกิจของ TMEC หากถอดจากวิสัยทัศน์ จะสามารถแบ่งเป็น 3 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้
- B2B: สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้เวเฟอร์ (Wafer) หรือซิลิกอนเวเฟอร์ ส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า โดยไม่ต้องดำเนินการส่วนอื่นเพิ่มเติม
- B2C: สนับสนุนการพัฒนาความสามารถของคนในประเทศ เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ (product) ที่มีห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในส่วนประกอบต่างๆ ที่หลากหลายและยาวขึ้น ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ และยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและกระจายรายได้จากการผลิตหรือดำเนินการในส่วนประกอบต่างๆ ที่เพิ่มเติมได้อีกด้วยซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ของเซนเซอร์ (Sensors) ขั้นสูงและอุปกรณ์เมมส์ (MEMS) และพันธกิจต้องมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้
- ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการสร้างและพัฒนาทรัพยากรบุคคล หรือ Human Resource Development (HRD) มาใช้ สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยต่างๆ และแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ ของ TMEC ให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้าถึงและใช้ร่วมกันได้ เพราะ TMEC เป็น National Infrastructure
ความรู้ความเชี่ยวชาญของ TMEC
TMEC มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเวเฟอร์และชิปวงจรรวม รวมถึงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เซนเซอร์ ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความสามารถในการใช้งานในหลากหลายสาขา เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ทั้ง B2B และ B2C เพื่อขยายโอกาสในการเติบโตและสร้างรายได้ ซึ่งสามารถแบ่งความรู้ความเชี่ยวชาญได้ ดังนี้
- กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
- กระบวนการผลิตเซนเซอร์ด้วยเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์
- ระบบเครื่องกลไฟฟ้าขนาดจุลภาค หรือเมมส์
- เทคโนโลยีฐาน Ion-Sensitive Field Effect Transistor หรือ ISFET
- กระบวนการออกแบบ การสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ กระบวนการสร้างแม่แบบซิลิกอน และลอกแบบลวดลายจุลภาคด้วยเทคนิคซอล์ฟลิโธรกราฟี เพื่อสร้างนวัตกรรมบนพื้นผิววัสดุ
- อุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิก (Micro-fluidics) รวมถึงห้องปฏิบัติการย่อส่วนบนชิปและบนแผ่นดิสก์
- การสร้างพื้นผิวน้ำและน้ำมันไม่เกาะแบบยิ่งยวด เพื่อให้เกิดคุณสมบัติป้องกันการเกาะของสิ่งมีชีวิตบนพื้นผิววัสดุ สำหรับการใช้งานในสภาวะแวดล้อมต่างๆ
ทั้งนี้ ความรู้ความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเวเฟอร์และชิปวงจรรวม ซึ่งเป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ต้องอาศัยการประมวลผลของชิป และต่อยอดพัฒนาเป็นเซนเซอร์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจวัดข้อมูลทางกายภาพ เช่น เสียง แสง ภาพ และการสัมผัส ที่เป็นการตอบสนองการทำงานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง
หลักแนวทางในการทำงาน และเคล็ดลับในการทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จ
หลักในการทำงานเคล็ดลับทำงานวิจัยให้ประสบผลสำเร็จ อย่างแรกต้องเข้าใจว่าปัญหาของประเทศไทยคืออะไร ซึ่งระบบนิเวศรองรับงานวิจัยและอุตสาหกรรมในประเทศไทยไม่เอื้ออำนวยและไม่สอดคล้องกับงานวิจัย ทั้งยังขาดความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม ทำให้นักวิจัยที่สำเร็จการศึกษากลับมาประเทศไทย ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในประเทศ เพราะส่วนใหญ่งานวิจัยในประเทศจะมุ่งเน้นด้านการเกษตร ดังนั้น นักวิจัยจำเป็นต้องเข้าใจปัญหา และเลือกแนวทางการวิจัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบ B2B (ธุรกิจกับธุรกิจ) และ B2C (ธุรกิจกับผู้บริโภค) ซึ่งหากเราเข้าใจและมองภาพออกว่า เราจะทำอย่างไรให้งานวิจัยนั้นตอบโจทย์และมีประโยชน์ รวมถึงใครคือกลุ่มเป้าหมายในประเทศและต่างประเทศ ทั้ง value chain จนถึง end user หรือ customer จึงจะช่วยให้การทำงานวิจัยประสบความสำเร็จ ดังนั้น จากที่กล่าวมาเราควรพิจารณาใน 5 มิติ ดังนี้
- การส่งมอบงาน
- ระยะเวลาในการพัฒนา
- ต้นทุนในการลงทุนในด้านต่างๆ
- ตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- พันธมิตร (Partner) หรือผู้เล่น (Player) ในระบบนิเวศของงานวิจัยนั้นๆ
ดังนั้น หากเราฝืนนำงานวิจัยที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย มาขับเคลื่อนภายในประเทศ โดยที่ระบบนิเวศรองรับงานวิจัยและอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับงานวิจัยเหล่านั้นไม่เอื้ออำนวย ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้แรงในการขับเคลื่อนและผลักดันสูง ผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ นักวิจัยต้องฝืนทำงานวิจัยที่ไม่ถนัดและไม่ใช่ความรู้ความเชี่ยวชาญจากที่สำเร็จการศึกษามาอีกด้วย
กระบวนการในการสร้าง และการทำงานเป็นทีม ตลอดทั้งการบริหารทีม
