ผลงาน Traffy City Platform แพลตฟอร์มการบริหารจัดการเมืองด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล (แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue และระบบ Traffy Waste) นำโดย ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) และทีมงาน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. คว้ารางวัล Creator Awards ประจำปี 2020 ด้านสังคม ในการประกาศผล และพิธีมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย” ซึ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 ณ ภิรัช ฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue และ ระบบ Traffy Waste เป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในกลุ่ม Traffy City Platform ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ซึ่งจุดเด่นของเทคโนโลยีอยู่ที่การเพิ่มความเป็นอัจฉริยะหรือความสมาร์ทให้กับเมืองโดยเชื่อมสิ่งที่ประชาชนพบเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรปรับปรุงนำส่งไปให้ถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถเข้าใจความต้องการและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นการพัฒนาเมืองด้วยความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายที่เข้าถึงง่ายไม่ซับซ้อน ตอบสนองจุดที่เป็นปัญหาและสร้างความยุ่งยาก (Pain Point) ของประชาชนผู้อยู่อาศัย พนักงานผู้ดูแล และผู้บริหารได้เป็นอย่างดี
รางวัล “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards (เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์)” ถือได้ว่าเป็นผลงานสำคัญที่เกิดขึ้น จาก “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือที่เกิดขึ้นในปี 2556 ทั้ง 6 องค์กรที่ร่วมลงนามความร่วมมือ ได้แก่
- สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.)
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (CPALL)
เพิ่มเติมอีก 5 องค์กร ในปี พ.ศ. 2557 ได้แก่
- สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.วท.)
- หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (TCC&BoT)
- สมาคมธนาคารไทย (TBA)
- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
- สมาคมหน่วย บ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA)
รวมเป็น 11 องค์กร ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำผลงานวิจัยที่มีอยู่ในแต่ละองค์กรและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการ SMEs มีอยู่ มาทำการทดสอบหรือทดลองกับกลุ่มลูกค้าหรือผู้บริโภคในตลาดจริง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดการพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลงานนวัตกรรมที่สูงขึ้นในระดับประเทศต่อไป