ทีเมคเปิดบ้าน พาคณะ รมว.วท. พร้อมสื่อมวลชน เยี่ยมชมแล็บคลีนรูม พร้อมโชว์ผลงานเด่น ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดด้านการเกษตร ชูเครื่องตรวจวัดความชื้นในข้าวเปลือก ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวได้ นักวิจัยเผยถูกกว่านำเข้า 50%
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.51 ที่ผ่านมานายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร้อมด้วยคณะที่ปรึกษา เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC-ทีเมค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีคณะสื่อมวลชนรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ร่วมเด้นทางไปด้วย
ผลงานเด่นที่ทีเมคนำมาจัดแสดงล้วนเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเกษตร เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพน้ำในบ่อกุ้ง และอุปกรณ์ตรวจวัดความชื้นของข้าวเปลือกในไซโลอบข้าว
ทีเมคเป็นอีกหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. โดยมุ่งเน้นศึกษาวิจัยทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาให้เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ให้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจากปลายน้ำให้สามารถแข่งขันได้ด้วยเทคโนโลยีต้นน้ำ
สถานการณ์ราคาข้าวในปัจจุบันทำให้ทีเมคไม่รอช้าที่จะพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบความชื้นในข้าวเปลือก ซึ่ง ดร.อัมพร โพธิ์ใย ผอ.ทีเมค ให้ข้อมูลว่าความชื้นเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อราคาซื้อขายข้าวเปลือก
“ก่อนจะสีข้าวเปลือกจะต้องอบให้แห้งพอเหมาะ เพราะถ้าแห้งมากไปก็จะสิ้นเปลืองพลังงาน เมื่อนำไปสีจะทำให้เมล็ดข้าวแตก แต่ถ้าอบไม่แห้งก็จะและเป็นแป้ง หากควบคุมความชื้นขณะอบให้เหมาะสมได้ก็จะช่วยให้ได้ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพดี ขายได้ในราคาสูง ซึ่งทีเมคก็ได้พัฒนาหัววัดความชื้นในไซโลอบข้าว (ตู้อบข้าว) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว” ดร.อัมพร เผย
ด้านนายสุรพันธ์ ทองรังสี นักวิจัยของทีเมคเผยว่า ใช้เวลาพัฒนาเครื่องวัดความชื้นดังกล่าวมาแล้ว 6 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างจดสิทธิบัตร และทดสอบประสิทธิภาพร่วมกับเอกชนรายหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเครื่องวัดความชื้นจะมีหัวเซนเซอร์ที่วัดความชื้นในข้าวเปลือกแล้วบ่งบอกเป็นสัญญาณความถี่ดิจิทัล ซึ่งหากมีความถี่น้อยแสดงว่ามีความชื้นมาก หากความถี่มากแสดงว่าความชื้นน้อย และสามารถใช้เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกในขณะอบก็ได้ โดยติดตั้งหัววัดความชื้นไว้กับผนังของไซโล เพื่อควบคุมให้มีความชื้นที่พอเหมาะและเป็นที่ยอมรับของตลาดคือประมาณ 13.72%RH หรืออยู่ระหว่าง 12-15%RH
อย่างไรก็ดี เครื่องวัดความชื้นนี้มีความแม่นยำอยู่ที่บวกลบ 5% ซึ่งนักวิจัยยังต้องปรับปรุงให้แม่นยำมากขึ้นโดยผิดพลาดได้ไม่เกิดบวกลบ 1% จึงจะสามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งนักวิจัยบอกว่าต้นทุนการผลิตเครื่องวัดความชื้นนี้มีราคาถูกกว่าเครื่องวัดความชื้นที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงครึ่งหนึ่ง และในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถตรวจวัดความชื้นได้กับผลิตผลทางการเกษตรจำพวกเมล็ดทุกชนิด เพราะขณะนี้สามารถวัดได้ในข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ผลงานที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือเครื่องวัดคุณภาพน้ำในบ่อกุ้งที่สามารถวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือพีเอช (pH) ในบ่อเลี้ยงกุ้งด้วยหัววัดแบบเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความแม่นยำสูงและตอบสนองได้เร็ว และสามารถผลิตได้ในราคาถูก มีความทนทานและการเก็บรักษาก็ไม่ยุ่งยากเหมือนกับหัววัดพีเอชแบบแก้วที่ใช้อยู่ทั่วไป
ทีเมคยังพัฒนาเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิในการเพาะเห็ดที่ตอบสนองได้ในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ -50 ถึง 150 องศาเซลเซียส โดยในกระบวนการเพาะพันธุ์เห็ดชนิดต่างๆ ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเห็ดชนิดนั้น เห็ดจึงจะออกดอกและให้ผลผลิตมากตามต้องการ ซึ่งการรู้ระดับอุณหภูมิจะทำให้ผู้เพาะเห็ดทราบว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถควบคุมให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมได้ต่อไป
นอกจากระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดข้างต้นแล้ว ดร.อัมพร เผยว่าทีเมคยังมุ่งวิจัยและพัฒนาไมโครอิเล็กทรอนิกส์อีกมากมาย และเทคโนโลยีระบบเซนเซอร์ตรวจวัดทางด้านอาหารและการแพทย์อีกด้วย และที่สำคัญยังส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในประเทศทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ การออกแบบวงจรรวม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่ง ผอ.ทีเมคก็นำคณะของรัฐมนตรีพร้อมสื่อมวลชนเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นห้องคลีนรูมทั้งสิ้น
เมื่อเห็นป้ายแสดงว่าห้ามถ่ายรูปติดอยู่ที่ส่วนหน้าสุดของทางเข้าสู่ห้องปฏิบัติการต่าง ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงถามและขออนุญาตเจ้าหน้าที่ที่นำชม ซึ่งก็ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปได้ แต่ห้ามใช้แฟลช ก็ยิ่งทวีความสงสัยมากขึ้น และขอคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ ซึ่ง น.ส.ภาวดี มีสรรพวงศ์ ผู้ช่วยนักวิจัยของทีเมค บอกว่า แสงแฟลชจากกล้องอาจไปรบกวนขั้นตอนการทำงานในห้องแล็บบางห้องที่จำเป็นต้องควบคุมความยาวคลื่นแสงให้เหมาะสม
“การถ่ายแบบวงจรรวมลงบนแผ่นเวเฟอร์ (Wafer) จะต้องให้แสงที่มีความยาวคลื่นเฉพาะทำปฏิกิริยากับสิ่งที่เราจะถ่าย ซึ่งวิธีการจะคล้ายกับขั้นตอนการล้างฟิล์มถ่ายภาพ จึงต้องทำอยู่ภายในห้องมืดหรือที่ไม่มีแสงที่ความยาวคลื่นอื่นๆ มารบกวน ซึ่งในห้องแล็บถ่ายแบบวงจรรวมจะใช้แสงสีเหลือง เนื่องจากมีความยาวคลื่นสูงเกินกว่าความยาวคลื่นแสงที่นักวิจัยต้องใช้ จึงไม่ไปมีผลรบกวนการทำปฏิกิริยาดังกล่าว แต่แสงขาวเป็นแสงที่รวมเอาแสงที่ความยาวคลื่นแสงต่างๆ ไว้ด้วยกัน จึงอาจไปรบกวนขั้นตอนการถ่ายแบบวงจรได้” น.ส.ภาวดีอธิบาย
ส่วนเหตุที่ต้องอยู่ในห้องคลีนรูมนั้นผู้ช่วยนักวิจัยคนเดิมบอกว่า เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำนั้นมีขนาดเล็กมากในระดับไมโครหรือนาโน แต่ฝุ่นละอองทั่วไปมีขนาดใหญ่กว่านั้น ซึ่งหากตกกระทบหรือปนเปื้อนลงบนแผ่นเวเฟอร์หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ก็จะไปขวางทางเดินของกระแสอิเล็กทรอนิกส์ในวงจรนั้นได้.
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง (ที่ 2 จากซ้าย) ขณะกำลังดูอุปกรณ์ตรวจวัดความชื้นข้าวเปลือกที่ทีเมคพัฒนาให้สามารถใช้ได้แม้ในขณะอบข้าว (ภาพจาก สวทช.)
https://mgronline.com/science/detail/9510000066519