การทำงานร่วมกันในองค์กรให้ได้ผลดีนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างความร่วมมือที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่สำคัญคือการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางที่ทุกคนในทีมสามารถยึดถือและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจน
การเริ่มต้นด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจเป็นการวางรากฐานสำคัญในการทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของบริษัทที่มีการผลิตเซนเซอร์เพื่อส่งมอบให้ลูกค้า ทีมงานต้องมีความเข้าใจว่าลูกค้าของบริษัทคือใคร (เช่น ลูกค้ากลุ่ม B2B หรือ B2C) และต้องพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าเหล่านั้น
- การแบ่งทีมตามเป้าหมาย
หลังจากมีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจนแล้ว การแบ่งทีมตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะทำให้ทีมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่แต่ละทีมจะมีบทบาทหน้าที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น ทีม B2B ที่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าองค์กร และทีม B2C ที่เน้นการทำงานเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคทั่วไป
- การสอนและการฝึกอบรม
การฝึกอบรมและการสอนในองค์กรเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทีมเข้าใจในเป้าหมายและรายละเอียดของการทำงาน การสอนเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมาย (IADP) และการประเมินผลการทำงานจะช่วยให้สมาชิกในทีมเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเองมากขึ้น รวมถึงสามารถรับผิดชอบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การตรวจสอบและการประเมินผล
การประเมินผลการทำงานเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถมองเห็นภาพรวมของการทำงานของทีมได้ชัดเจนขึ้น การตรวจสอบการตั้งเป้าหมายและการทำงานตามแผนที่วางไว้จะทำให้สามารถระบุปัญหาและปรับปรุงกระบวนการทำงานได้ทันเวลา
- ความเข้าใจและการสื่อสารที่ชัดเจน
การสื่อสารในทีมเป็นสิ่งที่สำคัญ หากทีมไม่เข้าใจวิธีการทำงานหรือเป้าหมายขององค์กร ความร่วมมือในการทำงานก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ การสื่อสารที่ชัดเจนและการทำความเข้าใจรายละเอียดของงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ทุกคนในทีมมีความเข้าใจที่ตรงกันและสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
การสร้างความร่วมมือในการทำงานวิจัยให้สำเร็จต้องอาศัยวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจน การแบ่งทีมตามหน้าที่และเป้าหมาย การดูแลและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง การประเมินและปรับปรุงการทำงาน และการสื่อสารภายในทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกส่วนนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงานร่วมกันภายในองค์กรได้อย่างยั่งยืน
ความท้าทาย และแนวทางการดำเนินงาน
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเทคโนโลยี จึงทำให้การดำเนินงานในองค์กรในยุคปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย ซึ่งแนวทางการดำเนินงานที่สามารถช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวและเติบโตไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง มีดังนี้
- วิสัยทัศน์และพันธกิจที่เป็น Dynamic
การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนั้น จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ การตั้งวิสัยทัศน์ที่มีความยืดหยุ่นและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิสัยทัศน์ในวันนี้อาจกลายเป็นพันธกิจที่สำเร็จในอนาคต ดังนั้น วิสัยทัศน์และพันธกิจจึงไม่ควรหยุดอยู่แค่การทำให้สำเร็จในระดับหนึ่งแล้วสิ้นสุด แต่ควรมีการมองไปข้างหน้าอยู่เสมอ และจะเป็นตัวนำทางให้กับองค์กรและบุคลากรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคต
- การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม
การทำงานในทีมเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินงานในองค์กร โดยเฉพาะเมื่อองค์กรต้องทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอนของโปรเจกต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น B2B หรือ B2C ความสำเร็จของโปรเจกต์ขึ้นอยู่กับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างสมาชิกในทีม เช่น ในองค์กร TMEC ที่เน้นการทำงานเป็นทีมเวิร์คเป็นหลัก การสื่อสารระหว่างทีมงานจึงเป็นไปได้อย่างราบรื่น เนื่องจากทุกคนเข้าใจว่า ผลของการทำงานของตนเองจะส่งผลต่อทีมงานคนอื่นๆ ดังนั้นการแบ่งทีมตามความถนัดและการสร้างความเข้าใจร่วมกันผ่านการสื่อสารที่ดี จึงทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การใช้เครื่องมือในการทำงานและการประเมินผล
เครื่องมือในการทำงาน เช่น การตั้งเป้าหมาย (IADP) และการประเมินผล มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานในองค์กร อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอยู่ที่การใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่เพียงแค่การมีเครื่องมือเท่านั้น แต่ต้องมีการสื่อสารและข้อตกลงที่ชัดเจนว่าจะใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างไร เช่น การตั้ง IADP ในองค์กร หากมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและเหมาะสมนั้น จะช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ ทำให้การประเมินผลสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- การปรับตัวต่อสถานการณ์
การเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในองค์กร ความท้าทายที่เกิดขึ้นไม่เป็นเพียงอุปสรรคทำให้การทำงานรยากขึ้น แต่ก็ยังเป็นโอกาสให้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงวิธีการทำงาน การปรับตัวอย่างยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และการใช้ประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน จะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาตนเอง และเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ความท้าทายในการดำเนินงานในองค์กรไม่ได้เป็นเพียงอุปสรรค แต่ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาและเติบโต การมีวิสัยทัศน์ที่ยืดหยุ่น การสื่อสารที่ชัดเจน การใช้เครื่องมือในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง จะช่วยให้องค์กรสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายและก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
แนวทาง/วิธีการส่งต่อ (transfer) หรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ทีมงาน
การเตรียมการสำหรับการเกษียณอายุและสร้างความยั่งยืนในองค์กรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งแนวทาง/วิธีการส่งต่อ (transfer) หรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ทีมงานคือ การแชร์ทรัพยากรและความรู้ เพื่อให้สามารถเข้าถึง แลกเปลี่ยน และเรียนรู้จากการทำงานจริงได้ เพื่อการพัฒนาบุคลากรและสร้างความยั่งยืนในองค์กร
บทบาทเทคโนโลยีด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในวันนี้และในอนาคต
ในอดีตตั้งแต่คอมพิวเตอร์ตัวแรกที่เราใช้งาน ขณะนั้นยังไม่จำเป็นต้องมีสมรรถนะสูงในการใช้งานทั่วไป แต่ปัจจุบันนี้ความสามารถของเทคโนโลยีด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ได้เติบโตขึ้น และเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตในหลายๆ ด้านจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าอนาคตของเทคโนโลยีอาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถเข้ามาแทนที่ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ได้ แม้จะมีการพูดถึง Quantum Computing ที่อาจเข้ามาตอบโจทย์บางส่วนของระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังไม่สามารถทดแทนเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยสมบูรณ์ ดังนั้น เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต และจะเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนสังคมในทศวรรษต่อไป
ปัญหา อุปสรรค และความท้าทายในการบริหารงานและการปฏิบัติงาน และมีแนวทาง/วิธีการรับมือหรือการแก้ไข
การบริหารงานและการปฏิบัติงานของ TMEC มักเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารทรัพยากร การปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์ หรือการกำหนดทิศทางขององค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทาง/วิธีการรับมือหรือการแก้ไข ดังนี้
- ปัญหาในการบริหารทรัพยากรและเครื่องมืออุปกรณ์
หนึ่งในปัญหาหลักที่ TMEC เผชิญคือเรื่องของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินงาน หลายเครื่องมือที่ TMEC ใช้งานอยู่ถูกลงทุนตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และแม้จะมีการซื้อเครื่องมือใหม่ในบางครั้งเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการทำงาน แต่เครื่องมือที่ใช้อยู่ส่วนใหญ่กลับไม่ได้รับการอัปเกรดหรือเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมตามความต้องการของอุตสาหกรรม การขาดการดูแลและการลงทุนที่ต่อเนื่องทำให้ TMEC ต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
แนวทางแก้ไข: การวางแผนและจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีการประเมินความต้องการในการปรับปรุงหรืออัปเกรดเครื่องมืออย่างสม่ำเสมอ และควรจัดสรรงบประมาณในการลงทุนเพื่อพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การสร้างพันธมิตรกับภาคอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมลงทุนหรือพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน อาจเป็นทางเลือกที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
- การกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์ขององค์กร
การกำหนดวิสัยทัศน์ (vision) และพันธกิจ (mission) ที่ชัดเจนเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้อง หากองค์กรมีวิสัยทัศน์ที่ไม่ชัดเจนหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของอุตสาหกรรม อาจนำไปสู่การกำหนดทิศทางที่ผิดพลาดและสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์
แนวทางแก้ไข: การกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรควรมีการปรึกษาหารือและร่วมกันพิจารณาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นพ้องกันในทิศทางที่องค์กรควรเดินหน้า วิสัยทัศน์ที่ดีควรเป็นสิ่งที่ท้าทายแต่ยังคงอยู่ในขอบเขตที่สามารถทำได้ และควรได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เมื่อวิสัยทัศน์มีความชัดเจน การกำหนดพันธกิจและแผนปฏิบัติการ (IADP) ก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกัน
