อยู่ดีมีแฮง..ม่วนหลายกับท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลฆ้องชัยพัฒนา

“ฉันมีโอกาสได้ไปทำงานและรับบทเป็นนักท่องเที่ยว ไปเที่ยวชุมชนแห่งนี้พร้อมๆ กับพี่ๆ นักท่องเที่ยว 16 คน จากบ้านรวมไทย อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงวันที่ 25-27 มกราคม 2566 นี่เป็นครั้งแรกที่ชุมชนเปิดรับนักท่องเที่ยว ทดลองจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อเรียนรู้และพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร-สุขภาพได้เต็มรูปแบบต่อไป …จากที่ฉันได้ไปสัมผัสก็บอกได้ทันทีว่าชุมชนฆ้องชัยแห่งนี้ “มีอะไรดี…”

หากอยากปลดปล่อยความเหนื่อยล้าจากการงาน พักสายตากับทุ่งนาเขียวขจี อิ่มหนำกับเมนูอาหารพื้นถิ่นจากแปลงเกษตรอินทรีย์ อิ่มเอมใจกับรอยยิ้มและมิตรภาพของผู้คนแล้วล่ะก็ อยากให้ได้ลองมาสัมผัสบรรยากาศของที่แห่งนี้ “ชุมชนตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์”

อากาศดี
“โฮมสเตย์กำนันแดง”
 ตั้งอยู่กลางทุ่งนาเขียวขจี สายหมอกจางๆ ต้องแสงแดดอ่อนยามเช้ารับกับเสียงไก่ขัน ปลุกความสดชื่นให้นักท่องเที่ยวได้สูดรับอากาศบริสุทธิ์เต็มอิ่ม บ้านไม้ชั้นเดียวร่มรื่นด้วยต้นไม้รอบบ้าน ชวนให้ลงเดินเล่นที่นี่ยังเป็นแหล่งเลี้ยงและอนุรักษ์ควายไทย 14 ตัว น้องควายทำหน้าที่เจ้าบ้านต้อนรับแขก ร่วมเฟรมเซลฟี่กับนักท่องเที่ยวอย่างไม่อิดออด หลังเดินเล่นดื่มด่ำบรรยากาศยามเช้าที่สดใส ก็ได้เวลาอาหารเช้ามื้อแรก ชุมชนได้จัดเตรียมอาหารหลากหลายเมนู มี “ข้าวผัดห่อใบบัว” เป็นเมนูจานเด่นที่ต้องยกนิ้วให้

วัฒนธรรมประเพณีที่ดี
หลังเติมพลังมื้อเช้า ไกด์ชุมชนได้นำนักท่องเที่ยวไปจุดแลนด์มาร์คของพื้นที่ นั่นคือ “ฆ้องชัยมหามงคล” ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย เป็นฆ้องเหล็กขนาดใหญ่ สูงราว 10 เมตร สร้างขึ้นจากความศรัทธาของชุมชนและเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่มีตำนานเล่าขานมาช้านาน…. ช่วงเวลาใกล้รุ่งสาง ตีสามตี่สี่จะมีเสียงฆ้องใหญ่ดังกังวานมาจากแหล่งน้ำกุดฆ้องบึงขยอง คล้ายกับพระตีระฆัง เพื่อเป็นสิริมงคล จึงเป็นที่มาของชื่อ “ฆ้องชัย”

อาหารดีๆ
หลังจากสนุกสนานกับกิจกรรมในช่วงเช้า พวกเราได้เดินทางไป “สวนจิราภาออร์แกนิค” สวนผสมผสานที่ผลิตพืชผัก ผลไม้และนาข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตและเรียนรู้การใช้สารชีวภัณฑ์ การเลี้ยงผึ้งและชันโรงช่วยผสมเกสร สร้างผลผลิตคุณภาพโดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทั้งจาก สวทช. และหน่วยงานอื่นๆ พี่ๆ ในเครือข่ายสวนจิราภาฯ ต้อนรับพวกเราด้วยเมนูอาหารกลางวันที่ปรุงจากวัตถุดิบในพื้นที่ อาทิ หอยนาซีฟู้ด ลาบหอยนา แกงเปรอะหน่อไม้ น้ำพริก ส้มตำ เคียงด้วยผักสลัดอินทรีย์สดและกรอบจากสวน เสริมด้วยเมนูผักดองพื้นบ้านแบบอีสานและกิมจิ เมนูประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผักพื้นบ้าน สร้างความประทับใจและอิ่มท้องให้พวกเราอย่างมาก และเมื่อหนังท้องตึง หนังตาเริ่มหย่อน ทางชุมชนไม่รอช้า ชวนพาทำกิจกรรมสลัดความง่วง ทั้งลงมือปรุงกิมจิผักพื้นบ้าน เรียนรู้การสาธิตทอเสื่อกกจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ลงสวนชมแปลงผัก ผลไม้ แวะทำความรู้จักรังผึ้งและชันโรง ก่อนที่จะไปสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจกับกิจกรรมนั่งรถซาเล้งชมวิถีท้องถิ่นรอบชุมชน

ระบบนิเวศที่ดี
รถซาเล้งออกสตาร์ทจากสวนจิราภาออร์แกนิค วิ่งลัดเลาะไปตามถนนในชุมชน ผ่านบ้านเรือนที่ปลูกเรียงรายเป็นระยะๆรถวิ่งห่างออกมาไม่ไกล พวกเราสัมผัสได้ถึงกลิ่นไอดิน กลิ่นหอมอ่อนๆ จากต้นข้าว และภาพท้องทุ่งนาเขียวขจี คณะซาเล้งแวะพักริมนา ชมบรรยากาศนาปรัง กลุ่มนกที่กำลังจับปู ปลา หอยในแปลงเป็นอาหาร ซึ่ง ผศ.จิตศักดิ์ พุฒิจร ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และร่วมทริปท่องเที่ยวในครั้งนี้ ใช้กล้องส่องนกสำรวจชนิดนก พบว่ามีมากกว่า 10 ชนิด ที่ควรอนุรักษ์ไว้คู่กับระบบนิเวศของชุมชน เช่น นกเป็ดผี นกปากห่าง นกกระยางนา นกตะขาบทุ่ง นกกระสา ฯลฯ

ต้นแบบสวนเกษตรอินทรีย์ที่ดี
เริ่มต้นเช้าวันใหม่กับอากาศที่เย็นสบาย พร้อมมื้ออาหารเช้าและกิจกรรมสนุกๆ ที่ “สวนปันบุญ” สวนผักอินทรีย์ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาหนุนเสริมการผลิตผักให้ได้คุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับของตลาด

กิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน “อยู่ดีมีแฮง..ม่วนหลายกับท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลฆ้องชัยพัฒนา” เป็นกิจกรรมนำร่องที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ขยายผลการทำงานจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรให้วิสาหกิจชุมชนปันบุญสู่การทำงานในเชิงพื้นที่ตำบลฆ้องชัยพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ภายใต้โครงการ “การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในชุมชนต้นแบบ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปี 2565-2566”

ที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.nstda.or.th/agritec/tourism-kongchai/