การทำงานร่วมกัน ถือเป็นความท้าทายในการบริหารงานและการปฏิบัติ ซึ่งลักษณะการทำงานของ TMEC เป็นการทำงานที่ต้องพึ่งพาการทำงานเป็นทีม ดังนั้น การสื่อสารและการส่งต่อข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้งานสำเร็จได้อย่างราบรื่น แต่ความท้าทายในการทำงานร่วมกันยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อทุกคนในองค์กรต้องเข้าใจและยอมรับในแนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นความร่วมมือ สนับสนุนซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ควรมีการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทีมงานสามารถปรับตัวและรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานวิจัย และแนวทางการบริหารทรัพยากรดังกล่าว
การบริหารทรัพยากรที่สำคัญในการดำเนินงานวิจัยเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กร มีดังนี้
- คน เพราะทรัพยากรบุคคลถือเป็นหัวใจสำคัญของการวิจัย บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ จะเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาไปข้างหน้าได้
- เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำและประสิทธิภาพสูง เครื่องจักรที่ทันสมัย มีความสามารถสูงเหมาะสมกับงานวิจัย และสามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ
- เงิน เงินทุนเป็นปัจจัยที่ทำให้การวิจัยสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การสนับสนุนทางการเงินจะช่วยในการพัฒนาบุคลากรและจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จำเป็นตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรม
การบริหารทรัพยากรที่สำคัญในการดำเนินงานวิจัยเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กร การพัฒนาบุคลากร การจัดการเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการบริหารการสนับสนุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
กลยุทธ์การดึงดูดภาคเอกชนเข้ามาใช้ผลงานวิจัย และการถ่ายทอดผลงานออกสู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม
ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม การดึงดูดภาคเอกชนเข้ามาใช้ผลงานวิจัย และการถ่ายทอดผลงานออกสู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้การวิจัยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศได้นั้น มีแนวทางดังนี้
- การเข้าใจตลาดเป้าหมาย
กลยุทธ์เริ่มต้นในการดึงดูดภาคเอกชนคือ การทำความเข้าใจตลาดเป้าหมายอย่างชัดเจน ต้องศึกษาความต้องการของตลาดต่างประเทศ และประเมินว่าความสามารถขององค์กรสามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้หรือไม่ และมุ่งเป้าไปยังตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพและความต้องการสูงกว่า โดยวิเคราะห์ความสามารถ พิจารณาความสามารถของทีมวิจัยและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเลือกโครงการวิจัยที่มีโอกาสสูงในการดึงดูดลูกค้าต่างชาติ
- การสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ
สร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เป็นอีกกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยในการถ่ายทอดผลงานวิจัยไปยังภาคเอกชน การทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีศักยภาพสูงจะช่วยให้สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
- การตอบสนองความต้องการของตลาด
การพัฒนาผลงานวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยให้การนำเสนอผลงานวิจัยไปยังภาคเอกชนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นตรงกับสิ่งที่ตลาดต้องการ จะเพิ่มโอกาสในการยอมรับและใช้งานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาแบบบีทูบี (B2B) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบให้กับบริษัทอื่นๆ ที่ผลิตสินค้าสำเร็จรูป
การดึงดูดภาคเอกชนเข้ามาใช้ผลงานวิจัย และการถ่ายทอดผลงานออกสู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การเข้าใจตลาดเป้าหมาย สร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงจะสามารถดึงดูดภาคเอกชนให้เข้ามาใช้ผลงานวิจัยของเรา
แนวทางการส่งเสริมงานวิจัยไปใช้จริง และการต่อยอดผลงานวิจัยในอนาคต
สำหรับแนวทางการส่งเสริมงานวิจัยไปใช้จริง และการต่อยอดผลงานวิจัยในอนาคตนั้น เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีในอนาคต สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมีการใช้งานเทคโนโลยีด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์อย่างมาก AI ต้องการการประมวลผลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะการใช้หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ที่มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้ในเวลาอันสั้น งบประมาณในการพัฒนาและใช้งาน AI นั้นเป็นปริมาณมหาศาล ดังที่เห็นได้จากการลงทุนในการพัฒนาระบบ AI ที่ใช้เงินนับล้านล้านบาท
ในอนาคต เราจะเห็นการต่อยอดผลงานวิจัยด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีที่ไร้คนขับ ระบบอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยเซนเซอร์และระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและชีวิตประจำวันของเรา แบบเดียวกับที่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถขาดได้เช่นกัน